คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อนุญาโตตุลาการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 274 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535-13536/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศในช่วงฟื้นฟูกิจการ: ศาลมีอำนาจปฏิเสธการบังคับตามกฎหมายล้มละลาย
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศบาฮามาส ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของผู้ร้อง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องและให้ผู้ร้องบริหารแผนและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้อง ระหว่างนั้นอันเป็นช่วงเวลาที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดโดยมีข้อตกลงให้นำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ภายใต้กฎการอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติและให้ใช้กฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์บังคับแก่สัญญา ต่อมาผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องผิดสัญญาจึงนำข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ชี้ขาดว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาและให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน โดยระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง แต่ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลาง ดังนี้ แม้การเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ชี้ขาดนั้นจะเป็นการดำเนินการไปตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ซึ่งต้องดำเนินการไปตามข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิง (Term of Reference) ของอนุญาโตตุลาการและกฎหมายภายในของประเทศสิงคโปร์ และมีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านที่จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำเอาผลคำวินิจฉัยชี้ขาดมาบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ในประเทศไทย ในขณะที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการย่อมเป็นการกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องตามมาตรา 90/12 (4) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งต้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลางก่อน มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าหนี้ในราชอาณาจักรกับเจ้าหนี้นอกราชอาณาจักรซึ่งมาตรา 90/12 (4) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้จำกัดหรือแยกให้แตกต่างกัน แม้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์จะเป็นไปตามข้อตกลงและดำเนินการตามข้อกำหนดและกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และอาจไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนได้ แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำคำชี้ขาดมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องในประเทศไทยก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่อาจนำหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์มาบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของผู้ร้องในคดีล้มละลายได้ เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13534/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศภายใต้อนุสัญญา NYC และกฎหมายอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศเยอรมนี ทำสัญญาซื้อสินค้าจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย โดยมีข้อตกลงให้ชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนี ต่อมาผู้คัดค้านผิดสัญญาส่งสินค้าให้แก่ผู้ร้องไม่ครบจำนวน ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการสมาคมการค้าส่งและการค้าระหว่างประเทศแห่งตลาดหลักทรัพย์ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนีมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน และนำคำชี้ขาดมาขอบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ต่อศาลในประเทศไทย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและคำร้องแย้งขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว กรณีนี้แม้มาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จะบัญญัติถึงเหตุในการเพิกถอนคำชี้ขาดไว้เฉพาะตามวรรคสาม (1) (ก) ถึง (จ) โดยไม่ได้บัญญัติชัดเจนถึงอำนาจของศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศหรือที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติในมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ลักษณะของการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า ในกรณีที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่หากปรากฏว่ามีเหตุหนึ่งเหตุใดเข้าลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 หรือมาตรา 43 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดหรือมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น แต่เหตุที่มาตรา 40 มิได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศเหมือนดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเพื่อให้มีการใช้อำนาจศาลให้เหมาะสมสอดคล้องกับข้อตกลงหรืออนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศนั้น ๆ ตามหลักการปฏิบัติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลให้เกิดปัญหาการขัดกันของการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศภาคีสมาชิก โดยเฉพาะคำชี้ขาดในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อสินค้าอันเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศเยอรมนีและประเทศไทยต่างเป็นประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับ นครนิวยอร์ค ค.ศ.1958 ซึ่งมีขอบเขตการใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นแม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการตามมาตรา 9 แต่เมื่อปรากฏว่าข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก การรับคำร้องแย้งของผู้คัดค้านไว้จึงไม่เป็นการสะดวกเพราะจะไม่สอดคล้องกับการอนุวัตรการตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพันต่อประเทศภาคีสมาชิก คำร้องแย้งของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11949/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทการจัดส่งสินค้าผิดเกรด ไม่ต้องอนุญาโตตุลาการก่อนฟ้อง
จำเลยกล่าวอ้างว่า ข้อพิพาทระหว่างผู้ขายกับจำเลยตามสัญญาซื้อขายเกี่ยวกับการชำระเงินค่าซื้อสินค้ายางพาราธรรมชาติชนิดแผ่น เกรด RSS 3 โดยจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายและให้จัดส่งไปยังลูกค้าของจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ขนส่ง แต่ปรากฏตามใบตราส่งว่า สินค้าเป็นเกรด RSS 1 ซึ่งไม่ตรงกับเกรดของสินค้าที่ระบุไว้ข้างหีบห่อบรรจุสินค้า ลูกค้าของจำเลยจึงปฏิเสธไม่รับสินค้า เหตุดังกล่าวมิใช่ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับคุณภาพหรือสภาพของสินค้ายางพาราธรรมชาติชนิดแผ่นเกรด RSS 3 ตามสัญญาที่จะต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการก่อน แต่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าแก่ลูกค้าของจำเลยซึ่งมีการจัดส่งผิดไปจากที่ระบุไว้ อันมิได้อยู่ในขอบข่ายที่จะต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ ผู้ขายจึงไม่ผูกพันที่จะต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการแก่จำเลยก่อนฟ้องคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11235/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ: ศาลสั่งจำหน่ายคดีให้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญา
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาที่ตกลงกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจไม่ช้ากว่าวันยื่นคำให้การหรือภายในระยะเวลาที่มีสิทธิยื่นคำให้การตามกฎหมายให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ทำคำร้องยื่นต่อศาลให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีภายในกำหนดระยะเวลาตามความใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 แต่ได้ยื่นคำให้การโต้แย้งไว้แล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการก่อน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุดังกล่าว และแม้คำให้การจำเลยที่ 1 จะปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ในเรื่องอื่น ๆ ด้วยและขอให้ยกฟ้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 สละข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามที่ระบุไว้ในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6690/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเกินกำหนด โดยการยื่นต่อศาลที่ไม่มีอำนาจ และการขยายเวลาตามกฎหมาย
ผู้ร้องได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง ครบถ้วนแล้วด้วยการนำคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดยื่นต่อศาลภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด เพียงแต่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และขณะที่ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีเป็นเวลาที่กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 40 วรรคสองของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ครบกำหนดไปแล้ว และการจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางก็เนื่องมาจากเหตุผลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมมิได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางจึงเป็นคำสั่งอันเนื่องมาจากบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 การที่ผู้ร้องนำคดีมาร้องใหม่ภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี จึงเป็นการนำคดีไปร้องเพื่อดำเนินคดีใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ อันเนื่องจากการมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 13 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3385/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลที่งดสืบพยานชอบด้วยกฎหมายเมื่อผู้ถูกบังคับยกเหตุขัดแย้งคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการได้ และการอุทธรณ์คำสั่งศาลระหว่างพิจารณาต้องห้าม
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า ผู้คัดค้านก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนไม่เกินร้อยละ 5 และได้รับยกเว้นตามกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้สามารถทำได้แต่อนุญาโตตุลาการกลับวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไปโดยไม่นำข้อกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านต่อศาลชั้นต้นอย่างชัดแจ้งแล้วย่อมมีสิทธินำสืบพิสูจน์เพื่อให้ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำคัดค้านของผู้คัดค้านไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และเป็นการคัดค้านไม่ตรงประเด็น ไม่มีประเด็นที่ผู้คัดค้านจะนำสืบพิสูจน์ แล้วให้งดการสืบพยานเป็นการไม่ชอบ เป็นอุทธรณ์ในทำนองว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานของผู้คัดค้าน เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 บัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องต่อศาล และเมื่อศาลได้รับคำร้องแล้วให้รีบทำการไต่สวนและมีคำพิพากษาโดยพลัน และศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ โดยเหตุแห่งการปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ได้แก่ เหตุที่คู่ความต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นตามมาตรา 43 ประการหนึ่ง และเหตุที่ศาลอาจยกขึ้นได้เองตามมาตรา 44 อีกประการหนึ่ง ผู้ซึ่งจะต้องถูกบังคับย่อมมีสิทธิยกข้อที่จะเป็นเหตุให้ศาลปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดตามบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้คัดค้านคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดได้และศาลต้องทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ความชัดแจ้งว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้นหรือไม่
ผู้คัดค้านอุทธรณ์กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยานของผู้คัดค้านโดยมีคำขอเพียงให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของผู้คัดค้านแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ มิได้มีคำขอให้ผู้คัดค้านชนะคดีตามคำคัดค้าน แม้จะโต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ก็เป็นเพียงเหตุผลประกอบการอุทธรณ์คัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1730-1731/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการขัดต่อสัญญาและไม่เป็นธรรม ศาลมีอำนาจปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดได้
อุทธรณ์ของผู้ร้องซึ่งกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงมีอำนาจอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกันกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด
สัญญาให้บริการโทรศัพท์พกพา (สัญญา TPS) ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านกำหนดสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านเกี่ยวกับที่มาและเงื่อนไขการคืนทรัพย์สินในกรณีผู้คัดค้านผิดสัญญาแล้ว ผู้ร้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาว่า ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือเงินคืนจากผู้ร้องและต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่ผู้ร้องในสภาพที่ดีและใช้งานได้ในทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอีกว่ากรณีความเสียหายเกิดขึ้น ให้ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเงินจากธนาคาร ผู้ออกหนังสือค้ำประกันทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควรเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้คัดค้านยังมีหนี้ค้างชำระแก่ผู้ร้องอยู่ ย่อมถือว่าผู้ร้องได้รับความเสียหาย ภายหลังจากผู้ร้องบอกเลิกสัญญาแล้วสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องรับมอบทรัพย์สินจากผู้คัดค้านและให้ผู้ร้องชดใช้มูลค่าทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้าน โดยไม่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้ รวมทั้งไม่กำหนดว่าหากผู้คัดค้านไม่สามารถส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้ให้ผู้คัดค้านใช้เงินแทนมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน และการชี้ขาดให้ผู้ร้องคืนเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้านโดยไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องนำไปหักจากหนี้ที่ผู้คัดค้านยังค้างชำระแก่ผู้ร้องตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่เป็นตามสัญญา การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11454/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การเพิกถอนคำชี้ขาด และการใช้ดุลพินิจปรับบทกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าจ้างงวดที่ 18 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด รวมถึงการหักจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าจ้างที่ชำระ เป็นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่เป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องต้องห้ามเพราะมิใช่กรณียกเว้นให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2)
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง กำหนดให้คู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขคำชี้ขาด ก็นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว โดยไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญเท่านั้น แม้จะเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญ หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คู่พิพาทก็อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในวันที่ 8 มีนาคม 2548 แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ตีความหรืออธิบายข้อความในคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการมีการแก้ไขคำชี้ขาดในข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 ซึ่งเมื่อนับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดข้างต้นยังไม่เกินเก้าสิบวัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องดังกล่าวได้
ข้อพิพาทในส่วนเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญาและค่าวัสดุก่อสร้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้าง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงหาได้เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดแต่อย่างใดไม่
การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ยังให้สิทธิแก่คู่พิพาทที่จะตกลงวิธีพิจารณากันได้ และในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกัน หรือ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม ยังให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม คดีนี้ชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเบี้ยปรับว่า ผู้ร้องคดีนี้มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือไม่ เพียงใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบงานแก่ผู้ร้องล่าช้า อันเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่ผู้ร้องตามสัญญา แต่เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้สงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับในเวลารับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ทั้งเป็นไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ได้ยกข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง ก็หาทำให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10057/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยศาลที่ถึงที่สุด การวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลล่างที่ยังไม่ถึงที่สุดขัดต่อเจตนาคู่ความ
ในการดำเนินกระบวนการของอนุญาโตตุลาการนี้ เป็นอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ซึ่งมีข้อบังคับสมาคมประกันวินาศภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการข้อ 22 ว่า "อนุญาโตตุลาการต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามหลักกฎหมายและความยุติธรรม และบันทึกข้อตกลงต่างๆ ที่คู่พิพาทมีต่อกัน" ดังนั้น อนุญาโตตุลาการจึงต้องชี้ขาดไปตามข้อบังคับดังกล่าว เมื่อคู่ความตกลงให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยอนุโลมตามคำวินิจฉัยของศาล อนุญาโตตุลาการจึงต้องผูกพันวินิจฉัยไปตามคำวินิจฉัยของศาลตามที่คู่ความตกลงกัน ซึ่งแม้ตามรายงานลงวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จะไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของศาลนั้นต้องถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คำพิพากษาของศาลต่างชั้นกันมีผลแตกต่างกันนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่า การที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยถือตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งยังไม่ถึงที่สุด จึงอาจขัดต่อผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาที่เป็นศาลสูงกว่า และตามกฎหมายกำหนดให้เป็นคำพิพากษาที่จะต้องถือตาม จึงย่อมต้องแปลความตามความมุ่งหมายหรือเจตนาอันแท้จริงของคู่ความว่าคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวหมายถึงคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดแล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลล่างที่อาจไม่มีผลให้ถือตาม จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิได้เป็นไปตามที่คู่ความได้ตกลงกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ศาล ทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9691/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ผู้รับโอนมีอำนาจยื่นคำร้องบังคับคดีได้
สิทธิเรียกร้องของคู่พิพาทฝ่ายชนะคดีที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจากคู่พิพาทฝ่ายแพ้คดีเป็นสิทธิเรียกร้องที่จะพึงโอนกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง การที่บริษัท บ. คู่พิพาทฝ่ายชนะคดีทำหนังสือ ขอโอนสิทธิการรับชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องตกลงชำระค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิการรับชำระหนี้ดังกล่าวนั้น เป็นสัญญาการโอนหนี้อันผู้คัดค้านจะพึงต้องชำระแก่บริษัท บ. โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อมีการแจ้งโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านทราบแล้ว จึงถือว่าบริษัท บ. และผู้ร้องได้ปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 306 บัญญัติแล้ว สิทธิเรียกร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงตกเป็นของผู้ร้อง ที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะได้ทำขึ้นในประเทศใดให้ผูกพันคู่พิพาท และเมื่อได้มีการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจย่อมบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น" และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาล..." นั้น คำว่า "คู่พิพาท" ตามบทมาตราดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะคู่สัญญาในสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้นแต่หมายรวมถึงผู้ที่สืบสิทธิตามสัญญาทั้งโดยผลของกฎหมายและโดยผลของสัญญาด้วย
of 28