คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เช็ค

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,865 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วันออกเช็คคือวันที่ระบุในเช็ค แม้จะมอบเช็คพร้อมสัญญาเงินกู้ภายหลัง การออกเช็คโดยไม่มีเงินรองรับเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็คฯ นั้น วันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหรือมอบเช็คให้แก่ผู้เสียหายหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า หลังจากที่ผู้เสียหายได้รับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและเช็คพิพาทแล้วผู้เสียหายก็มอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยในวันเดียวกันนั้น โดยปรากฏว่าวันสั่งจ่ายเช็คที่ลงในเช็คพิพาทตรงกับวันครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แสดงว่าขณะที่เช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือเป็นวันออกเช็คนั้น มูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวย่อมสมบูรณ์และมีหลักฐานเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีเช็ค - การลงวันที่เช็คโดยผู้ทรงเช็คหลังรับโอน และการยินยอมโดยผู้สั่งจ่าย
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าจ้างให้ดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้ค่าจ้างดังกล่าวแก่โจทก์ แม้จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดในมูลหนี้ที่แตกต่างกัน แต่ข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุรากฐานแห่งหนี้ที่โจทก์ฟ้องเกิดจากการกระทำอันเดียวกัน คือจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์และค้างชำระหนี้ค่าจ้างอันเดียวกันจำเลยทั้งสามจึงมีส่วนได้เสียร่วมกันตามกฎหมาย อันถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามรวมกันมาในคดีเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายและโจทก์เป็นผู้ลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับภายหลังโจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมาแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่สมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้นั้นได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับโดยชอบตามกฎหมายย่อมลงวันที่ใดก็ได้ เมื่อตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับปรากฏว่า โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ และวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ และตามใบคืนเช็คปรากฏว่า ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ และวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันสั่งจ่ายคือวันที่ 15 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6028/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้เช็ค, การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย, และขอบเขตอำนาจศาล
จำเลยที่ 1 ยกข้อต่อสู้เรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ แม้จำเลยที่ 3 ให้การไม่ชัดแจ้งทำให้คำให้การของจำเลยที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ และจำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ว่า พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญดังเช่นที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ก็ตาม แต่คดีนี้มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ป.วิ.พ. มาตรา 59 บัญญัติให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน กระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ย่อมถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 3 ด้วย เพราะมิใช่เป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) จำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าเช็คธนาคาร ธ. เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 นำไปขายลดให้แก่บริษัท ง. ตามสัญญาขายลดเช็ค จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คเสร็จสิ้นแล้ว เช็คธนาคาร ธ. เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ประเภทอื่น แต่พยานจำเลยที่ 1 คงมีเพียง พ. ทนายจำเลยที่ 1 ปากเดียวเบิกความว่าเช็คธนาคาร ธ. เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท ง. หลังจากมีการเดินบัญชีตามสัญญาขายลดเช็คแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบปฏิเสธว่าเช็คธนาคาร ธ. เป็นเช็คที่สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ประเภทอื่นดังที่ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การทั้งไม่ปรากฏว่าบริษัท ง. กับจำเลยที่ 1 มีหนี้ประเภทอื่นที่ต้องชำระต่อกันอีก ดังนั้น แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า เช็คธนาคาร ธ. ไม่ใช่เช็คที่จำเลยที่ 1 นำไปขายลด แต่เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายภายหลังเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท ง. ก็ตาม ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ธ. เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค และหนี้เงินต้นจำนวน 185,908.46 บาท ที่ค้างชำระอยู่ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2542 เป็นหนี้ค้างชำระตามสัญญาขายลดเช็คตามที่โจทก์ฟ้องนั่นเองซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 กรณีไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ผู้ทรงเช็คฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คมาบังคับแก่คดีดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างมาในฎีกาได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นย่อมเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้วศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การมีใจความสำคัญเพียงว่า พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ของรัฐสั่งปิดกิจการและขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินได้โดยไม่มีเหตุสมควรและกำหนดราคาขายได้ตามอำเภอใจ ทำให้ขายสินทรัพย์ได้ในราคาต่ำโดยที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินยังคงเป็นหนี้เท่าเดิม เป็นการจำกัดและลิดรอนสิทธิของประชาชนไม่ให้เป็นไปโดยอิสระตามกลไกตลาด ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน คำโต้แย้งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ มาตราใดที่ให้อำนาจหน้าที่ของรัฐสั่งปิดกิจการและขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินได้ โดยไม่มีเหตุสมควรและกำหนดราคาขายได้ตามอำเภอใจ และขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตราใดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จึงไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นกรณีที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 การที่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ส่งคำโต้แย้งของจำเลยที่ 1 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว และคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวก็มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6008/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้โดยระบุรายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 เช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้เฉพาะราย
