คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ล้มละลาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,913 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14472/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้เกิดก่อนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย
ดอกเบี้ยของเบี้ยปรับและค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อสินค้าในราคาที่เพิ่มขึ้น แม้เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด แต่เมื่อมูลหนี้เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นมูลหนี้จากสัญญาซื้อขายที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จึงมิใช่มูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในกฎหมายล้มละลายเท่านั้น โจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยเป็นคดีแพ่งหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1122/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้หลังศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ: ธนาคารต้องงดจ่ายเช็ค และเจ้าหนี้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
บริษัท ด. ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 30 กันยายน 2548 ให้แก่จำเลยเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระ แม้จำเลยจะมีสิทธิรับเช็คดังกล่าวและมีสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินตามเช็คจากโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารเจ้าของเช็คนั้นได้เมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดชำระก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท ด. ในวันที่ 11 สิงหาคม 2548 อันเป็นวันก่อนที่เช็คนั้นถึงกำหนดชำระ เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่ห้ามลูกหนี้ชำระหนี้ มาตรา 90/26 และมาตรา 90/27 ที่ให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ ย่อมหมายความว่า เช็คพิพาทที่ลูกหนี้ออกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งลงวันที่ล่วงหน้าถึงกำหนดชำระภายหลัง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ธนาคารตามเช็คต้องงดชำระหนี้ตามเช็คพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าว ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 992 (3) ดังนี้ จำเลยชอบที่จะนำเช็คพิพาทไปยื่นเป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไม่ใช่นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่จำเลยไปจึงเป็นการจ่ายโดยผิดหลง การจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่ห้ามโจทก์ ลูกหนี้ชำระหนี้ ถือเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินที่จำเลยได้รับไปจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 542,397.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการล้มเหลว ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้
ในกรณีระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่ลูกหนี้ยังอยู่ในสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อาจชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ย่อมเป็นเรื่องที่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย และศาลชอบที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่หากลูกหนี้พ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วหรืออาจชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
คดีนี้ได้ความจากรายงานเจ้าหน้าที่ส่วนจัดกิจการทรัพย์สินและกำกับดูแลการฟื้นฟู สำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สรุปได้ว่า ผู้บริหารแผนไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผน สำหรับผลการดำเนินงานทางการเงิน ลูกหนี้มีรายได้ไม่เพียงพอ มีการลดจำนวนพนักงานซึ่งมีผลให้ผลิตสินค้าไม่ได้ตามเป้าหมายทั้งด้านคุณภาพและจำนวน ประกอบกับไม่มีสถาบันการเงินใดอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกหนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการจนลูกหนี้ขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนได้ ลูกหนี้มีผลการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าลูกหนี้ยังไม่พ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว กิจการขาดทุนและไม่มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ หากยังคงดำเนินกิจการต่อไปลูกหนี้ก็ไม่อาจฟื้นฟูกิจการจนพ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุด แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน กรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21730/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทนายความประมาทเลินเล่อฟ้องล้มละลายผิดคน ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดทางละเมิด
จำเลยที่ 4 เป็นทนายความอันเป็นวิชาชีพด้านกฎหมาย จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบและมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ ทั้งการว่าความในศาลย่อมมีผลกระทบต่อคู่ความที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการฟ้องคดีล้มละลาย หากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บุคคลผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ หลายประการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 จำเลยที่ 4 จึงควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 เพียงตรวจสอบหมายเลขประจำตัวประชาชนของ พ. ลูกหนี้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่ให้ไว้ต่อธนาคาร ท. ขณะทำสัญญาค้ำประกัน แล้วนำหมายเลขประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปขอคัดสำเนาทะเบียนราษฎร ปรากฏว่าบุคคลที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนดังกล่าวคือโจทก์ ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จำเลยที่ 4 จึงฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลาย ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีชื่อแตกต่างจาก พ. และจำเลยที่ 4 ก็มีข้อมูลของ พ. ตามสำเนาทะเบียนบ้าน และยื่นสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวประกอบคำฟ้องด้วย ดังนี้ หากจำเลยที่ 4 ตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้าน กับแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จำเลยที่ 4 ก็จะทราบได้โดยง่ายว่า ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีเกิด รวมทั้งชื่อบิดามารดาโจทก์กับ พ. นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อันแสดงว่าโจทก์และ พ. เป็นคนละคนกัน แต่จำเลยที่ 4 หาได้กระทำไม่ ไม่สมกับเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านกฎหมายในวิชาชีพทนายความ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันว่าโจทก์ไม่ใช่บุคคลที่ถูกฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 4040/2549 ของศาลล้มละลายกลางโดยให้จำเลยทั้งสี่ออกค่าใช้จ่ายนั้นวัตถุประสงค์ของโจทก์คือต้องการให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันให้บุคคลทราบโดยทั่วไป การที่ศาลอุทธรณ์ระบุจำนวนฉบับและจำนวนวันก็เพื่อให้ชัดเจนและสะดวกแก่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะได้ปฏิบัติ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีนี้ แม้โจทก์จะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 แต่ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาดตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535-13536/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศในช่วงฟื้นฟูกิจการ: ศาลมีอำนาจปฏิเสธการบังคับตามกฎหมายล้มละลาย
