คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ขนส่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18431/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาขนส่งทางทะเล: โจทก์ในฐานะตัวแทนไม่มีสิทธิเรียกร้องโดยตรงจากผู้ขนส่ง
โจทก์เป็นเพียงผู้รับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่บริษัท ว. โดยโจทก์ได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าให้บริษัท ว. จำเลยได้รับขนส่งสินค้าโดยออกใบตราส่งระบุว่าบริษัท ว. เป็นผู้ส่งของบริษัท ม. เป็นผู้รับตราส่ง แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้ขนส่งทำสัญญารับขนของทางทะเลกับบริษัท ว. ผู้ส่งของ โดยโจทก์เป็นตัวแทนเข้าจัดการว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่ง อันเป็นการทำสัญญาในฐานะตัวแทนของบริษัท ว. ผู้เป็นตัวการ บริษัท ว. ในฐานะผู้ส่งของย่อมเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยโดยตรง โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับสินค้า ส่วนตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 28 ที่บัญญัติให้ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งแก่ผู้ขนส่งนั้น หากผู้ขนส่งมอบสินค้าไปโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง แม้จะเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้ขนส่งก็เป็นกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดตามสัญญาขนส่ง เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ส่งของและมิใช่ผู้รับตราส่งหรือผู้มีสิทธิรับสินค้าจากผู้ขนส่ง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาต่อโจทก์ ส่วนกรณีที่หากบริษัท ว. ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับจัดการขนส่งและเป็นตัวแทนตามหลักกฎหมายตัวแทนต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18407/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้าและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 มาตรา 44 และมาตรา 45 นั้น ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหายโดยเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่ของนั้นอยู่ในความดูแลของตน จึงไม่ใช่ต้องรับผิดเพียงเฉพาะมูลค่าสินค้าที่เสียหาย แต่ยังต้องรับผิดถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้รับตราส่งได้รับจากผลแห่งความเสียหายของสินค้าด้วย ค่าภาษีศุลกากรและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์จำเป็นต้องจ่ายในการนำเข้าสินค้า เมื่อสินค้าเสียหายทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ โจทก์ไม่อาจนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคิดเป็นต้นทุนในการขายสินค้าเพื่อให้ได้ทุนคืน และโจทก์เสียโอกาสในการขายให้ได้กำไร ดังนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมทั้งค่าขาดกำไรย่อมเป็นความเสียหายที่เป็นผลจากความเสียหายของสินค้าที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าที่บรรทุกเกินความสามารถของเรือ ทำให้สินค้าเสียหาย ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว สามารถเรียกร้องจากผู้ขนส่งได้
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าซึ่งผู้ขายขอเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้อง การประกันภัยคุ้มครองสินค้าระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้ขายจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี โดยยังไม่ได้อ้างถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าผู้ขายเอาประกันภัยสินค้าไว้เฉพาะช่วงที่ขนส่งจากประเทศอินโดนีเซียมาถึงเกาะสีชังเท่านั้น ไม่ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงช่วงที่ขนส่งจากเกาะสีชังไปยังโรงงานของผู้ซื้อตามที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อและไม่อาจรับช่วงสิทธิจากผู้ซื้อ ข้ออ้างของจำเลยส่วนนี้เป็นไปตามข้อความตามที่ปรากฏในเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้อง ในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบและอ้างส่งกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดอีกฉบับ โดยอ้างว่ากรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารท้ายฟ้องระบุให้เงื่อนไขการประกันภัยเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดดังกล่าวที่โจทก์ไม่ได้อ้างถึงและมิได้ส่งมาท้ายคำฟ้องเพื่อให้จำเลยได้ตรวจสอบก่อนทำคำให้การ ทั้งที่เอกสารดังกล่าวโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นและเป็นเอกสารที่อยู่ในครอบครองของโจทก์ จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงเป็นรายละเอียดที่เพิ่งปรากฏขึ้นในชั้นพิจารณา ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธความคุ้มครองของการประกันภัยสินค้ารายนี้อย่างชัดแจ้งไว้แล้ว และก็ได้ถามค้านเอกสารทั้งสองฉบับในประเด็นนี้ไว้แล้ว อุทธรณ์ส่วนนี้จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยชอบที่จะยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้
