คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เลิกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,045 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6691/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานฝ่าฝืนระเบียบการเบิกจ่ายเงิน ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
โจทก์เป็นผู้จัดการสาขาของจำเลย เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากจำเลยให้เป็นผู้บริหารระดับสูงจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการเงินโดยเคร่งครัดเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและป้องปรามมิให้เกิดการทุจริต การที่โจทก์เบิกเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 1,400 บาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่: การรับรองเวลาทำงานเท็จถือเป็นการทุจริต
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ และการซื้อที่ดินโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันอื่นที่มิใช่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 โดยไม่ได้ส่งหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ เท่ากับเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างแก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นอุทธรณ์ที่หยิบยกข้อเท็จจริงใหม่กล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองและมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกระบวนการผลิตแร่ที่เหมืองแร่ของจำเลยที่ได้รับสัมปทานจากทางราชการ ได้จัดทำบันทึกในนามของจำเลยว่าจำเลยซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่กล่าวหาว่าจำเลยทำเหมืองแร่รุกล้ำที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย ซึ่งแม้โจทก์จะใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดิน ก็เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองของจำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จำเลยได้สัมปทานทำเหมืองแร่หลังจากหมดอายุประทานบัตรซึ่งโจทก์รู้ว่าจะหมดอายุในเวลาอีกไม่นาน และต่อมาอีกประมาณ 1 ปี โจทก์ก็เข้าครอบครองที่ดินทันทีที่หมดอายุประทานบัตรของจำเลยและครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: การเบิกจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี กรณีไม่มีความผิดร้ายแรง
การที่โจทก์เบิกทองคำซึ่งเป็นลวดที่ใช้ในการทำงานไปเกินกว่าปริมาณงานในแต่ละครั้งเพราะโจทก์ทำงานกับจำเลยมานานและมีความเชี่ยวชาญจึงสามารถทำชิ้นงานได้มากกว่าคนอื่น เมื่อไม่ได้ความว่าโจทก์เอาลวดทองคำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และในการคืนผงทองคำตลอดเวลาหลายสิบปีจะมีส่วนเกินไปบ้างหรือขาดไปบ้างก็มีขั้นตอนการดำเนินการ เช่น ในกรณีที่ขาดก็จะต้องหักเป็นเงินทุกครั้งเสมอมา ก่อนเดือนที่จะถูกเลิกจ้างโจทก์ไม่เคยมีปัญหาหรือขัดแย้งกับจำเลยเกี่ยวกับเรื่องการคืนเศษทองคำขาดหรือเกิน คงมีปัญหาเฉพาะเดือนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น และเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยกะทันหันโจทก์จึงไม่มีโอกาสเข้าไปเคลียร์งานหรือคืนผงทองคำให้แก่จำเลยได้ ส่วนที่จำเลยขายซิงค์น้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์หยิบอันอื่นผิดไปจากที่ตกลงกัน ซึ่งต่อมาโจทก์ได้นำมาคืนจำเลยแล้ว และโจทก์กระทำในฐานะที่เป็นผู้ซื้อหรือลูกค้าไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างกระทำต่อนายจ้าง ตามพฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์โดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่เข้ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 และมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย และวันหยุดพักผ่อนประจำปี: การพิจารณาเหตุผลในการเลิกจ้าง และการคำนวณค่าชดเชยที่ถูกต้อง
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขาย ปรากฏว่าโจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วัน สุดท้ายคิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว รวมค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทั้งสิ้น 795,065 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648-3808/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการลดต้นทุนค่าแรง: การเลิกจ้างที่ชอบธรรมเมื่อมีความจำเป็นทางธุรกิจ
ก่อนการเลิกจ้างจำเลยยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยได้แจ้งถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้จำเลยต้องประสบภาวะขาดทุน คือต้นทุนค่าแรง ทั้งค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นต้นทุนที่สูงมากให้สหภาพแรงงาน ร. ทราบแล้ว แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้จนมีการนัดหยุดงานและแจ้งปิดงาน ต่อมาจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงาน ร. เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งซื้อจึงต้องเปิดงาน แม้สหภาพแรงงาน ร. จะลดข้อเรียกร้องลงแต่ในส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงินยังคงมีอยู่จึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในส่วนของต้นทุนค่าแรง ยอดรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปีไม่ว่าจำเลยจะขาดทุนหรือกำไร คือเงินเดือน ค่าแรงและผลประโยชน์อื่นของลูกจ้าง ก่อนเลิกจ้างจำเลยจัดโครงการสมัครใจลาออก โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด มีลูกจ้างเข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ จำเลยจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างเฉพาะลูกจ้างประจำไม่เลิกจ้างลูกจ้างรายปีเพราะลูกจ้างรายปีไม่มีโบนัส