คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สถานะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยสถานะผู้เสียหายในคดีอาญา: การพิจารณาจากพฤติการณ์การทะเลาะวิวาทและผลกระทบต่อสิทธิการเรียกร้องค่าสินไหม
ในการพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น เพราะคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้น จึงจะฟังลงโทษจำเลยได้ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะมีผลผูกพันคดีอื่นได้ก็เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอื่นไม่ผูกพันในคดีนี้ ศาลก็ย่อมวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอื่นแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจร้องสอด: ศาลวินิจฉัยสถานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อพิจารณาการมีส่วนได้เสียในคดีมรดก
การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดหรือไม่ มีประเด็นต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ ประเด็นว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีอำนาจร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความได้หรือไม่ และประเด็นว่ากรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้เข้ามาในคดีได้หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในคดีนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจร้องสอดของผู้ร้อง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกคำร้องสอดหรือนอกประเด็น แม้คำวินิจฉัยที่ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบ ของเจ้ามรดกมีผลกระทบต่อสิทธิ ของโจทก์ในฐานะทายาทของเจ้ามรดก ซึ่งทำให้โจทก์มีสิทธิฎีกา ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ใช่ภริยาโดยชอบก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาสำคัญที่สมควรนำไปวินิจฉัย ในคดีที่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาโดยตรงของคดีเมื่อคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ ฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ที่ยกคำร้องสอด เพราะไม่เห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ปัญหาในเรื่องการร้องสอดของผู้ร้องจึงยุติไปแล้ว การที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ ไม่ว่าวินิจฉัยในทางใดย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลล่าง ฎีกาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ในคดีนี้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งคำสั่งอายัดทางไปรษณีย์ต้องพิสูจน์อายุและสถานะของผู้รับแทนตามกฎหมาย
การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้รับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7423/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์: ผู้ร้องไม่จำเป็นต้องบรรยายสถานะบุคคลภายนอกของผู้คัดค้านในคำร้อง
ในชั้นยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์นั้น ผู้ร้องทั้งสองเพียงแต่บรรยายให้ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ โดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามมาตรา 172 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.พ. แล้ว ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุคคลภายนอกและได้ทรัพย์ที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอครอบครองปรปักษ์มาโดยสุจริตหรือไม่ไม่ใช่สภาพแห่งข้อหาหรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่จำต้องบรรยายมาในคำร้องขอ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานผู้ร้องทั้งสองและพยานผู้คัดค้านแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้บรรยายให้ปรากฏในคำร้องว่า ผู้คัดค้านมิใช่บุคคลภายนอก และซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจยกเรื่องการครอบครองปรปักษ์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นยันผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้แล้วพิพากษายกคำร้องขอ จึงเป็นการไม่ชอบ
แม้ตามอุทธรณ์และฎีกาจะขอให้ศาลสูงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลล่างก็ตาม แต่เมื่อผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และศาลฎีกามีผลเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีหรือไม่เท่านั้น จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ดังนั้น จึงให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้าง: ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้าง แม้ได้รับเงินเดือน
โจทก์เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่เริ่มบริษัทจำนวน 16,000 หุ้น เป็นอันดับสามจากผู้ถือหุ้น 8 คน แต่ในปี 2544 ถือหุ้นจำนวน 40,000 หุ้น เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันเริ่มตั้งบริษัทจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2546 โจทก์ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ ก. โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงเดือนมกราคม 2546 การบริหารงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน โจทก์จึงมิใช่พนักงานที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยจึงมิใช่ได้รับในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ส่วนการที่โจทก์บริหารงานภายใต้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นเพียงวิธีการครอบงำบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1144 เท่านั้น หาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะเจ้าพนักงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายอาญา มาตรา 157
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามบทนิยามแห่ง ป.อ. มาตรา 1 (16) ที่บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ เมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงดังกล่าว และไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงหรือที่มีฐานะเป็นกระทรวงตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จำเลยทั้งสิบสองซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รักษาการแทนรองอธิการบดี รักษาการแทนคณบดี หัวหน้าส่วน และเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป และเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะทั้งฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 12 ที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ จำเลยที่ 1 มีคำสั่งย้ายโจทก์ และจำเลยทั้งสิบสองกระทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ตามคำฟ้อง จึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 1 (16)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะทายาทและการฟ้องยักยอกทรัพย์มรดก: ผู้ไม่เป็นทายาทฟ้องไม่ได้
โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบจะได้ความว่า จำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตาม ป.อ. มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น: ผู้รับมอบฉันทะต้องมีสถานะผู้ถือหุ้น
ตามข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นประธานในที่ประชุมได้ ต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและได้รับเลือกจากที่ประชุมในขณะนั้นให้เป็นประธาน พ. ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่ได้รับมอบฉันทะจากผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โดยตามหนังสือมอบฉันทะระบุว่า ให้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนผู้คัดค้านที่ 2 พ. จึงมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนตามที่ได้รับมอบฉันทะเท่านั้น ไม่มีอำนาจกระทำการอื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวหาทำให้ พ. มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดไม่ เพราะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสถานะเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นเป็นแทนได้ การที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเลือก พ. เป็นประธาน แล้ว พ. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นย่อมขัดต่อข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจทำให้การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการประชุมและลงมติโดยไม่ชอบ จึงต้องเพิกถอนการลงมติในการประชุมครั้งดังกล่าว
of 18