พบผลลัพธ์ทั้งหมด 168 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3791/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การงดบังคับคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย หากเจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกเฉยและดำเนินการบังคับคดีต่อ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
การยื่นคำแถลงขอให้งดการบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้กระทำ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งของดการบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว แต่มีคำสั่งให้ยกคำแถลง แต่ไม่แจ้งเรื่องคำสั่งยกคำแถลงให้โจทก์ทราบ ทำให้โจทก์ไม่ได้ไปดูแลการขายทอดตลาดตามกำหนดเดิม เจ้าพนักงานบังคับคดียังได้ขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ไป เช่นนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ของดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3) (เดิม) ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตาม การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปถือว่าได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3791/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การงดบังคับคดีและการเพิกถอนการขายทอดตลาด: เจ้าหนี้แจ้งงดบังคับคดีโดยชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตาม
การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองครั้งที่ 9 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2545 ไว้ก่อนทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นกรณีที่โจทก์ของดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3)(เดิม) ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตาม การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำแถลงของโจทก์ดังกล่าวแล้วมีคำสั่งให้ยกคำแถลงดังกล่าวโดยไม่แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ จากนั้นดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อไป ถือว่าได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ธนาคารมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดทรัพย์สินอย่างครบถ้วน แม้เป็นบัญชีร่วม ต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิจะได้รับจากบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น เมื่อธนาคาร ท. ได้รับหนังสืออายัดเงินฝากบัญชีของจำเลยทั้งสองจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่คัดค้าน ถือว่าการอายัดมีผลเป็นการอายัดเงินฝากของจำเลยทั้งสองที่ฝากอยู่ที่ธนาคาร ท. ทุกสาขาและทุกบัญชี ธนาคาร ท. จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดโดยการอายัดและส่งเงินที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองทุกบัญชีที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิเบิกจากธนาคารซึ่งรวมทั้งที่มีชื่อในบัญชีร่วมกับบุคคลอื่นด้วยให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคท้าย การที่ธนาคาร ท. ไม่อายัดและส่งเงินฝากที่จำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมกับบุคคลอื่นจนได้รับหนังสือยืนยันการอายัดและส่งเงินที่เหลือในบัญชีหลังจากได้รับหนังสืออายัดครั้งแรกเป็นเวลาถึง 4 เดือน นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนโดยอ้างว่าผู้แทนโจทก์แถลงว่า ขณะที่ธนาคาร ท. ได้รับหนังสืออายัด จำเลยที่ 2 มีเงินอยู่ในบัญชีประมาณ 2,000,000 บาท ซี่งหากเป็นความจริงธนาคาร ท. จะต้องส่งเงินตามหนังสืออายัดจนครบจำนวนที่อายัดไว้จำนวน 1,038,609 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือถ้าได้ข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นก็ให้มีคำสั่งไปตามรูปคดี เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดว่า ขณะธนาคาร ท. ได้รับหนังสือแจ้งอายัด จำเลยทั้งสองมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำนวนเท่าใดและเป็นความจริงดังที่โจทก์แถลงหรือไม่ก่อน กลับด่วนวินิจฉัยว่า ธนาคาร ท. ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดแล้ว ให้ยกคำขอของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นไม่ชอบ จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าเป็นความจริงดังที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4522/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจบังคับคดีเป็นของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจเป็นคู่ความและฎีกาคัดค้านคำพิพากษาได้
ป.วิ.พ. มาตรา 296 และมาตรา 302 ให้อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นตามมาตรา 1 (14) เป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้นไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4522/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ใช่คู่ความ ไม่มีสิทธิฎีกา และไม่ต้องรับผิดชอบค่าฤชาธรรมเนียม
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 และมาตรา 302 บัญญัติกำหนดให้อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน" เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้คัดค้านไม่ใช่คู่ความในคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจเป็นคู่ความ การให้ใช้ค่าทนายความแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ
เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงกำหนดให้คู่ความใช้ค่าทนายความให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2809/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจถอนการยึดทรัพย์เอง ศาลต้องเป็นผู้ชี้ขาดสิทธิในทรัพย์สิน
เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการในวันดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ การยึดทรัพย์ดังกล่าวย่อมมีผลตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านไปก่อนในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ตามคำขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ผู้คัดค้านคงมีสิทธิเพียงขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน ดังนั้น ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 4 หรือผู้คัดค้านซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 ก่อนการยึดเพียง 2 วัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะวินิจฉัยเองว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมาย ทั้งในกรณีนี้ตามกฎหมายก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจถอนการยึดทรัพย์ได้เองและเรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีได้ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีมานั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2262/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดต้องรับผิดในส่วนต่างราคาที่ดินเมื่อไม่ชำระเงินตามสัญญา แม้เจ้าหนี้ต้องผ่านเจ้าพนักงานบังคับคดี
จำเลยเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดที่ละเลยไม่ใช้ราคาค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง เมื่อได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 เงินในส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้ ถือว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น ต้องตกอยู่ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางกับยึดหรืออายัดหรือยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง (เดิม) แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ก็ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้จัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวหากมีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหากมีเงินเหลืออยู่ในภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องเอาเป็นส่วนของตนได้โดยลำพังไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยหรือบังคับคดีจากจำเลยแล้ว ให้หักเป็นค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี (ถ้ามี) แก่โจทก์ แล้วส่งคืนเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวต่อไป เป็นการพิพากษาไปตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย หาได้พิพากษานอกคำฟ้องไม่