คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำพิพากษา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,887 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5716/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาประนีประนอมยอมความเหนือกว่าสิทธิเจ้าหนี้จากการยึดทรัพย์
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ โดยต้องนำพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นดังที่กล่าวอ้าง แต่โจทก์ทั้งสองกลับมีเพียงรายงานสรุปการขายเอกสารหมาย จ.1 คำเบิกความของ ส. เอกสารหมาย จ.2 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเอกสารหมาย จ.3 และรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ ป. เอกสารหมาย จ.4 มาแสดง ซึ่งตามบันทึกคำเบิกความเอกสารหมาย จ.2 แม้ ส. อ้างว่าไม่ปรากฏรายชื่อผู้ร้องในรายงานสรุปการขายของจำเลยเอกสารหมาย จ.1 จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยก็ตามแต่รายชื่อลูกค้าตามเอกสารหมาย จ.1 มิใช่รายชื่อลูกค้าทั้งหมด จึงยังไม่อาจสรุปจากเอกสารหมาย จ.1 ได้ว่า ผู้ร้องมิได้เป็นลูกค้าของจำเลย ทั้งตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.4 ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่พอจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย
เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขาย และศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันที ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนตามคำพิพากษาได้อยู่ก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองจึงหามีสิทธิขอให้บังคับคดียึดทรัพย์พิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้ไม่
การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทนเท่านั้น หามีผลให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5367/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โกงเจ้าหนี้: การโอนทรัพย์สินหลีกเลี่ยงชำระหนี้หลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด
โจทก์ทราบว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โอนที่ดินให้ ท. โจทก์ย่อมมีสิทธิเลือกที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยกับ ท. หรือฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาก็ได้ การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ เมื่อจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ ท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่ถือเป็นการบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์
ในคดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือโจทก์ในคดีนี้ ให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางของที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนดังกล่าวมอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 ดำเนินการบังคับคดี โดยจำเลยที่ 5 กับพวกเข้าไปในที่ดินด้านหลังอาคารแล้วรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของอื่น ๆ อีกหลายรายการออกไปจากที่ดินพิพาทและนำแผ่นเหล็กปิดกั้นประตูด้านหลังของที่ดินโดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 เบญจ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและมีอำนาจขนย้ายสิ่งของออกจากสิ่งปลูกสร้างที่มีการรื้อถอนด้วย จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายแต่เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีแรงงานและการจำกัดสิทธิโดยระเบียบภายในองค์กร ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อที่ 33 กำหนดว่า "เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาผู้ใดที่ถูกลงโทษเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่ยุติธรรมก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นได้" เป็นการกำหนดให้สิทธิลูกจ้างที่ถูกลงโทษที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นหรือไม่ก็ได้ ส่วนที่ระเบียบข้อเดียวกันนั้นกำหนดว่า "คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด" มีความหมายเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปยังผู้ใดหรือกรรมการชุดใดของจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิผู้ที่ถูกลงโทษมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน จำเลยทั้งสองยกเอาระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 มาจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์เป็นผู้ที่ถูกลงโทษจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 5/2545 - 46 ที่แต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 96/2545 - 46 ที่เลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคนละคำสั่งคนละขั้นตอนกัน ต่อมาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อน จึงไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ฟ้องสำหรับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3663/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาอาญาที่ถึงที่สุด
คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาว่าความรับผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มิใช่พิจารณาว่าโจทก์ต้องฟ้องคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสร็จเด็ดขาด การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่งอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาฐานบุกรุกของจำเลย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ กล่าวคือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่ถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความเดียวกับในคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3545/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แต่ปรากฏว่าองค์คณะของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ทำคำพิพากษาครั้งหลังมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3), 30 เนื่องจากคดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำพยานเข้าสืบจนเสร็จการพิจารณาแล้ว แต่องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาครั้งหลังเป็นคนละองค์คณะกันกับครั้งแรก ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ จึงเป็นการทำคำพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่วนที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังว่า ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาใหม่ โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลของศาลชั้นต้นในขณะนั้น กับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่า ผู้พิพากษาทั้งสองคนนั้นเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้มาแต่ต้น อันจะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาในครั้งหลังได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นฉบับนี้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3474/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณาคดี: ศาลอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลรองรับคำสั่ง และต้องทำเป็นคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสวนยางพาราของโจทก์ทั้งสอง ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา โดยให้จำเลยนำเงินมาวางศาลทุกเดือนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (2) ตอนท้าย เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (2) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องทำเป็นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 และชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะได้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำพิพากษา มิใช่ทำเป็นคำสั่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างการพิจารณา ทั้งมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ประกอบด้วยมาตรา 246 คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นไต่สวนจนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด
คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ที่เสนอต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวาต้องอยู่ใต้บังคับของมาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา แก้ไขได้เฉพาะข้อผิดพลาดเล็กน้อย การเพิ่มความรับผิดเกินกว่าที่ตกลงกันไม่ได้
สัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้เมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 คำร้องขอของโจทก์ที่ขอแก้ไขคำพิพากษาเพิ่มความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย มิใช่คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เป็นการเพิ่มความรับผิดให้จำเลยต้องรับผิดมากขึ้น อันมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ จึงขอแก้ไขไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2927/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาลงลายมือชื่อโดยมิชอบ และการดำเนินการเรื่องคู่ความหลังมรณะไม่ถูกต้อง
โจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลย โดยจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์และไม่ปรากฏว่าได้คัดค้านคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาดังกล่าว แล้วต่อมา ย. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ กรณีจึงย่อมเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ของ ย. ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ ย. เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้นั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและเป็นข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้
คดีนี้ ศาลชั้นต้นโดยองค์คณะผู้พิพากษา 2 คน ได้ทำการพิจารณาและพิพากษายกฟ้องตามคำพิพากษา ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2548 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะนั้นเป็นผู้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มิถุนายน 2548 นั้น มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา โดยผู้พิพากษาคนดังกล่าวไม่ได้นั่งพิจารณาคดีนี้และมิใช่บุคคลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29(3) ที่จะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้วได้ ทั้งคดีนี้มิใช่เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มิถุนายน 2548 จึงเป็นคำพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
คดีมีประเด็นข้อพิพาทโต้แย้งกันว่า จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์หยุดทำกิจการทำไม้ป่าชายเลนที่ได้รับสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนเอกสารหมาย จ.4 เป็นการชั่วคราวอันจะเป็นเหตุให้จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนกับโจทก์หรือไม่ และจะต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายกับคืนเงินประกันในการที่จะต้องชำระเบี้ยปรับตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด อันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ในสำนวนตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วทำคำพิพากษาใหม่ต่อไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2548 โดยมิได้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยซ้ำอีกแล้วสรุปว่าโจทก์ไม่อาจเรียกเงินค่าชดเชย ค่าเสียหายและเงินวางประกันความเสียหายตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เนื่องจากขณะฟ้อง สัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลผูกพันจนสิ้นอายุสัมปทานตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ที่ทบทวนมติเดิมตามเอกสาร หมาย จ.35 เป็นทำนองว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั่นเอง ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว
of 189