คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาซื้อขาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,003 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8680/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินส่วนเกินหลังส่งมอบไม่ครบตามสัญญาซื้อขาย
สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองกำหนดจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อกันไว้ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองว่า ให้ถือเอาจำนวนเนื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญ จึงมิใช่การซื้อขายเหมาแปลง เมื่อจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินน้อยกว่าที่ตกลงซื้อขายกัน และโจทก์ทั้งสามเลือกรับที่ดินที่จำเลยทั้งสองส่งมอบ โจทก์ทั้งสามจึงต้องชำระราคาค่าที่ดินตามส่วนของที่ดินที่ได้รับมอบเท่านั้น สำหรับเงินค่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสามชำระแก่จำเลยทั้งสองเกินส่วนไป แม้จะถือว่าเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และจำต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสามฐานลาภมิควรได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสามรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7339/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขาย และการคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยเมื่อสัญญาเดิมไม่สามารถบังคับได้
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารในโครงการเมืองทองสุขสวัสดิ์กับจำเลย และได้ผ่อนชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยแล้ว 24 งวด แต่จำเลยยังมิได้ก่อสร้างอาคารตามสัญญา อันเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งโจทก์ทั้งสองอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองขอรับเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย แต่จำเลยอ้างว่าไม่อาจคืนเงินได้และเสนอขอชำระหนี้เป็นที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี โดยให้นำเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมรวมทั้งเงินรางวัลส่วนลดถือเป็นเงินค่าจองมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่จึงเป็นการตกลงเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยพึงกระทำเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ในขณะนั้น หากจำเลยสามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะไม่ไปรับโอนที่ดินดังกล่าว ประกอบกับคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมโดยมิได้กล่าวถึงสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ และมิได้นำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่มาอ้างอิงต่อศาล เพราะโจทก์ทั้งสองได้คืนต้นฉบับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่จำเลยไปแล้วเนื่องจากจำเลยขอคืนโดยจำเลยแจ้งว่าไม่สามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้เพราะติดจำนองกับธนาคารตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างจริง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ต่อกันด้วยต่างล่วงรู้ในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่สามารถโอนทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ประกอบกับข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ ไม่มีข้อความใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมให้เป็นอันระงับสิ้นไป การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่เช่นนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมแล้วตามหนังสือบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับเงินรางวัลส่วนลดซึ่งจำเลยยินยอมให้ถือเอาส่วนลดนี้เป็นเงินค่างวดที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระแล้วเป็นสิทธิอันพึงมีของโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องมาจากการทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม แม้โจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามสิทธินั้นแล้ว และต่อมามีการถือเอาเงินส่วนลดเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ทั้งสองย่อมได้สิทธิตามส่วนลดนี้ก็ต่อเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมถูกบอกเลิกแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม สิทธิในเงินรางวัลส่วนลดอันสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมจึงหมดไปและไม่อาจถือเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระการพิสูจน์องค์ประกอบสินค้าในสัญญาซื้อขาย ผู้ผลิตต้องพิสูจน์ตามที่ระบุ หากพิสูจน์ไม่ได้ ถือผิดสัญญา
โจทก์เป็นผู้ผลิตและระบุองค์ประกอบรวมทั้งแสดงข้อบ่งใช้ไว้ในฉลากย่อมต้องมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ายาฆ่าเชื้ออัล-ไบโอไซด์ 25 มีส่วนประกอบตามที่ระบุไว้จริง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ถูกต้อง และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขและวินิจฉัยไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องได้
เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ย่าฆ่าเชื้ออัล-ไบโอไซด์ 25 มีสารกลูตารัลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบอยู่ 12.5 เปอร์เซนต์ ตามที่ระบุไว้ในฉลากจึงต้องถือว่าโจทก์ส่งมอบสินค้าที่ซื้อไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเมื่อสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระราคาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาซื้อขาย, ค่าเสียหายเพิ่มเติม, และความรับผิดในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
