พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,865 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์, เอาไปเสียซึ่งเอกสาร, และความรับผิดของตัวการร่วม
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้แทนและการผูกพันตามเช็ค: มูลหนี้เกิดจากการบรรเทาความเสียหายจากฉ้อโกง ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน
มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4826/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เช็คชำระหนี้ที่มีส่วนของหนี้ที่ไม่บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นความผิด พ.ร.บ.เช็ค
หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จ่ายเงินกู้ให้แก่จำเลยและโอนเงินจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วงของจำเลย รวมเป็นเงินที่จ่ายไปยังไม่ครบจำนวนตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายในจำนวนเงินกู้เพียงเท่าที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายทั้งห้าฉบับรวมเป็นเงินเต็มตามจำนวนในสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งรวมมูลหนี้ทั้งหมดโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่ามีเช็คฉบับใดออกเพื่อชำระเงินกู้ส่วนที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยและโอนจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วงของจำเลยไปแล้ว และเช็คฉบับใดมีหนี้ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดอยู่ เมื่อเช็คพิพาทสองฉบับเป็นเช็คที่รวมอยู่ในเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าว โดยมีมูลหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายระคนปนกันอยู่ในจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วย จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีส่วนของหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงและไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ในเช็คพิพาท การออกเช็คพิพาทสองฉบับของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง, 215
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4343/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนี้จากนิติกรรมโมฆะ (การเล่นแชร์ผิดกฎหมาย) ทำให้เช็คที่ออกชำระหนี้นั้นไม่มีผลบังคับใช้ ผู้สั่งจ่ายเช็คจึงไม่ผิด พ.ร.บ. เช็ค
ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.การแล่นแชร์ พ.ศ. 2534 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้การเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หากฝ่าฝืนมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย เมื่อได้ความว่าเดิมโจทก์เป็นนายวงแชร์ที่จัดการให้มีการเล่นแชร์ 36 มือ มือละ 10,000 บาท และการประมูลต่อหนึ่งงวดผู้ประมูลได้จะได้รับเงินรวม 360,000 บาท การตั้งวงแชร์ของโจทก์จึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย อันตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะอ้างว่ามีการนำหนี้อันเกิดจากการเล่นแชร์ดังกล่าวรวมกับหนี้อื่นแล้วแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่หนี้เกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะเช่นนี้ย่อมเสียเปล่าไปแต่ต้น จะแปลงหนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงินหรือหนี้อย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายได้ไม่ เมื่อเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งมีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่จนไม่อาจแยกออกได้ว่าเป็นการชำระหนี้ในส่วนใด หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4238/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เช็คค่าเช่าซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม: ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค แม้โจทก์ไม่ออกใบกำกับภาษี
เช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเป็นงวด ๆ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อมีความรับผิดในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อมีการชำระค่าเช่าซื้อตามงวดที่ถึงกำหนดชำระ เพื่อนำส่งกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อต้องชำระค่าเช่าซื้อในแต่ละงวดตามสัญญา ดังนั้น ในขณะที่จำเลยทั้งสองออกเช็คแต่ละฉบับเพื่อชำระค่าเช่าซื้อในแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ มูลหนี้ตามเช็คแต่ละฉบับจึงมีมูลหนี้ค่าเช่าซื้อและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงผ่อนชำระหนี้เช็คไม่เป็นการยอมความ สิทธิฟ้องคดีอาญาไม่ระงับ
ข้อตกลงของผู้เสียหายกับจำเลยไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้โอกาสแก่จำเลยในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น กรณีที่ผู้เสียหายจะไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย รวมถึงการถอนคำร้องทุกข์ก็เป็นเงื่อนไขที่ผู้เสียหายจะปฏิบัติในภายหน้าหากจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ผู้เสียหายจนครบถ้วน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแต่อย่างใด ทั้งไม่มีผลเป็นการยอมความโดยชอบตามกฎหมาย เมื่อจำเลยยังมิได้ใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับให้แก่ผู้เสียหาย และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 คดีจึงยังไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบอกเลิกสัญญาซื้อขายกิจการทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คที่ออกไว้
แม้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับซึ่งเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายกิจการ แต่ก่อนที่โจทก์จะนำเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้งกันต่างฝ่ายต่างอ้างว่า อีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงานอันเป็นการค้าแข่งกับกิจการตามสัญญาที่มีต่อกัน ส่วนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 โอนกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จะซื้อขายกันไปให้บริษัทอื่นในระหว่างผ่อนชำระหนี้ แม้เหตุในการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 โจทก์ยังโต้แย้งอยู่ว่าไม่มีข้อกำหนดในสัญญาให้สิทธิจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 และขอให้คืนกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 แก่โจทก์เท่ากับยอมรับที่จะเลิกสัญญากัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นผลผูกพันและทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อสัญญาเลิกกันจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือและมีสิทธิระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดนั้นได้ การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาทุจริต จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เช็คชำระค่าเช่า-ค่าตอบแทนสิทธิเก็บกิน การออกเช็คเพื่อประกันหนี้ มิใช่ชำระหนี้ทันที ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เช็คนั้นต้องออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ในกรณีของการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 538 กำหนดว่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ สัญญาเช่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ตกลงให้การเช่ามีผลย้อนหลังเป็นการเช่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปซึ่งเป็นข้อตกลงเช่าอสังริมทรัพย์มีกำหนดเวลา 5 เดือน โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การเช่าในระยะเวลาย้อนหลังดังกล่าวจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็ครวม 5 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าเดือนมิถุนายน 2561 ถึงตุลาคม 2561 แม้ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่สัญญาเช่าดังกล่าวกระทำภายหลังจากจำเลยที่ 1 ออกเช็คทั้ง 5 ฉบับแล้ว และถึงแม้ว่าจะได้กระทำในวันเดียวกันก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการออกเช็คที่มีหนี้อยู่จริง แต่หนี้นั้นไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 7.2 ระบุว่า เมื่อผู้ให้เช่าได้รับค่าเช่าและค่าตอบแทนการจดสิทธิเก็บกินที่ผู้เช่าค้างชำระ... ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าตกลงจะคืนเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ให้แก่ผู้เช่า แสดงว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อประกันการชำระหนี้หาใช่เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้เช็คหลังฟ้องคดีอาญา ทำให้สิทธิฟ้องระงับ แม้จำเลยจะขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา
จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือเป็นการแก้ไขคำให้การ ต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง จำเลยจึงไม่อาจรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ อย่างไรก็ดี การที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในส่วนของเช็คตามฟ้องไปแล้ว จำนวน 2 ฉบับ คงเหลือเช็คตามฟ้อง 5 ฉบับ จำเลยได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วน ขอให้ศาลพิพากษารอการลงโทษ โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาฎีกาแล้วไม่แก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยนำเงินมาวางศาลชำระหนี้ตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ครบถ้วนตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ร่วมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว หนี้ที่จำเลยออกเช็คทั้ง 5 ฉบับ เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันกันแล้วด้วยการชำระเงินครบถ้วนไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีมาฟ้องตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนงและศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562 มาตรา 10
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาการออกเช็ค - ผู้แทนสหกรณ์ไม่มีเจตนาออกเช็คที่ไม่มีเงินเพียงพอ - ยกฟ้อง
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 และมาตรา 195 วรรคสอง