ป.พ.พ. มาตรา 328 บัญญัติว่า "ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายใดถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน..." แสดงว่ากฎหมายให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะระบุว่าจะชำระหนี้รายใดรายหนึ่งก็ได้ หรือไม่ระบุก็ได้ หากระบุไว้ก็ต้องชำระหนี้รายที่ระบุไว้นั้นตามความประสงค์ของลูกหนี้ เมื่อฟังว่าจำเลยออกเช็คตามใบส่งของอันเป็นการระบุโดยปริยายไว้แล้วว่าให้ชำระหนี้รายใดตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ตัวตนผู้ขนส่งทางทะเลและการรับผิดของผู้ออกเช็คชำระค่าขนส่ง
แม้ในใบตราส่งช่องลายมือชื่อของผู้ขนส่งที่มุมขวาด้านล่างจะใช้คำว่า VIRGO LINE by LEO TRANSPORT CORPORATION LTD. AS AGENT FOR THE CARRIER ซึ่งแปลได้ความว่าโจทก์ในฐานะตัวแทนเพื่อ VIRGO LINE ผู้ขนส่ง แต่ใบตราส่งนี้เป็นเพียงหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่ตัวสัญญารับขนของทางทะเล และสัญญารับขนของทางทะเลไม่มีแบบ โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารนี้ได้ว่าโจทก์รับขนของทางทะเลโดยใช้ชื่อในการประกอบกิจการว่า VIRGO LINE อันเป็นชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และโจทก์ใช้เป็นชื่อในการออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางทะเลมีสิทธิเรียกค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งจากจำเลยที่ 1 และที่ 2
ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบธุรกิจค้าขายตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยร่วมขายสินค้าและติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ขนส่งกับชำระค่าจ้างขนส่งและค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งเป็นผู้ชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งโดยชำระด้วยเช็คส่งมอบให้โจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 6 ฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นและยังต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ส่งร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าทางทะเลดังที่โจทก์นำสืบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: สถานที่ปฏิเสธการจ่ายเช็คเป็นสถานที่เกิดมูลคดี แม้จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในเขตศาล
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญาจักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: สถานที่ธนาคารปฏิเสธเช็คเป็นสถานที่เกิดมูลคดี ผู้รับโอนเช็คมีสิทธิฟ้อง
ความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4541/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความกับการดำเนินคดีอาญาเช็ค – สิทธิระงับตามกฎหมาย
โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินตามมูลหนี้ตามเช็คพิพาทสี่ฉบับต่อมาโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ใช้เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อใช้เงินนั้นจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ถึงแม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ข้อ 3 จะระบุเป็นข้อยกเว้นว่า การตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่มีผลในคดีอาญาคดีนี้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และข้อตกลงดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 173 แห่ง ป.พ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานออกเช็ค – ผู้สลักหลังเช็คเป็นตัวการร่วมได้ – เจตนาทุจริต
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 คำว่า "ผู้ใดออกเช็ค" มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4054/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีเช็คเลิกกันเมื่อหนี้สิ้นสุดก่อนมีคำพิพากษา และการชำระหนี้ในคดีแพ่งทำให้คดีอาญาขาดอายุความ
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่า ธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นสุดผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตาม ป.วิ.อ." แม้จำเลยทั้งสองจะได้ใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ร่วมไปครบถ้วนแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่ก็มิใช่การใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นเหตุให้ถือว่าคดีเลิกกันตาม ป.วิ.อ. เหตุที่จะถือว่าคดีเลิกกันคงมีเพียงว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือไม่ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงว่า ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์จำเลยทั้งสองได้นำเงินตามเช็คพิพาทวางไว้ต่อศาลชั้นต้นครบถ้วนแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยทั้งสองชำระแต่ต้นเงินตามเช็คพิพาทเท่านั้น จำเลยทั้งสองยังไม่แสดงหลักฐานว่าได้ชำระดอกเบี้ยตามเช็คพิพาทด้วย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับ ระหว่างพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมได้นำเช็คพิพาททั้งสามฉบับคดีนี้กับเช็คคดีอื่น ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่งธนบุรี คดีดังกล่าวโจทก์ได้บังคับคดีและได้รับเงินตามคำพิพากษาไปครบถ้วนแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลฎีกาได้นัดพร้อมสอบโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองแล้ว ฟังได้ว่าโจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งธนบุรีให้ชำระหนี้ตามเช็ค 5 ฉบับ ซึ่งรวมเช็คพิพาทคดีนี้ 3 ฉบับ โดยมูลหนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าพื้นที่บริเวณที่เป็นผนังด้านนอกอาคาร บ. ของโจทก์ร่วมศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมามีการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ได้วางเงินชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีจนครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมก็มิได้คัดค้านว่ายังมีหนี้ดังกล่าวเหลืออยู่ ดังนั้น จึงถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทคดีนี้เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามเช็คย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (3)
of 187