แม้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ โดยยึดเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย และพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ 2,000,000 บาท นั้นเป็นจำนวนพอสมควรและไม่สูงเกินส่วนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าจำนวนเบี้ยปรับนั้น
แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แต่ฝ่ายเดียวตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ข้อ 3 แต่ก็เป็นความรับผิดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องปฏิบัติตามสัญญาในฐานะผู้ขายเมื่อไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับในส่วนนี้ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ระบุเงื่อนไขข้อนี้ลงไว้ในคำพิพากษาจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีสัญญาซื้อขายปิโตรเลียมและการสนับสนุนปรับปรุงสถานีบริการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
โจทก์เรียกค่าเสียหายและเบี้ยปรับจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับโจทก์ และเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินคืนเนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาให้การสนับสนุนการปรับปรุงรูปแบบสถานีบริการ โดยไม่ปรากฏว่ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ในสัญญาดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามสัญญายืมทรัพย์สิน อุปกรณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำหรับผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเอกสารท้ายอุทธรณ์นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้อ้างมาในฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย คดีนี้จึงมิใช่คดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามนัยมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายและเช่าที่ดินพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากเจตนาลวง โดยมีเจตนาให้จำเลยและนางสุพรมีที่ดินอยู่อาศัยร่วมกัน
สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยเกิดจาก ส. และจำเลยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเนื่องจากเจ้าหนี้จะยึดที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยชำระหนี้ แต่จำเลยและ ส. ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารมาชำระหนี้ได้ จึงต้องขอให้โจทก์เป็นผู้กู้ยืมเงินให้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของจำเลย เพื่อจะนำที่ดินมาเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและ ส. โดยจำเลยและ ส. มีหน้าที่ร่วมกันผ่อนชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาคนละครึ่ง หากจำเลยและ ส. ร่วมกันชำระหนี้จนครบ 10 ปี ตามสัญญาจำนอง หนี้จะหมด จำเลยมีสิทธิได้แบ่งที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกบ้านแล้วจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดนอกจากส่วนที่กันเป็นถนน ส่วนที่ดินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของ ส. ซึ่งถือเป็นตัวการซึ่งเชิดโจทก์เป็นตัวแทนทำนิติกรรมแทน ส. สัญญาตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท แต่เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยที่ต้องการให้ ส. และจำเลยมีที่ดินอยู่อาศัยคนละครึ่ง จึงให้จำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารครึ่งหนึ่ง เพื่อว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้ครบแล้วจะได้แบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งจึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะให้ตกลงในส่วนนี้แยกออกจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันโจทก์ว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารแม้เพียงบางส่วนจำเลยก็มีสิทธิในที่ดินพิพาทฐานะในเจ้าของร่วมด้วยเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมอาคารไม่สมบูรณ์ ผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน
แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารระบุให้ผู้จะซื้อคือโจทก์ชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 และให้ผู้จะขายคือจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่เงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 3 สำเร็จ แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการให้เงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 3 สำเร็จลงแต่อย่างใดแสดงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอาเงื่อนเวลาดังกล่าวเป็นข้อสำคัญของการปฏิบัติตามสัญญา แต่ยึดถือหน้าที่และความรับผิดชอบของคู่สัญญาเป็นสำคัญ นั่นคือจำเลยต้องพร้อมที่จะส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารในสภาพสมบูรณ์เรียบร้อยให้แก่โจทก์ได้ภายในเวลาอันสมควร และโจทก์ต้องพร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวและชำระเงินให้แก่จำเลย การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอาคารให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบ ถือได้ว่าการซ่อมแซมแก้ไขดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญของอาคารที่ซื้อขายตามสัญญาที่จำเลยผู้จะขายมีหน้าที่ต้องก่อสร้างและส่งมอบแก่โจทก์ผู้จะซื้อในสภาพเรียบร้อยไม่มีข้อบกพร่อง เมื่อจำเลยไม่แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินงวดสุดท้ายและไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ได้
