คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ป่าสงวน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 177 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5804/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไม้หวงห้าม: การจำแนกประเภทไม้และการพิพากษาคดีทำไม้ในเขตป่าสงวน
พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 มิได้กำหนดให้ไม้มะกอกทุกชนิดในป่าเป็นไม้หวงห้าม คงมีลำดับที่ 110 ที่กำหนดให้มะเกิ้ม มะเหลี่ยม มะกอกเหลี่ยม มะจิ้น มะกอกเลือด มะกอกเกลื้อน มะเลื่อมและมะกอกเลื่อม ซึ่งเป็นพรรณไม้สกุล Canarium เท่านั้น เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้มะกอกทั่วไปซึ่งมิใช่พรรณไม้ในสกุลดังกล่าว จึงมิใช่ไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดกรรมเดียวหลายบทเกี่ยวกับเลื่อยโซ่ยนต์, การแปรรูปไม้ และการบุกรุกป่าสงวน ศาลแก้ไขโทษและบทที่ใช้ลงโทษ
ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรมีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเป็นการกระทำเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และการพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากัน แต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 3,030 บาท หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน 12,120 บาท แต่ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า
ความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเวลาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าเป็นการกระทำความผิดฐานใดในวันเวลาใด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในคราวเดียวกัน เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคสอง (1) มิใช่เป็นการกระทำความผิดคนละคราวอันจะเป็นความผิดหลายกรรม ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินและป่าสงวน: ผู้มีสิทธิฟ้องร้องคดีบุกรุก
ส. ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นที่ดินของรัฐสภา ท. ส. จึงมิได้มีสิทธิครอบครองที่ดินที่ซื้อตามกฎหมาย และต่อมาได้มีการกำหนดให้ที่ดินในท้องที่ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4) กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ และมาตรา 36 ทวิ กำหนดว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มา ตาม พ.ร.บ. นี้หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อให้ใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส. จะมีสิทธิเข้าครอบครองได้ก็แต่โดยการได้รับเอกสารสิทธิจาก ส.ป.ก. เมื่อ ส.ป.ก. ยังมิได้อนุญาตให้ ส. เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งหลังจาก ส. ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์แล้วมิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส. จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอย่างใด โดย ส. เพียงแต่อ้างว่าได้ไถปรับที่ดินไว้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี จึงไปดูที่ดินพบว่าจำเลยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว การที่ ส. เพียงแต่ไถปรับที่ดินทิ้งไว้โดยไม่ทำประโยชน์อะไรนานเป็นปี ถือไม่ได้ว่า ส. ได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนในขณะที่จำเลยเข้าไปทำประโยชน์ และที่ดินพิพาทยังคงเป็นของ ส.ป.ก. ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุกตามฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตปฏิรูปที่ดินเพิกถอนสภาพป่าสงวน อำนาจฟ้องสิทธิครอบครอง
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลตามกฎหมายว่าประชาชนได้ทราบพระราชกฤษฎีกา และกรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณพื้นที่พิพาทตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ที่ดินพิพาทจึงไม่มีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4907/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าสงวน การปรับบทลงโทษตามกฎหมายใหม่ และการรอการลงโทษจำคุก
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งตั้งหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวม โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ข้อ 1 เป็นการเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่วนข้อ 2 กำหนดให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน และในข้อ 2.1 ระบุว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงเนื้อหาแล้วคำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว กำหนดวิธีการให้หน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามคำสั่งดังกล่าวถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไม่มีที่ดินทำกินเท่านั้น ที่สำคัญผู้ที่จะได้รับการยกเว้นจะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องอยู่ในที่ดินมาก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ ส่วนผู้ที่บุกรุกใหม่ต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบตามขั้นตอนที่กำหนด โดยเฉพาะข้อ 2.4 ระบุว่า กรณีใด ๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด โดยไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติที่ปกป้องหรือให้ความคุ้มครองแก่บุคคลดังกล่าวข้างต้น และต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ก่อนหรือหลังคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงแต่หากเป็นการบุกรุกก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติดำเนินการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบุคคลบางจำพวกดังกล่าวข้างต้นเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ไม่มีผลเป็นการยกเลิกความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาลบล้างความผิดของจำเลยได้
การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุและยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วย คดีนี้จึงชอบที่ต้องนำพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดซึ่งไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ-ป่าสงวนฯ โจทก์-จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง ศาลยกฟ้อง
ที่ดินพิพาทแปลงที่สามที่โจทก์และจำเลยกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามมาก่อนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ และตามมาตรา 36 ทวิ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่มีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อ ค. กับจำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทเช่นกัน และเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองได้ความว่ามีหลักฐานเป็นเพียงใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน โดยตามสำเนาใบ ภ.บ.ท. 5 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2525 แสดงถึงการเข้าทำประโยชน์ช่วงระยะเวลาหลังจาก ป.ที่ดิน ใช้บังคับแล้ว ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 โจทก์กับ พ. และจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 9 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 108 หรือ 108 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน แล้วแต่กรณี ทั้งที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองยังเป็นป่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง มาตรา 72 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และมาตรา 14 มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ด้วย เมื่อการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และการพิสูจน์สิทธิโดยสุจริต
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่หรือมีสิทธิใดอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่เกิดเหตุ
ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิแก่จำเลยในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการผ่อนผันอยู่ในที่ดินป่าและป่าสงวนแห่งชาติได้ สิทธิของจำเลยพึงมีประการใดจะต้องไปดำเนินการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนั้น หาอาจใช้สิทธิทางศาลได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าสงวนฯ และการพิจารณาคดีแพ่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาย้อนสำนวนเพื่อสอบคำให้การจำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 516,699 บาท แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการชดใช้ค่าเสียหายทรัพยากรธรรมชาติจากป่าสงวน การพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการ
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ส่วนมาตรา 26/5 เป็นบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหาย ตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญาอันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิได้เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาที่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้ตามฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิด เมื่อระหว่างต้นเดือนเมษายน 2559 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2559 อันเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ค่าภาคหลวง 1,505.30 บาท เป็นเงินค่าธรรมเนียมซึ่งผู้ทำไม้หรือเก็บหาของป่าจะต้องเสียตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และค่าเสียหายของรัฐ 15,053 บาท เป็นค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มิใช่ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 พนักงานอัยการจึงเรียกค่าภาคหลวงและค่าเสียหายของรัฐโดยอาศัย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/5 เข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะทำให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปาล์มน้ำมันในป่าสงวน: ผลผลิตเป็นของป่า แม้ปลูกโดยได้รับอนุญาต
แม้ปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตผลปาล์มน้ำมันของกลางจะเกิดจากการเพาะปลูกของบริษัท บ. ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ แต่ต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกบนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่รัฐอนุญาตแล้ว ไม่ปรากฏว่ารัฐหรือบริษัท บ. ได้ดำเนินการให้รื้อถอนต้นปาล์มออกไป แสดงว่าต่างมีความประสงค์ให้ต้นปาล์มน้ำมันเป็นส่วนควบของผืนป่า และเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ผลปาล์มน้ำมันของกลางที่เกิดจากต้นปาล์มน้ำมันนั้น จึงเป็นดอกผลที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ผลปาล์มน้ำมันจึงเป็นของป่า จำเลยเข้าไปเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันของกลาง การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิด อันเป็นความผิดฐานเก็บของป่าตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และผลปาล์มน้ำมันของกลางย่อมเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจึงต้องริบ
of 18