คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มรดก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,786 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินบางส่วนที่เป็นมรดก และเรียกค่าเสียหายจากการให้เช่าโดยไม่ได้รับความยินยอม
ป.พ.พ. มาตรา 1566 และมาตรา 1574 ให้อำนาจผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ได้ การสละมรดกของผู้เยาว์เป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น การที่โจทก์ทั้งสามสละมรดกที่ดินพิพาทโดย ส. มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสามทำบันทึกตกลงสละมรดกของผู้ตายไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ขณะที่โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ ส. จึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทำบันทึกข้อตกลง ตามมาตรา 1574 (2) (4) ไม่ปรากฏว่า ส. ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำบันทึกข้อตกลงแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงที่ ส. ทำไว้ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามไม่เป็นการสละมรดกที่ดินพิพาท
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ตาย เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้สละมรดก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินจากธนาคาร ก. แล้วนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 มอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ยังคงมีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ 3 จัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ตามความต้องการ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการถือที่ดินพิพาทไว้แทน ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายจึงยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย
การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 กับ ป. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยมีข้อความตอนหนึ่งให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. หรือแก่บุคคลที่ ป. กำหนด โดยทายาทคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมด้วย และทำไปเพื่อต้องการให้ ป. ไปถอนฟ้องคดีอาญาจำเลยที่ 2 ข้อหายักยอก เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การจัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะกระทำให้มีผลผูกพันทรัพย์มรดกได้ คงมีผลผูกพันที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โดยปลอดจากภาระจำนองที่ดินทั้งแปลง เพราะการจำนองที่ดินพิพาทต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง
โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โดยยึดโยงจากการที่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าบ้านเลขที่ 262/1 อยู่บนที่ดินพิพาท ขณะฟ้องไม่ปรากฏว่าสัญญาเช่าเลิกกันแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาขายที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 1 นำบ้านดังกล่าวออกให้บุคคลอื่นเช่า เป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นก่อน แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทเป็นก่อให้เกิดภาระติดพันบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาท ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสามแสดงออกชัดว่า ไม่ยินยอม การให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทจึงขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทของผู้ตาย จึงเป็นผู้เสียหายชอบที่จะใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดในส่วนของผู้ตายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนระยะเวลาการชดใช้ค่าเสียหายนั้นให้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่มีการเช่าบ้านเลขที่ 262/1 หรือจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท หรือจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดระยะเวลาให้ถึงวันที่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกโดยผู้จัดการมรดก การแบ่งมรดก และผลกระทบต่อสิทธิทายาทอื่น
เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินทั้ง 7 แปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 และ 1629 ซึ่งทายาทโดยธรรมของ ช. คือโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกในส่วนของตนได้
แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่นำที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นตามสิทธินั้น เป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมไม่ทำให้จำนองเสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของการสั่งให้เป็นคนสาบสูญต่อสิทธิในทรัพย์สินและการนับอายุความฟ้องเรียกคืน
ตามบทบัญญัติมาตรา 62 ป.พ.พ. การที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และโดยผลของมาตรา 1602 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ม. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ม. ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ม. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมายนับแต่นั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์ฟ้องพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ประกอบมาตรา 63 หรือไม่ นั้น โดยผลของมาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แม้โจทก์จะกลับมาเมื่อปี 2557 และทราบว่า ม. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของ ม. ไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตายไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่าศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 419 จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2833/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกกรณีหนี้สินค่าสินสอด: สิทธิเรียกร้องของกองมรดกต่อลูกหนี้และการแบ่งทรัพย์สินให้ทายาท
หนังสือแจ้งความจำนงชำระเงินที่ยืมมีข้อความว่า ธ. ได้ยืมเงินจากผู้ตาย จำนวน 1,000,000 บาท โดยผู้ตายให้ ธ. ผ่อนชำระเดือนละ 4,000 บาท จนเดือนสิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ผ่อนชำระไปแล้ว 48,000 บาท คงเหลือ 952,000 บาท และจะขอผ่อนชำระกับโจทก์ทั้งสอง (ภริยาผู้ตาย) เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ และ ธ. ได้เบิกความยอมรับว่าเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวด้วยตนเองโดยทำขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เหตุที่ทำเอกสารดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ทั้งสองทวงถามเงินจาก ธ. เมื่อ ธ. มีความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้แก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเท่านั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสองได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ได้ชำระเงินคืนแก่กองมรดกเพียงใด จึงยังไม่มีตัวเงินที่จะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกต้องไปว่ากล่าวเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเพื่อรวบรวมและแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสองต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมรดก, การจัดการมรดกสิ้นสุดเมื่อใด, การยินยอมทายาทต่อการจัดการมรดก
โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงรวมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท 2 แปลง เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ณ. เจ้ามรดก และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งหมดรวมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งห้า โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์แต่ละคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ต่างได้รับมรดกดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน รวม 6 ส่วน คิดเป็นเงินรวม 398,200 บาท จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งหมดรวมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดก แม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่ดินทั้งสี่ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องคิดแยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับ มิใช่กรณีนำเฉพาะราคาที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27623 มาคิดแยกรายแปลงเป็นทุนทรัพย์ของโจทก์ทั้งห้า
มูลเหตุที่โจทก์ทั้งห้าอ้างนำคดีนี้มาฟ้องเกิดจากการที่ ท. ผู้จัดการมรดกละเลยและไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ บ. ทายาทอย่างถูกต้อง อันเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 เมื่อ ท. และ บ. ถึงแก่ความตายก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้สืบสันดานของ บ. จึงสืบสิทธิของ บ. มาฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ได้บัญญัติเรื่องอายุความในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไว้โดยเฉพาะว่า ห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสิทธิของ บ. เช่นเดียวกับโจทก์ทั้งห้า ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิของ บ. ยกอายุความห้าปีตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกโดยภริยาผู้รับโอนเกินสิทธิและอายุความมรดก การแบ่งสินสมรสและทรัพย์มรดก
การฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด หากพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) เมื่อส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงกึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ศาลย่อมพิพากษาเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ดินกึ่งหนึ่งกลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตายได้
เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกทั้งหมดให้ตนเอง รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่เป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับโอนมรดกของผู้ตายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทรัพย์มรดกของผู้ตายกลับคืนกองมรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท จึงเป็นคดีมรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งปันกันโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 24990 ถือว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย จึงไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์และโจทก์ร่วมได้ คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกผู้ตาย อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1635 (2) ที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะสินสมรสกึ่งหนึ่ง และในฐานะทายาทผู้รับมรดกอีกกึ่งหนึ่งรวมเป็นสามในสี่ส่วนของที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายทั้งแปลง และเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ซึ่งเป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 225 และมาตรา 252
of 179