เมื่อจำเลยยังไม่ได้แก้ไขอาคารให้เรียบร้อยก่อนการส่งมอบและจำเลยยังไม่ได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกบางประการอีกด้วย ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วสัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการบริษัทไม่ต้องรับผิดส่วนตัวในสัญญาซื้อขาย หากทำหน้าที่ตามอำนาจและสัญญาทำในนามบริษัท
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2548 โจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นกล่องใส่ซีดีทำด้วยดีบุก จำนวน 5,000,000 ใบราคา 1,470,432 ดอลลาร์สหรัฐ และของเล่นเป็นรถไฟฟ้าทำด้วยไม้ระบบโซนิค จำนวน 5,501,500 ชิ้น ราคา 1,603,429 ดอลลาร์สหรัฐ จากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำร้อยละ 20 ของราคาสินค้าในแต่ละประเภทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าทั้งสองประเภทและไม่คืนเงินมัดจำ จึงเป็นการผิดสัญญาต้องคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้ในการติดต่อซื้อขายสินค้ากับโจทก์ โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยที่ 2 โดยการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงจำเลยที่ 1 แต่ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ 2 เขียนเพื่อแจ้งรายละเอียดของวันเวลาตามแผนงานการผลิตกล่องใส่ซีดีตั้งแต่วันเริ่มออกแบบจนถึงวันที่จัดส่งสินค้าเสร็จสิ้น และแจ้งราคาค่าเครื่องมือสำหรับผลิตกล่องใส่ซีดีและรถไฟไม้ให้โจทก์ทราบ รวมถึงการนัดหมายเชื้อเชิญให้โจทก์มาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะส่วนตัว อีกทั้งหลักฐานการโอนเงินก็เป็นชื่อบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว มิใช่จำเลยที่ 2 ประกอบกับการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นิติบุคคลย่อมจะต้องกระทำโดยผ่านจำเลยที่ 2 ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายสินค้าที่พิพาทกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพราะกระทำละเมิดแอบอ้างชื่อจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ นั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้สัญญาซื้อขาย โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิด ข้ออ้างดังกล่าวถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10368/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากสัญญาซื้อขาย น.ส.3ก. แม้มีโฉนดในชื่อผู้ขาย สิทธิยังเป็นของผู้ซื้อ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์แบ่งซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จาก ช. โดย ช. ได้รับชำระค่าที่ดินจากโจทก์และได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้แบ่งแยกโอนให้แก่โจทก์ ต่อมาที่ดินดังกล่าวได้ออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินในนามของ ช. หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำฟ้อง ย่อมแสดงว่าขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ช. ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การโอนสิทธิครอบครองในกรณีนี้สามารถกระทำได้ทั้งการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 และการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ซึ่งโจทก์ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องแล้วว่า ช. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตลอดมา แสดงว่า ช. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป แม้ต่อมาจะได้ความว่า ช. นำที่ดินพิพาทไปออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ช. ก็ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินแทนโจทก์เท่านั้น แม้ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ช. ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จะมีสิทธิจัดการได้ แต่ที่ดินพิพาทยังเป็นสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เพื่อขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทได้ การที่ศาลชั้นต้นกลับไปวินิจฉัยเรื่องอายุความว่าโจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายที่ดินเกินกว่า 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม คดีจึงขาดอายุความ โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ดังที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวต่อไป จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นกลบเกลื่อนการกู้ยืมเงิน ศาลเพิกถอนสัญญาได้
โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกัน มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลยโดยให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยยึดถือเป็นประกัน ถือว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินที่ทำกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยซึ่งถูกอำพรางไว้จึงต้องบังคับตามสัญญากู้เงินที่เป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้จากจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทไว้ ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสองและต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โดยปลอดจำนองหรือภาระผูกพันใด ๆ นั้น มีผลทำให้คำพิพากษากระทบต่อสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความในคดี ย่อมไม่อาจกระทำได้
of 201