คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำพิพากษา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,887 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์ของกลาง: ศาลฎีกาชี้ว่าคำพิพากษาให้คืนทรัพย์เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ไม่สร้างฐานะเจ้าหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วม
คดีนี้พนักงานสอบสวนยึดทรัพย์ของกลางไว้ในชั้นสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและตกลงให้โจทก์ร่วมรับมอบทรัพย์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างดำเนินคดีมิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อกล่าวอ้างที่พิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือครอบครองทรัพย์ของกลางของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะพิจารณาและพิพากษาบังคับให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์นี้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คำพิพากษาที่ให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่คำพิพากษาบังคับในลักษณะให้โจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาด้วยการคืนทรัพย์ของกลางนี้แก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีแก่โจทก์ร่วมเพื่อให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางนี้แก่จำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 249 ประกอบกับ ป.วิ.พ. ว่าด้วยการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์ของกลางตามคำพิพากษา: จำเลยไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับคดีโจทก์ร่วม
เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องรวม 7 รายการ เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ต่อมาพนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมรับมอบทรัพย์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเรื่องของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) อันเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางไว้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั่นเอง ทั้งมิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อพิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือหรือครอบครองทรัพย์ของกลางของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบที่จะบังคับให้โจทก์ร่วมคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ตกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีเพื่อให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แม้มีคำพิพากษาคดีขับไล่ก่อนหน้า และการสันนิษฐานเรื่องความเป็นบริวาร
คดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่ให้ ช. และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น จำเลยฟ้อง ช. คนเดียวมิได้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ด้วย โจทก์จึงไม่จำต้องเข้ามาต่อสู้คดีแต่อย่างใด คดีดังกล่าวมีประเด็นตามฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือ ช. ปรากฏว่า ช. ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยให้ขับไล่ ช. และบริวาร แต่คดีนี้โจทก์ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีเดิมยื่นฟ้องจำเลยว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์และห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้องประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้จึงมีว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีเดิม เมื่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการครอบครองของโจทก์เข้าหลักเกณฑ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้ ไม่เป็นการขัดกับคำพิพากษาในคดีเดิมแต่อย่างใดเพราะแม้จะฟังตามคำพิพากษาในคดีเดิมว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมิใช่ของ ช. แต่จำเลยก็อาจจะเสียสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้ทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมได้
บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ที่กำหนดให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศนั้น มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าถ้าโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. ไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้นแล้ว โจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. จะต้องเป็นบริวารของ ช. สถานเดียว เพียงแต่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นบริวารของ ช. เท่านั้น แต่หากโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. มีหลักฐานแสดงว่าตนไม่ใช่บริวารของ ช. แล้ว ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของตนได้ว่าตนไม่ใช่บริวารของ ช. แม้จะล่วงเลยเวลาแปดวันแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นมิใช่ระยะเวลาสิ้นสุด เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจะทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะฟ้องร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ช. เสียภายในแปดวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลจึงมิใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ต้องเป็นบริวารของ ช. หรือโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2964/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย หลังศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอภายใน 2 เดือน
เจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 2 กับพวกต่อศาลแพ่ง ระหว่างพิจารณาคดีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า เพิ่งทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว ขอให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความแทน ครั้นถึงวันนัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ในคดีล้มละลายครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 แม้ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือคดีอยู่ระหว่างพิจารณาก็จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และ 91 การพิจารณาคดีแพ่งต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เจ้าหนี้แถลงคัดค้านว่าเพิ่งทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 มาศาลในคดีแพ่ง แต่ไม่ได้แถลงให้เจ้าหนี้และศาลทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้มิได้ดำเนินการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จนล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว หากศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อันมีผลเท่ากับศาลแพ่งพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้วมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 ต่อไป และไม่อนุญาตตามคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 แล้ว ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ติดใจเข้าว่าคดีแพ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวนั้น เป็นเพียงการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ติดใจที่จะนำพยานมาสืบหรือถามค้านพยานอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีในคดีแพ่ง เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่คดีถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14293/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาและการใช้สิทธิขอปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่คำร้องขอปล่อยตัวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90
คำร้องของจำเลยที่อ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบถึงสาระสำคัญคลาดเคลื่อน จึงออกคำพิพากษาที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 จำเลยจะยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นมากล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของพ.ร.บ.ล้างมลทินต่อการเพิ่มโทษทางอาญา กรณีผู้ต้องโทษเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดมาก่อน
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 3 หรือไม่ แม้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคดีจำเลยจะถึงที่สุดไปก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับแล้ว แต่ปัญหาว่าเมื่อมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่จะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงผลของคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด กรณีมีเหตุที่จะไม่เพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13901/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งศาลต้องวางค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษา หากมีผลให้คำพิพากษาเดิมถูกเพิกถอน
บัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หาได้ใช้บังคับเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้นไม่ และถึงแม้จะเป็นเพียงการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย แต่จำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วน จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13882/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกายาเสพติด: การไม่ยื่นคำร้องขอรับฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด
คดีนี้โจทก์ฟ้องและศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์ฎีกาในส่วนคำขอท้ายฟ้องให้ริบของกลางเพียงอย่างเดียว แต่มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้รับฎีกาไว้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13118/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อและการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องโดยผู้ร้องได้ชำระมูลค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน และมีการชำระบัญชีหนี้สินระหว่างกันเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งยังกำหนดให้โจทก์ดำเนินคดีและบังคับคดีกับลูกหนี้เช่าซื้อต่อไปในนามของผู้ร้อง และเมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งหมด แสดงว่าผู้ร้องแต่ผู้เดียวมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้และรับชำระหนี้เช่าซื้อ ดังนั้น บันทึกข้อตกลงดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และโจทก์สามารถโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องได้ตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 27 โจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 การโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้แก่ผู้ร้องตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองแทนโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13063/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วมาขอแก้ไขบทลงโทษในภายหลัง เป็นการขัดต่อหลักวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องหรือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 198 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวกลับมายื่นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยเลี่ยงอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไข คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ที่บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
of 189