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศบาฮามาส ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของผู้ร้อง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องและให้ผู้ร้องบริหารแผนและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้อง ระหว่างนั้นอันเป็นช่วงเวลาที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดโดยมีข้อตกลงให้นำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ภายใต้กฎการอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติและให้ใช้กฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์บังคับแก่สัญญา ต่อมาผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องผิดสัญญาจึงนำข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ชี้ขาดว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาและให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน โดยระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง แต่ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลาง ดังนี้ แม้การเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ชี้ขาดนั้นจะเป็นการดำเนินการไปตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ซึ่งต้องดำเนินการไปตามข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิง (Term of Reference) ของอนุญาโตตุลาการและกฎหมายภายในของประเทศสิงคโปร์ และมีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านที่จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำเอาผลคำวินิจฉัยชี้ขาดมาบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ในประเทศไทย ในขณะที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการย่อมเป็นการกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องตามมาตรา 90/12 (4) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งต้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลางก่อน มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าหนี้ในราชอาณาจักรกับเจ้าหนี้นอกราชอาณาจักรซึ่งมาตรา 90/12 (4) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้จำกัดหรือแยกให้แตกต่างกัน แม้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์จะเป็นไปตามข้อตกลงและดำเนินการตามข้อกำหนดและกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และอาจไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนได้ แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำคำชี้ขาดมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องในประเทศไทยก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่อาจนำหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์มาบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของผู้ร้องในคดีล้มละลายได้ เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11248/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของแผนฟื้นฟูกิจการต่อความรับผิดของผู้จำนอง: ความรับผิดยังคงอยู่หากแผนขัดต่อกฎหมายล้มละลาย
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง ความรับผิดของผู้ร้องในฐานะผู้จำนองมีต่อโจทก์เดิมเพียงใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องทำหนังสือปลดภาระการจำนองและให้ผู้จำนองสิ้นความผูกพันตามสัญญาทุกฉบับ ย่อมเป็นการขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวอันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ผู้ร้องในฐานะผู้จำนองจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาด ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ย่อมมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของผู้ร้องได้ กรณีไม่มีเหตุจะเพิกถอนการยึดที่ดินของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8707/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจต่อสู้คดีของลูกหนี้ล้มละลายตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลต้องส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้...(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้" การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนจากเงินขายทอดตลาดที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ล้มละลายมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ย่อมมีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อำนาจในการต่อสู้คดีนี้ของจำเลยที่ 1 จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 หามีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีด้วยตนเองไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8120/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรณีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์: หลังปลดจากล้มละลาย โจทก์ต้องฟ้องลูกหนี้โดยตรง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ว. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2535 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.376/2535 และ ว. ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คือวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ ว. จึงไม่มีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของ ว. ลูกหนี้อีกต่อไป โจทก์ชอบที่จะฟ้อง ว. เป็นจำเลยโดยตรง การที่โจทก์มาฟ้อง ว. โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ ว. เป็นจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, อายุความ, การจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ที่ล้มละลาย, การทวงหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่า หนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและขอให้ชำระหนี้ของโจทก์ ไม่มีการลงลายมือชื่อกรรมการและประทับตราสำคัญบริษัทโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ถือไม่ได้ว่ามีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในประเด็นนี้ ข้อฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เมื่อเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อถูกพิทักษ์ทรัพย์ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6, 22 และ 24 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปยังจำเลยผู้ค้ำประกันในการเช่าซื้อ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันเป็นการจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ การทวงหนี้จึงเป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อนับจากวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือให้ชำระหนี้จนถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
of 192