คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มรดก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,786 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำจัดทายาทมิให้ได้รับมรดก, เพิกถอนนิติกรรมจำนอง, และผลกระทบการตายของผู้จัดการมรดก
การที่จะพิจารณาได้ว่าทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกถึงขนาดถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากพิจารณาถึงการกระทำของผู้กระทำแล้ว ยังต้องคำนึงเจตนาของผู้กระทำและผลของการกระทำนั้นเป็นสำคัญด้วยว่า มีเจตนาทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ เมื่อเจ้ามรดกมรณภาพ ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาททันที ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามสัดส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสาม เว้นแต่ทายาททั้งหมดสมัครใจตกลงยินยอมให้แบ่งปันเป็นอย่างอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาททุกคนสมัครใจตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นอย่างอื่น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนเพียงผู้เดียว ไม่ยินยอมแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยอ้างว่า ก่อนเจ้ามรดกมรณภาพได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ตน ซึ่งความจริงแล้วก่อนเจ้ามรดกมรณภาพไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หรือทายาทคนใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรวบรวมอีก ประกอบกับจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิได้รับมรดกดุจเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 สำคัญผิดหรือเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทตกทอดแก่ตนเพียงผู้เดียว ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะจดทะเบียนแบ่งปันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทในภายหลังเพราะการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลักษณะดังกล่าวต้องกระทำสองทอดและต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนถึงสองครั้ง ประกอบกับที่ดินพิพาทมีหลักฐานทางทะเบียนที่ดินเป็นโฉนด การที่จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยและมีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357 นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของ ส. ภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม มีผลก่อเกิดทรัพยสิทธิจำนองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำนองจะระงับสิ้นไปเมื่อหนี้กู้ยืมเงินที่เป็นประกันระงับด้วยเหตุประการอื่นใดที่มิใช่เหตุอายุความ หาก ส. ผู้กู้และจำเลยที่ 1 ผู้จำนองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองย่อมใช้สิทธิบังคับจำนองและฟ้องคดีเพื่อให้ศาลสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทและให้ขายทอดตลาดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองผู้เดียวไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทและนำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ภริยาตนเองไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม แม้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปเป็นของบุคคลอื่นอีกก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยมีเจตนาฉ้อฉลหรือรู้อยู่แล้วว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกได้ตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้วโดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ปิดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกมรณภาพก็ตาม บุตรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกสืบมรดกของเจ้ามรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 ตายแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตกแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จึงเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของตน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารตาม พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 การรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" และไม่ปรากฏพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่า ส. ภริยาจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดินปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางมรดกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2
เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลอีกต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ม. ทายาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทน ไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแบ่งแยกที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกสามในสี่ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จึงไม่อาจบังคับให้มีผลตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่ทายาทของเจ้ามรดกต้องไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เสียหายในคดีปลอมพินัยกรรม: ทายาทโดยธรรมมีสิทธิฟ้องได้ แม้ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตแล้ว
โจทก์และจําเลยที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ จ. จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของ จ. ขึ้นทั้งฉบับว่า จ. ยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จําเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว นอกจาก จ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำปลอมพินัยกรรมจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมพินัยกรรมอันเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 แล้ว โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ก็ถือเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งด้วย เพราะหากพินัยกรรมปลอมถูกยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ โจทก์ซึ่งเป็นแต่เพียงทายาทโดยธรรมมิใช่ทายาทตามพินัยกรรม ย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ในส่วนที่เป็นที่ดินพร้อมบ้านซึ่งกำหนดไว้ในพินัยกรรมตามสิทธิที่ควรจะได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในการรับมรดกของ จ. อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องด้วยบทนิยามคําว่า "ผู้เสียหาย" ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีมรดกอย่างถูกต้อง: การส่งหมายเรียกและแจ้งสิทธิแก่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด
เดิมผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ร. ผู้ตาย โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือพินัยกรรมของ ร. ฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2557 ซึ่งพินัยกรรมระบุให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทตามพินัยกรรม และให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประกาศตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองโดยชอบ ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวของผู้ตาย มีคำขอบังคับให้เพิกถอนพินัยกรรม อ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริง แต่ทำโดยการใช้กลฉ้อฉลและสำคัญผิด ตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องทั้งสองมิใช่ทายาทโดยธรรม หรือผู้มีส่วนได้เสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำคัดค้านว่ารับคำคัดค้าน สำเนาให้ผู้ร้องทั้งสอง จึงให้ดำเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับดังต่อไปนี้ (1) ให้เริ่มคดีโดยการยื่นคำร้องขอต่อศาล ...(4) บุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่านี้มาเป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท..." ซึ่ง ป.วิ.พ. มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคดีมีข้อพิพาทไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 มาตรา 170 ถึงมาตรา 188 เมื่อคำคัดค้านของผู้คัดค้านมีคำขอบังคับเป็นประเด็นสำคัญสองประการคือ 1. ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนพินัยกรรมของผู้ตายโดยกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ด้วยเหตุการใช้กลฉ้อฉล และสำคัญผิด เท่ากับผู้คัดค้านโต้แย้งสิทธิโดยตรงต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน เพราะหากฟังได้ตามคำคัดค้านเท่ากับทายาทตามพินัยกรรมย่อมไม่ได้รับสิทธิที่ระบุไว้ในพินัยกรรม คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเท่ากับเป็นคำฟ้องต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน และเป็นฟ้องแย้งต่อผู้ร้องทั้งสองด้วย ทั้งกรณีจะถือว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นตัวแทนของทายาทตามพินัยกรรมทุกคนก็มิได้ เนื่องจากยังไม่มีการตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำคัดค้านต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคนและผู้ร้องทั้งสองเพื่อให้การต่อสู้คดี 2. ผู้คัดค้านมีคำขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมแต่เพียงผู้เดียว เมื่อปรากฏตามบัญชีเครือญาติเอกสารท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งสองว่ายังมีทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่อีก 7 คน รวมถึงผู้ร้องสอดในคดีด้วย และอาจยังมีทายาทโดยธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฎ รวมถึงอาจมีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะเข้ามาในคดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทแล้ว ชอบที่จะสั่งให้ผู้คัดค้านส่งหมายนัดพร้อมสำเนาคำคัดค้านให้ทายาทโดยธรรมทุกคนตามรายชื่อที่ปราฏในขณะนั้น รวมถึงให้มีการประกาศสาธารณะคำคัดค้านเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่อาจมีได้ทราบและเข้ามาปกป้องสิทธิ กรณีถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นกรณีเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความและการพิจารณาคดี อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และ 252 เห็นควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกที่ซับซ้อน การปกปิดทายาท และอายุความฟ้องร้องคดีมรดก
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะทายาทและการฟ้องยักยอกทรัพย์มรดก: ผู้ไม่เป็นทายาทฟ้องไม่ได้
โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบจะได้ความว่า จำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตาม ป.อ. มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินมรดก: สิทธิยังไม่บริบูรณ์ก่อนจำนอง ห้ามใช้บังคับกับบุคคลภายนอก
ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สินนั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีเบียดบังผลกำไรห้างหุ้นส่วน ต้องระบุจำนวนผลกำไรและส่วนแบ่งมรดกที่ชัดเจน
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า ป. บิดาโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าไม้และจำหน่ายโลงศพมีผลกำไรจากการประกอบกิจการซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนต้องแบ่งปันกัน และจำเลยเบียดบังผลกำไรในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ไปโดยทุจริต ผลกำไรอันจำเลยเบียดบังไปมีจำนวนเท่าใดย่อมถือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นมูลกรณีของความผิด โจทก์จึงต้องแสดงในฟ้องให้ชัดเจนว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเนื่องจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตายแล้ว สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังการชำระหนี้ที่กฎหมายกำหนดลำดับก่อนหลังไว้ อันถือเป็นผลกำไรของห้างหุ้นส่วนนั้นมีอยู่จำนวนเท่าใด และผลกำไรในส่วนของ ป. ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังเอาไปโดยทุจริตมีอยู่เท่าใด เพื่อที่จำเลยจะได้ตรวจสอบและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องว่าผลกำไรนั้นหากมีอยู่จริง ใช่ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาหรือไม่ โจทก์จะบรรยายฟ้องเพียงว่าห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรแล้วสืบพยานในภายหลังเพื่อแสดงให้เห็นจำนวนผลกำไรในส่วนของ ป. หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินมรดก: สิทธิเรียกร้องของผู้รับมรดก vs. บุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดกใหม่หลังผู้จัดการมรดกเดิมเสียชีวิต และการไม่เป็นฟ้องซ้อน
คำฟ้องหรือคำร้องขอใดจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้นคู่ความในคดีแรกและคดีหลังต้องมีฐานะเป็นโจทก์ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเคยยื่นคำคัดค้านโดยขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อันถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ในฐานะโจทก์ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่คดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้อง ผู้คัดค้านที่ 2 จึงอยู่ในฐานะจำเลย ไม่ต้องด้วยกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลนั้นย่อมสิ้นสุดลงโดยสภาพ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังคงฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ตามคำสั่งศาล เพียงแต่ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้เท่านั้นเพราะจะฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1726 กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเข้ามาในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการมรดกที่เป็นทายาท ทำนิติกรรมโอนมรดกไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น
บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1722 ที่ว่าผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะอนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล เป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะผู้จัดการมรดกที่มิได้เป็นทายาท แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลแล้วยังเป็นหนึ่งในทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ส. การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. ให้แก่ตนเองเป็นส่วนตัวในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทด้วย จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่มีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทหรือได้รับอนุญาตจากศาล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 อันจะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
of 179