คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิเรียกร้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,733 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เริ่มนับจากวันผิดนัดชำระหนี้
จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคารและศาลพิพากษาตามยอมว่าข้อ 1 ตกลงชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ตกลงชำระค่าธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 5,000 บาท ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2538 และข้อ 3 หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 9 มีนาคม 2538 ย่อมถือว่าผิดนัดและธนาคารสามารถบังคับคดีได้ทันทีตามสัญญาข้อ 3 ดังนั้น อายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2538 เมื่อครบ 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 1 โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 เกิน 10 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากรถเช่าซื้อสภาพไม่ดีหลังส่งคืน ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาได้
คดีก่อนเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 1,852,000 บาท พร้อมให้รับผิดชำระค่าเสียหาย จำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งคืนให้แก่โจทก์ในสภาพไม่เรียบร้อยอันเกิดจากความบกพร่องในการดูแลรักษาทรัพย์สินซึ่งเป็นความผิดของจำเลย โจทก์นำออกขายทอดตลาดได้เงินเพียง 1,173,707.89 บาท ไม่ครบถ้วนตามราคาใช้แทนรถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษา ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไปและโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ยังขาดจำนวนได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่สืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนและเกิดขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว มิใช่กรณีที่จะไปบังคับคดีในคดีก่อนได้เพราะการบังคับคดีในคดีก่อนจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้างเป็นสำคัญ ทั้งยังมิใช่เป็นเรื่องที่คำพิพากษาในคดีก่อนได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติตามคำพิพากษาไว้และโจทก์ได้ดำเนินการบังคับชำระหนี้ก่อนหลังกันไปตามลำดับจนไม่อาจเรียกค่าขาดราคาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนระงับด้วยการประนีประนอมยอมความ ผลต่อการบังคับคดี
ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุว่า จำเลยและ ส. ตัวแทนบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาศาล ส. แถลงว่าจำเลยกับญาติผู้ตายทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความค่าเสียหายส่วนแพ่งที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา โดยบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ห. ภริยาของ ว. ผู้ตาย จำนวน 600,000 บาท และจ่ายให้แก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 450,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในส่วนแพ่งว่า ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนนั้น จำเลยและบริษัทผู้รับประกันภัยค้ำจุนร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองแล้ว ชั้นสืบพยานในส่วนแพ่งในศาลชั้นต้น จำเลยได้นำบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มาประกอบการถามค้านผู้ร้องทั้งสอง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกการเจรจาตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ไว้ในคำให้การส่วนแพ่งแล้ว มิใช่จะให้การเฉพาะค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกบันทึกการเจรจาตกลงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
เมื่อพิจารณาตามบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดในการทำละเมิดเป็นเหตุให้ อ. ผู้ตายถึงแก่ความตายกับยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท โดยผู้ร้องที่ 2 ระบุว่า ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีใดและเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ เพิ่มเติมกับจำเลยอีกต่อไป เมื่อบันทึกฉบับนี้มีข้อความว่าผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 450,000 บาท จากตัวแทนของจำเลย ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ อีกด้วย และวรรคสาม ถ้าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุในเอกสารหมาย ล.1 จึงรวมกับค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตลอดจนค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของ อ. ผู้ตายแล้ว เมื่อผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินตามบันทึกการเจรจาและไม่ประสงค์ฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จากจำเลยอีก ทำให้สิทธิเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามลักษณะประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมีผลให้ผู้ร้องที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจากจำเลยได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 639/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องเอง โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาแทน
คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิตและแก่กายดังกล่าว มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดในคดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในคดีอาญา: ความเสียหายต้องเกิดจากการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องเท่านั้น
กรณีที่โจทก์ร่วมจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการฟ้องร้องเท่านั้น โจทก์ร่วมจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ได้ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเกิดจากการรื้อถอนบ้านหลังเก่าที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทแล้วปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาแทน ดังนั้น โจทก์ร่วมจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากการรื้อบ้านหลังเก่าและให้รื้อบ้านหลังใหม่เพื่อปรับสภาพพื้นที่ย่อมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโกงเจ้าหนี้หลังล้มละลาย: เจ้าหนี้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามขั้นตอน หากไม่ยื่น สิทธิเรียกร้องสิ้นสุด
หนี้ของโจทก์เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จึงต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของการประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ทั้งคำว่า "เจ้าหนี้ของตน" ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่มิได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงมิใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6915/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกจ่ายค่าอบรมที่ขัดระเบียบกระทรวงการคลัง: สิทธิเรียกร้องคืนเงินไม่มีอายุความ
ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร "กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง" อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์
คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้วโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายคดีอาญาจำเลยที่ 3 ที่ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณา และสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหาย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏว่าในคดีส่วนอาญา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ ส่วนที่โจทก์ขอให้มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งโดยพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เมื่อสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดอาญาให้สามารถยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมได้ จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในส่วนแพ่งว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิด ให้ยกฟ้องและยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว ย่อมถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 พอใจในคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยไม่ชำระหนี้ค้างชำระ ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคา
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิในการรับชำระหนี้จำนองให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1651, 1612 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้ต่อธนาคาร ท. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาธนาคาร ท. เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2548 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคาร ท. ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เมื่อธนาคาร ท. โอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะขอเข้าสวมสิทธิแทนที่ธนาคาร ท. ตามที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตได้ ประกอบกับผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งมาตรา 7 ของ พ.ร.ก. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดวิธีพิเศษในการเข้าสวมสิทธิแทนที่ในกรณีที่สถาบันการเงินได้โอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ไว้ว่าให้โอนสิทธิแก่กันได้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะเข้าสวมสิทธิแทนธนาคาร ท. ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยผลของกฎหมายดังกล่าว ส่วนการที่ผู้ร้องจะได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ท. หรือไม่ เพียงใดนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องและธนาคาร ท. ไม่มีผลทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเสียไป
of 174