แม้การประกันภัยสินค้าตามฟ้องจะมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุว่า บริษัท บ. ผู้ขาย เป็นผู้เอาประกันภัย ระบุชื่อยานพาหนะว่าเรือ อ. ระบุการเดินทางของเรือว่าจากท่าเรือประเทศอินโดนีเซียไปเกาะสีชัง ประเทศไทย และในช่องข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษระบุข้อความว่าเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งหมายถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยทางทะเลแบบเปิด (MARINE CARGO OPEN POLICY) ระหว่างบริษัท ป. ผู้เอาประกันภัย กับโจทก์ผู้รับประกันภัย เห็นได้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ คู่สัญญาในส่วนของผู้เอาประกันภัยเป็นนิติบุคคลต่างรายกันแต่คู่สัญญาในส่วนของผู้รับประกันภัยเป็นนิติบุคคลเดียวกันคือโจทก์ เมื่อสัญญาประกันภัยทางทะเลตามกรมธรรม์ประกันภัย บริษัท บ. ได้ทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายสินค้าถ่านหินระหว่างบริษัท บ. ผู้ขายกับผู้ซื้อ ซึ่งกำหนดให้ผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยให้มีผลคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าระหว่างการขนส่งตั้งแต่ท่าเรือต้นทางที่บรรทุกสินค้าไปจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยยอมรับเงื่อนไขพิเศษตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด ซึ่งโจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับประกันภัยด้วยมาเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษของสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำสัญญารับประกันภัยสินค้าตามฟ้องกับบริษัท บ. ผู้ขาย ตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้บริษัท บ. จะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากบริษัท ป. แต่ก็เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งข้อกำหนดและเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย โดยมีผลให้การคุ้มครองสินค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นการให้ความคุ้มครองตั้งแต่ท่าเรือต้นทางไปจนส่งมอบถึงโรงงานผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรีเมื่อผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยความเสียหายของสินค้าตามสัญญาระหว่างการขนส่ง ผู้ขายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าตามฟ้องตลอดการขนส่งจนกว่าสินค้าจะเดินทางถึงโรงงานของผู้ซื้อ การประกันภัยสินค้าจึงครอบคลุมถึงความเสียหายหรือสูญหายของสินค้า
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคลื่นและลมในท้องทะเลช่วงที่เกิดเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวเรือที่เดินเรือในท้องทะเลบริเวณเกิดเหตุแต่อย่างใด คงเกิดความเสียหายแก่เรือทั้งสองลำดังกล่าวเท่านั้น การที่เรือไทยขนส่ง 46 และเรือไทยขนส่ง 45 มีความสามารถบรรทุกสินค้าได้อย่างปลอดภัยเพียง 590 เมตริกตัน แต่จำเลยจัดสินค้าถ่านหินบรรทุกถึงลำละ 1,300 เมตริกตัน เกินกว่าความสามารถบรรทุกตามที่ได้จดทะเบียนไว้กว่า 2 เท่า ความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย จำเลยเป็นผู้ขนส่งซึ่งได้รับมอบหมายสินค้าตามฟ้องไว้ในความครอบครองดูแลเพื่อการขนส่ง จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3878/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล กรณีสินค้าสูญหายจากการบรรจุตู้คอนเทนเนอร์
ใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.14 นั้น โจทก์เป็นผู้อ้างสำเนาใบตราส่งดังกล่าวเป็นพยานของตน และไม่มีคู่ความโต้แย้งความไม่ถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ว่าเอกสารหมาย จ.14 เป็นเพียงสำเนาศาลไม่ควรรับฟัง
ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 จัดการขนส่งสินค้าทั้ง 5 กล่อง ที่ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อจากบริษัท ด. ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จำเลยที่ 1 มอบหมายจำเลยที่ 2 ติดต่อขอรับสินค้าทั้ง 5 กล่อง จากผู้ขาย โดยจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.12 ระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่ง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 รับขนส่งและออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.13 ให้จำเลยที่ 2 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่จำเลยที่ 3 ไม่มีเรือจึงว่าจ้างให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งเงื่อนไขการส่งแบบ FCL/FCL โดยจำเลยที่ 3 รับตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าตามฟ้องรวมทั้งสินค้าอื่นเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ปิดผนึกตู้และนำตู้ดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.14 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงอยู่ในสถานะเป็นผู้ขนส่งอื่น การที่ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 และ จ.14 ระบุหมายเหตุว่า FREIGHT COLLECT ย่อมหมายความว่า ค่าระวางขนส่งให้เรียกเก็บที่ท่าปลายทางและใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 ที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ผู้ซื้อระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็มีข้อความด้านล่างระบุว่า เฉพาะการติดต่อขอรับสินค้าให้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 และตามข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้าตามฟ้องมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยทราบ ให้ผู้เอาประกันภัยมาติดต่อกับจำเลยที่ 1 และจ่ายค่าระวางเรือให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อจำเลยที่ 4 ให้ออกใบปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับบำเหน็จค่าระวางเรืออันเนื่องมาจากตกลงรับจ้างจัดการขนส่งสินค้าตามฟ้องรวมการขนส่งด้วย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอันมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งประเภทไม่มีเรือเป็นของตนเองทั้งในการตกลงรับสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ก็มิได้แสดงให้ผู้เอาประกันภัยได้ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือผู้ขนส่งรายใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นผู้ขนส่งด้วย
จำเลยที่ 3 รับสินค้าทั้ง 5 กล่อง มาจากจำเลยที่ 2 แล้ว ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.13 และจำเลยที่ 3 มีหน้าที่นำสินค้าทั้ง 5 กล่อง บรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ปิดตู้ผนึกซีลกำกับด้วยหมายเลข นำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 4 บรรทุกขึ้นเรือเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพท่าปลายทาง ไม่ปรากฏมีร่องรอยการเปิดตู้คอนเทนเนอร์มาก่อนหน้านี้ เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์พบว่า สินค้าตามฟ้องมีเพียง 3 กล่อง แสดงว่าสินค้า 2 กล่อง ที่สูญหายไปนั้น มิได้ถูกบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งแต่แรก แสดงว่าสินค้า 2 กล่อง สูญหายไปในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ก็ไม่ได้พยานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดในลักษณะละเลยหรือไม่เอาใจใส่ อาจมีคนร้ายมาลักเอาสินค้า 2 กล่อง ไปก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์ โดยจำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ไม่ทราบก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า ความสูญหายของสินค้าตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะความละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทั้งที่รู้ว่าความสูญหายของสินค้าอาจเกิดขึ้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งมาบังคับแก่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล: สิทธิเรียกร้องจากการประกันภัยและสัญญาขนส่ง
การที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าจากผู้เอาประกันภัยโดยกำหนดทุนประกันภัยไว้สูงกว่าราคาสินค้าโดยรวมเอาค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปอีกร้อยละ 10 รวมเป็นร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น แม้จะเป็นการชอบด้วยหลักการรับประกันภัยทางทะเลซึ่งมีผลให้การคิดค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่ผู้เอาประกันภัยจะคิดจากจำนวนเงินทุนประกันภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แต่กรณีดังกล่าวเป็นการรับประกันภัยและการคิดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น จำเลยมิใช่คู่สัญญาจึงไม่มีความผูกพันหรือความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยเป็นเพียงผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องเท่านั้น ซึ่งหากสินค้าที่ขนส่งเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาขนส่งหรือผู้รับตราส่งหรือผู้ที่มีสิทธิรับสินค้าตามใบตราส่ง อันเป็นความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่างหาก คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างถึงเหตุที่จำเลยต้องรับผิดต่อบริษัท ก. ผู้ซื้อสินค้าและรับสินค้าจากจำเลยผู้ขนส่งเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่ง และบริษัท ก. ได้เอาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ก. ผู้เอาประกันภัยนั้นไป โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของบริษัท ก. มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาขนส่ง โดยจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของหรือสินค้าที่จำเลยได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหายตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และเมื่อเป็นกรณีที่ถือว่าสินค้าตามฟ้องเสียหายโดยสิ้นเชิงทั้งหมดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยสินค้าทั้งหมดมีราคาซีเอฟอาร์ โดยผู้ขายได้คิดค่าขนส่งมายังท่าเรือกรุงเทพรวมเข้าเป็นราคาดังกล่าวไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าความเสียหายของสินค้ามีจำนวนมากที่สุดเพียงเท่านั้น เมื่อหักราคาขายซากสินค้า จึงคงเหลือค่าเสียหายของสินค้าที่แท้จริง ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22785/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนขนส่งทางทะเล: จำเลยในฐานะตัวแทน มิใช่ผู้ขนส่งจริง ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่ง
จำเลยลงชื่อในใบตราส่งไว้ในฐานะตัวแทนเรือ จำเลยรับจองระวางเรือและลงชื่อในใบตราส่งแทนผู้ขนส่งเท่านั้น โดยจำเลยเป็นสำนักงานตัวแทนของผู้ขนส่งในประเทศไทย มีสำนักงานอยู่ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ แม้จำเลยและผู้ขนส่งต่างก็เป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการการขนส่งระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เช่นกัน แต่จำเลยก็มิใช่ผู้ขนส่ง และเมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ขนส่งโดยไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์แทนผู้ขนส่งตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศอันจะทำให้จำเลยต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9450/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด ผู้รับประกันภัยยกเว้นความเสียหายจากการหีบห่อไม่เหมาะสม
คดีเป็นเรื่องการขนส่งสินค้าทางทะเลระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบ FCL/FCL หรือ CY/CY (SOC) โดยผู้ส่งจะเป็นผู้บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์ของตนที่สถานที่ของผู้ส่ง ปิดตู้ผนึกดวงตราแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ส่งจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตู้คอนเทนเนอร์ให้เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า ทั้งยังต้องจัดบรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์อย่างเหมาะสมแก่การขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะกรณีเป็นการขนส่งสินค้าจากท่าเรือผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทางกว่า 6,000 ไมล์ ซึ่งอาจต้องเผชิญกับพายุและคลื่นลมรุนแรงในทะเลอันเป็นภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแก่เรือเดินทะเล
สินค้าพิพาทเป็นลูกกลิ้งทำด้วยเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก มีน้ำหนักมาก โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเชือกไนล่อนรับแรงดึงสูงที่ใช้ผูกรัดสินค้าสามารถรับน้ำหนักได้เท่ากับน้ำหนักของลูกกลิ้งหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่สามารถรับน้ำหนักหรือรับแรงดึงสูงเทียบเท่ากับลวดสลิงหรือโซ่ได้ เมื่อพิจารณาถึงเชือกไนล่อนที่นำมาใช้รัดยึดโยงลูกกลิ้งตามรูปถ่ายแล้ว เชื่อว่าไม่สามารถรัดตรึงลูกกลิ้งดังกล่าวมิให้เคลื่อนไหวได้ เมื่อพบกับสภาพแห่งท้องทะเลที่มีพายุและคลื่นลมที่รุนแรง ส่วนการที่ตู้คอนแทนเนอร์อีกหลายตู้ในเรือไม่ได้รับความเสียหายทั้งที่บรรจุสินค้าลูกกลิ้งลักษณะเดียวกับที่เกิดความเสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าการจัดบรรจุสินค้าพิพาทในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดเหมาะสมแก่สภาพและลักษณะของสินค้าแล้ว นอกจากนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทเป็นตู้ใช้แล้วที่มีการซื้อมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะ และเป็นตู้แบบใช้งานทั่วไป ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับสินค้าซึ่งมีลักษณะพิเศษเช่นสินค้าพิพาท เมื่อพิจารณาถึงลักษณะความเสียหายของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทที่ได้รับความเสียหายพบว่า ตู้ส่วนใหญ่ผนังฉีกขาดทะลุเป็นรู บางตู้พื้นยุบเป็นช่องเนื่องจากถูกลูกกลิ้งที่บรรจุอยู่ภายในหลุดจากตำแหน่งกระแทกและลูกกลิ้งบางลูกทะลุหลุดออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายทั้งหมดมีลักษณะเป็นสนิมอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ฉีดขาดและทะลุเป็นรูได้ง่าย การที่ฝ่ายผู้ส่งของจัดหาตู้คอนเทนเนอร์มาใช้บรรจุสินค้าพิพาทถึง 159 ตู้ โดยการซื้อตู้คอนเทนเนอร์ใช้แล้วมาใช้เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะซึ่งต้องซื้อจากผู้ประกอบกิจการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์หลายราย และการที่ผู้ประกอบกิจการขนส่งจะขายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งตนจำเป็นต้องใช้ในการขนส่งสินค้าประจำในราคาถูกนั้น ย่อมหมายความว่าตู้คอนเทนเนอร์นั้นใช้งานมานานจนใกล้หมดอายุการใช้งานหรือหมดอายุการใช้งานไปแล้ว จึงมีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายมีสภาพเก่า ไม่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะบรรจุสินค้าพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ส่งของที่นำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และไม่เหมาะสมแก่สภาพของสินค้าพิพาทมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท และการบรรจุผูกรัดสินค้าพิพาทภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงแข็งแรงไม่เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าและข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาตัดสินว่าข้อจำกัดความรับผิดที่ตกลงกันได้ไม่ถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ส่งเป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ทำธุรกรรมร่วมกันมาโดยตลอดแม้กระทั่งหลังเกิดเหตุคดีนี้จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขการรับขนสินค้าของจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง ช่องให้สำแดงสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรระบุว่า 7,168.17 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ไม่ระบุจำนวนเงิน ซึ่งหากระบุจำนวนในช่องนี้ก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม แสดงว่าผู้ส่งเจตนาที่จะไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งเพื่อจะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่ม จึงฟังได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 625
สัญญารับขนระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าให้บริการรับขนสินค้าทางอากาศกับผู้ส่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าขายสินค้าเครื่องประดับให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าด้วยกัน แม้ข้อสัญญาในใบรับขนทางอากาศที่จำเลยทำในลักษณะแบบพิมพ์ข้อตกลงสำเร็จรูปโดยให้จำกัดความรับผิดกรณีสินค้าที่รับขนส่งสูญหายหรือเสียหายไว้เพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ซึ่งต่ำกว่าราคาสินค้าของผู้ส่งมากอันทำให้ผู้ส่งต้องรับภาระมากหากสินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายก็ตาม แต่ตามข้อสัญญานี้ก็ให้โอกาสผู้ส่งตกลงให้จำเลยรับผิดสูงขึ้นได้โดยต้องระบุแจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่งให้จำเลยทราบและเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้บังคับให้ผู้ส่งต้องยอมรับจำนวนจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้นั้นโดยเด็ดขาด ขณะที่ผู้ส่งสินค้าก็สามารถเอาประกันภัยได้ กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติได้ ข้อสัญญาจำกัดความรับผิดของจำเลยจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6272/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนทางทะเล: จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนฯ แม้จะจัดการขนส่งให้ผู้ซื้อ
ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นจากการขนส่งทางทะเลจากประเทศอิตาลีมายังประเทศไทย จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 3 ให้คำนิยามไว้ว่า ผู้ขนส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ คดีนี้ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าจำพวกไวน์ 1,200 กล่อง จากผู้ขาย ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลีแล้วผู้ซื้อได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดการขนส่งสินค้าที่สั่งซื้อมาให้ตน โดยผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ส่งของหรือผู้ส่งสินค้า การที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้ารับจัดการขนสินค้าไวน์จากประเทศอิตาลีมาให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญารับขนทางทะเลและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 รับขนสินค้ารายนี้อีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 เพียงแต่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบและผู้ซื้อได้แจ้งไปยังผู้ขายว่าจำเลยที่ 3 จะไปรับขนสินค้าจากผู้ขายบรรทุกลงเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง ประกอบกับใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งแต่อย่างใด ส่วนการที่ผู้ซื้อต้องนำเงินค่าระวางมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 1 จึงออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ ก็เป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางแล้วจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะจากผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ทั้งการที่ข้อเท็จไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าระวางพาหนะให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างไร หรือไม่ ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งที่ได้ประกอบกิจการการร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อจำเลยที่ 3 ให้รับขนส่งสินค้ารายนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าพิพาทไม่ว่าในทางใดอีก จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับจัดการขนส่ง มิใช่ผู้ขนส่งนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4856/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายสินค้าเกิดจากจัดเรียงไม่เหมาะสม ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด
การขนส่งสินค้าพิพาทนี้เป็นการขนส่งแบบ CY/CY คือ ผู้ส่งรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งนำไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าเอง แล้วผู้ส่งนำตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าและปิดผนึกตู้สินค้าแล้วมาส่งมอบแก่ผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งได้รับตู้สินค้าในสภาพเรียบร้อยบรรทุกลงเรือเดินทะเล เจ้าหน้าที่ท่าเรือรับมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทจากผู้ขนส่งหรือตัวแทนของผู้รับตราส่งมิได้บันทึกว่าตู้สินค้าดังกล่าวมีความเสียหายหรือผิดปกติแต่อย่างใด แสดงว่าตู้สินค้ามีสภาพปกติตั้งแต่ส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งจนถึงส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ปลายทาง สินค้าพิพาททั้งหมดมีอยู่จำนวน 44 แผ่นไม้รองสินค้า สินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้ามีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม มีเพียง 3 แผ่นไม้รองสินค้าเท่านั้น ที่มีน้ำหนัก 136.5 กิโลกรัม และ 241.5 กิโลกรัม สินค้าพิพาททั้งหมดผู้ส่งเป็นผู้จัดเรียงไว้ในตู้สินค้า โดยวางซ้อนกัน 2 ชั้นได้หมดทั้ง 44 แผ่นไม้รองสินค้า แต่โครงสร้างการหีบห่อสินค้าพิพาทมิได้จัดไว้เพื่อรองรับการกดทับวัตถุที่มีน้ำหนักมากๆ จากด้านบนได้อย่างปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ โดยเฉพาะวัตถุที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม การที่ผู้ส่งจัดวางสินค้าพิพาทซ้อนกัน 2 ชั้น ในลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ในตู้สินค้าจึงมีความเสี่ยงสูงในการที่แผ่นไม้ 2 ท่อน ที่วางเป็นรูปกากบาทด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้าที่อยู่ด้านบนได้ หากมีการโยกเอียงให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่บนแผ่นไม้รองสินค้าพิพาทชั้นล่างเคลื่อนไปจากแนวตั้งตรงที่ 90 องศา ข้อเท็จจริงจากรายงานการสำรวจภัยพบว่าการจัดวางสินค้าพิพาทมิได้มีลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้าต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า แต่มีการจัดวางสินค้าพิพาทชั้นล่างเพียง 21 แผ่นไม้รองสินค้า แต่ในชั้นที่ 2 หรือชั้นบนมีสินค้าพิพาทจัดวางไว้ถึง 23 แผ่นไม้รองสินค้า แสดงให้เห็นว่า สินค้าพิพาท 1 แผ่นไม้รองสินค้า ที่วางอยู่ชั้นล่างบางส่วน ต้องรองรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนมากกว่า 1 แผ่นไม้รองสินค้า ดังนั้น โอกาสที่สินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านบนมีอยู่มากขึ้นอีก เมื่อตู้สินค้ามีการถูกยกเคลื่อนย้ายแต่ละครั้ง อาจทำให้สินค้าพิพาทด้านบนเคลื่อนไหว ทำให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างเคลื่อนที่ และไม่อาจรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนได้จึงมีการยุบหักของไม้ประกบกันกระแทกด้านข้างและด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่าง ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าของสินค้าด้านบนยุบตัวลงกระแทกกับสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่าง ทำให้สินค้าพิพาทด้านล่างเสียหาย ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าดังกล่าวถูกแรงกดทับของตัวสินค้าแตกหักเสียหายไปพร้อมกับตัวสินค้าด้วย ความเสียหายของสินค้าพิพาทจึงมิได้เกิดจากกระบวนการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ไม่ระมัดระวัง แต่เกิดจากความผิดของผู้ส่งของที่บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้สินค้าโดยจัดเรียงสินค้าไม่เหมาะสม ทำให้สินค้าพิพาทกดทับกันเกิดความเสียหาย ความเสียหายของสินค้าพิพาทตามฟ้องจึงเกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (9)
of 19