ไม่มีการปรับค่าจ้าง ทั้งการเลิกจ้างลูกจ้างประจำก็มีหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นลำดับไม่ได้เลือกปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งเน้นลดต้นทุนค่าแรง จึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของจำเลยดำรงอยู่ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเอ็ด จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3532/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในการวินิจฉัยการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการใช้ดุลพินิจในการสั่งชดใช้ค่าเสียหาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 44 มิได้บัญญัติบังคับไว้เด็ดขาดให้ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นในทุกกรณี จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะพิจารณาว่าเรื่องประเภทใดที่สมควรจะเชิญหรือไม่ ส่วนมาตรา 41 (4) เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ คือ สั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ได้ หรือสั่งให้จ่ายค่าเสียหายก็ได้ หรือสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นสมควรก็ได้ หรืออาจจะสั่งพร้อมกันหลายประการก็ย่อมได้
เมื่อขณะเป็นลูกจ้างโจทก์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่นายจ้างและผู้บังคับบัญชา และร้องเรียนนายจ้างต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่าง ๆ รวมแล้วหลายสิบเรื่อง อันเป็นการก้าวก่ายการใช้สิทธิปกติในทางการบริหารของนายจ้าง จากพฤติการณ์ของโจทก์จะเห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นนายจ้างมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าหากให้โจทก์ทำงานร่วมกับจำเลยที่ 12 อีกต่อไปรังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น จึงมิได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 12 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่กรณี มิได้คำนึงแต่การคุ้มครองสิทธิหรือประโยชน์ของลูกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังคำนึงถึงการคุ้มครองฝ่ายนายจ้างเพื่อให้ประกอบกิจการไปโดยราบรื่น อันจะเป็นผลดีแก่ลูกจ้างโดยรวมอีกด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับจำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 37 ซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างที่คอยถ่วงดุลในการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ นอกจากเพื่อปกป้องมิให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบแล้วยังให้การพิจารณาของคณะกรรมการเป็นไปโดยเหมาะสมแก่กรณีและเป็นธรรมแก่ลูกจ้างด้วย คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ให้จำเลยที่ 12 จ่ายเฉพาะค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405-2407/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีประท้วงโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้อง และกระทำผิดอาญา
ข้อเท็จจริงยุติตามคำร้องและคำคัดค้านว่าการนัดหยุดงานกระทำไปโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อผู้ร้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้พนักงานนัดหยุดงานตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) การนัดหยุดงานที่ฝ่าฝืนมาตรา 34 มีโทษตามมาตรา 139 เมื่อการนัดหยุดงานต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) และมีโทษตามมาตรา 139 การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชักชวนให้พนักงานนัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกสหภาพแรงงานนัดหยุดงานจึงไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามมาตรา 99 (2) อีกทั้งศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เข้าทำงาน ออกไปชุมนุมด้วย และมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีการชักชวนพนักงานให้ออกไปชุมนุมประท้วงโดยการปิดถนนและนำรถยนต์ไปจอดขวางถนนภายในโรงแรมซึ่งเป็นถนนสาธารณะจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 215 วรรคแรก จึงเป็นกรณีมีเหตุผลอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: การร้องเรียนตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการศึกษา ไม่ถือเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่โจทก์เป็นครูสอนวิชาสามัญร้องเรียนผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประเมินผลและมาตรฐานทางการศึกษา เมื่อจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏผลว่าไม่มีการกระทำความผิดตามที่โจทก์ร้องเรียนดังกล่าว ก็กลับเป็นผลดีแก่โรงเรียนของจำเลยที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการเรียนการสอนและการประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษา ทั้งไม่ได้ความว่าโจทก์มีเจตนาใส่ร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้อำนวยการโรงเรียนของจำเลยประการใด แม้ตามหนังสือร้องเรียนที่โจทก์เป็นผู้จัดทำ จะมีถ้อยคำเสียดสีไม่สุภาพ แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อการเป็นครูซึ่งต้องเป็นแบบอย่างที่ดีไปบ้าง แต่การกระทำของโจทก์ก็ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโรงเรียนจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10431/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องค่าเสียหายจากการสูญเสียการได้ยินเนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ไม่ถือเป็นฟ้องซ้อนคดีเลิกจ้าง
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
of 205