คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจสอบสวน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 190 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12376/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต: การส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แม้ขณะจำเลยกระทำความผิดอยู่ในบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ก็ตาม แต่ ศ. เจ้าพนักงานตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว การสอบสวนจำเลยจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อ พ.ร.บ. นั้นไม่มีมาตราใดบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์ไว้มีอำนาจสอบสวนได้ แต่มาตรา 89 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตามมาตรา 88 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ต่อไป" ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจึงต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจึงชอบด้วยกฎหมายและการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองไม่ได้สอบสวน จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19299/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไม่กระทบอำนาจสอบสวนเดิม และการพิจารณาคดีตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเท่านั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน คดีนี้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในการพิจารณาการกระทำความผิดของจำเลย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องพิจารณาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 ที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปได้ แม้ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานบอกเล่าและพยานหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น และอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน
ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะ ร. เป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 1 ซึ่งเป็นผู้สอบสวนประจักษ์พยานโจทก์ทั้งหมด แต่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 3 นั้น เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในเขตอำนาจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ที่ ร. ประจำอยู่ ร. จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นระเบียบซึ่งกำหนดวิธีการบริหารภายในของราชการตำรวจ มิได้ทำให้อำนาจการสอบสวนที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7445/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวน-ฟ้องคดีอาญา และการยอมความที่ไม่สมบูรณ์ในคดีฐานยักยอก
การที่จำเลยรับเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมที่จังหวัดต่างๆ แล้วไม่โอนเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมกับไม่มาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วมที่อำเภอกระทุ่มแบน ดังนี้ ความผิดฐานยักยอกจึงอาจเกิด อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ร่วมแต่ละจังหวัดจนถึงสำนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องมาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนจึงมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์มิได้ระบุว่า ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้ใด แต่ก็ระบุให้ พ. มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นการมอบอำนาจทั่วไป และต่อมาโจทก์ร่วมก็มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหายักยอก เมื่ออ่านประกอบกันโดยตลอดย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาอะไรแล้ว การมอบอำนาจของโจทก์ร่วมที่ให้ พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
หนังสือรับสารภาพเป็นเพียงเอกสารที่จำเลยรับว่า ไม่ได้นำเงินจำนวน 3,266,808 บาท ส่งคืนโจทก์ร่วม ยอมรับว่าได้กระทำผิดจริง และยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม โดยยินยอมให้ยึดถือที่ดินและรถยนต์ไว้ก่อน ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับตามป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848-5849/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญาต่อเนื่อง: การกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19
ญาติของผู้เสียหายไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่แต่เพียงว่า ผู้เสียหายได้หายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงมาแจ้งความเพื่อขอให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาตัวผู้เสียหายให้เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่น ไม่มีแม้แต่ข้อความที่ระบุว่าผู้แจ้งเชื่อว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น การแจ้งความเช่นนี้ จึงมิใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) (8) ไม่ก่อให้เกิดปัญหาว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข) เพราะข้อเท็จจริงตามคำแจ้งความดังกล่าว ไม่ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะสามารถเป็นได้แม้กระทั่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคนหนึ่งในหลายท้องที่ที่มีการกระทำความผิดต่อเนื่องกันตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง
กรณีว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ใดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่ได้ผ่านบทบัญญัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง มาก่อนแล้ว และเกิดมีปัญหาที่พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องต่างมีอำนาจสอบสวนเท่านั้น สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาเป็นท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อน โดยผู้เสียหายถูกเอาตัวไปที่บริเวนหน้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระแชง และเป็นสถานีตำรวจที่ ด. ได้ไปกล่าวโทษไว้ เช่นนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาจึงย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4559/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติม และข้อจำกัดในการฎีกาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นในศาลล่าง
ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้พนักงานสอบสวนฟัง พนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผู้ที่คิดตั้งข้อหาขึ้นเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการรับแจ้งความ ครั้งแรกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากระทำอนาจารและทำร้ายร่างกาย แต่เมื่อพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไปรวมทั้งสอบปากคำผู้เสียหายแล้ว เห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในข้อหากรรโชกอีกในคราวเดียวกันด้วย พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาได้
แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่ปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22843/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเรื่องอำนาจสอบสวน-ฟ้อง เนื่องจากเป็นข้อโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์ โดยอ้างว่า คดีนี้เหตุเกิดที่ร้านบ้านนาการเกษตร อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และที่บริษัท อ. อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมูลคดีเกิดในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำราจภูธรบ้านนา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่มีการจับกุมแจ้งข้อหาแก่บริษัท อ. ทั้งที่ทำการของบริษัทดังกล่าวไม่ใช่ตัวแทนหรือสาขาของจำเลยที่ 1 เมื่อฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผลิตจึงต้องให้พนักงานสอบสวนที่อยู่ในเขตภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองรับผิดชอบ คือสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรลาดหลุมแก้ว จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่มีอำนาจสอบสวนและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตปุ๋ย ณ สถานที่ตั้งหรือสถานที่แบ่งบรรจุ ส่วนเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นเพียงผลสรุปแห่งข้อโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวเท่านั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ผู้เสียหายยินยอมไม่กระทบอำนาจสอบสวน/ฟ้อง และกรรมเดียวผิดหลายบท
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17581/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิง – อำนาจสอบสวน – ความน่าเชื่อถือพยาน – ข้อพิรุธการเบิกความ
แม้เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ซึ่งมีร้อยตำรวจโท อ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 ส่วนพันตำรวจตรี ต. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ก็สืบเนื่องมาจากพลตำรวจตรี ว. ผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนศูนย์สอบสวนคดีพิเศษประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 โดยให้พันตำรวจตรี ต. ปฏิบัติราชการที่ศูนย์สอบสวนคดีเด็ก สตรี และคดีพิเศษ เพื่อให้การสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของทางราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น พันตำรวจตรี ต. ผู้ได้รับมอบหมายตามคำสั่งดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้
ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 แบ่งเป็น 3 กรรม คือ ครั้งแรกประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ครั้งที่ 2 ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และครั้งที่ 3 ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งครอบคลุมช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2550 อยู่ด้วยในตัว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าจำเลยที่ 1 รับผู้เสียหายมาอยู่ด้วยในช่วงเวลาดังกล่าวจริง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างไปจากที่โจทก์บรรยายในฟ้องในข้อสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17235/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" รวมถึงข้าราชการด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรือเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 148 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และความผิดตามบทมาตราทั้งสามดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของ ป.อ. ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมาตรา 19 (3) 43 (4) และมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 ผู้ถูกกล่าวหายังหมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แทนการให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ดังเช่นคดีอาญาอื่นๆ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามข้อหาดังกล่าว
แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 19 (4) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย และตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มาตรา 17 (4) บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผลให้การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหรือสูงกว่าผู้อำนวยการกอง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน รวมตลอดถึงอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นฟ้องคดี ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กรณีจึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับเดิม
of 19