คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไขคำฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 190 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องคดีผู้บริโภค: ศาลอนุญาตแก้ไขได้หากคำฟ้องยังขาดสาระสำคัญ แม้โจทก์เป็นผู้ยื่นขอแก้ไขเอง
การแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้" การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2553 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีคนร้ายวางเพลิงเผาทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ก่อนยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจากคำว่าวันที่ 24 เมษายน 2553 โดยขอเพิ่มเติมข้อความว่า "และโจทก์ยังได้ต่ออายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยโดยเริ่มคุ้มครองวันที่ 24 เมษายน 2553 ครบระยะเวลา 1 ปี ในวันที่ 24 เมษายน 2554 ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังอยู่ในอายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย" ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นผู้บริโภคและดำเนินคดีมาอย่างคดีผู้บริโภค ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ศาลตรวจคำฟ้องของผู้บริโภคด้วยว่า" หากเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้" และตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องมานั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลก็อาจมีคำสั่งให้โจทก์นั้นแก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้ แม้คดีนี้โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาเองก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภคที่ขาดสาระสำคัญนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการขอแก้ไขก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด อีกทั้งปัญหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นได้อยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แล้วจะมาแก้ไขให้สมบูรณ์นั้นไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 จึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสองดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10811/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมข้อเรียกร้องและทุนทรัพย์: ศาลรับคำฟ้องได้หากยื่นก่อนกำหนด
สาระสำคัญในคำฟ้องภายหลังที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องคือ โจทก์ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ทำกับจำเลย ให้แก่บริษัท อ. ในราคา 370,000,000 บาท โดยโจทก์รับเงินมัดจำมาแล้ว 20,000,000 บาท การที่จำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไปขายให้แก่บุคคลอื่นทำให้โจทก์ขาดกำไรอีก 169,990,001 บาท รวมค่าเสียหายตามคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 232,990,001 บาท คำฟ้องภายหลังนี้เป็นการเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไปขายให้บุคคลอื่น ทำให้โจทก์เสียหาย โดยเพิ่มเติมว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องผิดสัญญากับบริษัท อ. และขาดกำไรไปอีก 169,990,001 บาท จึงเป็นการเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ และเพิ่มทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิม ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้ก็เกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (1) (2) และวรรคท้าย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำฟ้องภายหลังของโจทก์ไว้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินรวมกับคำฟ้องเดิมของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6513/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และผลของการแก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนตัวโจทก์
ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลนั้น ต้องมีสภาพเป็นบุคคล ดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติไว้ว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งคำว่า บุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มี ส. จดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบพาณิชยกิจ แต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลได้
ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนชื่อคู่ความและรายละเอียดในคำฟ้อง เป็นเพียงการระบุถึงตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำการแทนห้างหุ้นส่วนสามัญ ศ. เท่านั้น มิได้มีความหมายว่า ส. เป็นผู้ฟ้องคดีเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด ทั้งการขอแก้ไขคำฟ้องโดยการเปลี่ยนตัวบุคคลผู้เป็นโจทก์ มีผลเป็นการเพิ่มตัวบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความคนใหม่ ย่อมไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 179 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17023/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ดอกเบี้ยผิดนัด และการแก้ไขคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึงวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 8 ธันวาคม 2553 พร้อมระบุจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมด จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมตรวจสอบได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์แล้วหรือยังและค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างก็ย่อมเป็นผลจากการตรวจสอบรายละเอียดการทำงานและการจ่ายค่าจ้างแล้ว ทั้งรายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายแต่ละเดือนนั้น โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ถือว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี" ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการคัดค้านก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่ง แต่ภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลาง ถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี, การแก้ไขคำฟ้อง, คำให้การไม่ชัดเจน, และผลของการมอบอำนาจในการฟ้องคดี
เดิมโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายที่แก้ไขใหม่จึงมีใจความว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์นับแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน ในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอใช้โอกาสยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การยกข้อต่อสู้ใหม่หักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่กล่าวมาในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 181 (2) แต่จำเลยไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อหักล้างข้ออ้างใหม่ของโจทก์ และยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนแล้วเสร็จสิ้นกระแสความในวันนั้นเอง เท่ากับว่าจำเลยยังคงให้การยกข้อต่อสู้ว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแห่งการนั้นตามเดิมว่า จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยไม่ทราบว่านับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 เรื่อยมา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้อย่างไร เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาเช่า ซึ่งเป็นข้อต่อสู้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเดิม จึงเป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการนั้น ไม่ตรงกับคำฟ้องที่แก้ไขใหม่ ถือว่าคำให้การจำเลยในประเด็นข้อนี้ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า คำฟ้องในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและรับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจะมาฎีกาในประเด็นข้อนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10971/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องคดีแรงงาน & ข้อตกลงจำกัดอาชีพที่ไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาชี้ขาดประเด็นการบังคับใช้และขอบเขตที่เหมาะสม
ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณากำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดหน้าที่นำสืบ พยานจำเลยไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ต้องนำการชี้สองสถาน ป.วิ.พ. มาตรา 183 มาใช้บังคับ เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ได้ เดิมศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 28 เมษายน 2548 แล้วเลื่อนคดีไปเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 จึงถือเอาวันนัดสืบพยานเดิมเป็นวันสืบพยานไม่ได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องวันที่ 28 เมษายน 2548 เป็นการยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ไม่น้อยกว่า 7 วัน แล้ว ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องที่ขอแก้ไขพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179, 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ตามหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานกับตามหนังสือสัญญาให้คำยินยอมของพนักงานห้ามโจทก์เฉพาะไม่ให้โจทก์ไปทำงานในบริษัทคู่แข่งหรือไม่ไปทำงานบริษัทอื่นใดที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยและบริษัทในเครือในลักษณะที่จะสามารถแข่งขันกับจำเลยได้ภายในระยะเวลาตามกำหนดเท่านั้น มิได้เป็นการตัดการประกอบอาชีพของโจทก์เสียทั้งหมด อีกทั้งจำเลยยินดีมอบหุ้นของจำเลย 1,000 หุ้น เป็นการให้เปล่าแก่โจทก์หลังจากจำเลยแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้วอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนต่อกันในเชิงการประกอบธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจขายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อมีคู่แข่งทางการค้ากับจำเลย จำเลยมีข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนในการวางระบบและอุปกรณ์เป็นความลับทางการค้า โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการร้านสะดวกซื้อ มีหน้าที่จัดวางระบบ จัดเตรียมอุปกรณ์และร้านให้ลูกค้า ซึ่งเป็นการดูแลงานโครงสร้างร้านค้าของลูกค้า โจทก์จึงมีโอกาสทราบความลับทางการค้าของจำเลย และในการติดต่อลูกค้าให้เปิดร้านแฟรนไชส์ต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว การจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์อันเป็นการแข่งขันกับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 11 เดือน นับจากวันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยจึงไม่ทำให้โจทก์ผู้ถูกจำกัดสิทธิต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีมโนสาเร่: ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขคำฟ้องได้หากไม่ชัดเจน แม้ไม่จำเป็นแต่ไม่ทำให้เสียหายต่อสิทธิ
คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นคดีมโนสาเร่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 189 (1) ซึ่งกรณีโจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 191 วรรคสอง ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาความที่กำหนดไว้สำหรับการพิจารณาคดีมโนสาเร่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้ดุลพินิจศาลที่จะสั่งหรือไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, การแก้ไขคำฟ้อง, และข้อตกลงสละประเด็นข้อต่อสู้ในคดีสัญญากู้ยืม
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขชื่อจำเลยที่ 1 ในคำฟ้องของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจาก "บริษัทโกลเด้นไพล จำกัด" เป็น "บริษัทโกลเด้นไฟล จำกัด" เป็นการขอแก้ไขเพียงตัวพยัญชนะ "พ" ในคำว่า "ไพล" เป็น "ฟ" ในคำว่า "ไฟล" เท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามขอ
จำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องโดยโต้เถียงความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไว้ แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามได้แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์แล้ว และจำเลยทั้งสามมิได้สืบพยานอีกด้วย คดีในศาลชั้นต้นจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามไม่ติดใจโต้เถียงเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ถูกต้องอีก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และต้องฟังว่าโจทก์มอบอำนาจฟ้องถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องและอำนาจฟ้องในคดีภาษีอากร: การแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจเป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่แก้ไขได้
การที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจตามที่บรรยายในคำฟ้องจากชื่อ "นายธีรพงษ์" เป็น "นายชีระพงษ์" เป็นเพียงการขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยซึ่งสามารถกระทำได้ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องให้จำเลยมีโอกาสคัดค้าน และไม่ต้องส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) และมาตรา 181 (1) ส่วนกรณีที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อ "นายธีระพงษ์" ตามที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจเป็น "นายชีระพงษ์" นั้นหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการยื่นคำฟ้อง มิใช่คำฟ้องที่โจทก์จะขอแก้ไขได้
การที่โจทก์นำสืบว่าหนังสือมอบอำนาจพิมพ์ชื่อผิดโดยอักษรตัวแรกของชื่อแทนที่จะเป็น "ช" กลับพิมพ์เป็น "ธ" มิใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารแต่เป็นการนำสืบอธิบายความเป็นมาของหนังสือมอบอำนาจเพื่อยืนยันคำฟ้องที่แก้ไขแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องชื่อกรรมการผู้มีอำนาจ และอำนาจฟ้องคดีภาษีอากร การแก้ไขชื่อที่ถูกต้องเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่ไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลย
การขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจที่พิมพ์อักษรบางตัวผิดไปในฟ้อง ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถกระทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องให้จำเลยมีโอกาสคัดค้าน และไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลยทราบล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2), 181 (1) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช.กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจจริง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
of 19