คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ล้มละลาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,913 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622-5623/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประนอมหนี้หลังล้มละลาย และอำนาจฟ้องคดีเพิกถอนการโอนทรัพย์สิน: โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรง
แม้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้น แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ในคดีล้มละลายดังกล่าว มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 6 ราย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 3 ยื่นขอรับชำระหนี้มูลหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 (จำเลยที่ 1) แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จากนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้รวมทั้งโจทก์ยอมรับ ไม่คัดค้านการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ และศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้ว ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ทุจริตหรือกระทำความผิดอันมีโทษทางอาญาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้มีข้อความลำดับการใช้หนี้ก่อนหลังถูกต้องตามกฎหมายล้มละลาย เจ้าหนี้มีมติยอมรับ คำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 การประนอมหนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป ไม่ได้เปรียบแก่กัน จึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ ให้ยกเลิกการล้มละลาย และให้ลูกหนี้ที่ 1 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน ทั้งยังปรากฏว่าต่อมาโจทก์โดย ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจแล้ว ไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อีกต่อไป จึงขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ดังนี้โจทก์จึงผูกมัดโดยข้อตกลงในการประนอมหนี้ดังกล่าวในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 ประกอบมาตรา 56 และทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้นต่อโจทก์อีกต่อไป นอกจากนี้ หากจะรับฟังว่าการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามตกเป็นโมฆะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็มิได้หมายความว่า การประนอมหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบต้องถูกยกเลิกไปตามผลแห่งคำพิพากษา ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกองล้มละลายสามารถยื่นขอรับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทได้ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หากนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทที่กล่าวอ้างในคดีนี้ว่าเป็นโมฆะเป็นผลหรือไม่เป็นหรือกลับกัน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินพิพาท ที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักประกันในคดีอาญาและผลกระทบต่อเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลายตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ และ ป.พ.พ. มาตรา 241 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้..." การที่ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์หลักประกันในการขอปล่อยตัวจำเลยในคดีอาญานั้น เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรี เพียงแต่ยึดถือโฉนดดังกล่าวไว้เท่านั้น หาได้เป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินตามโฉนดอันเป็นหลักประกันดังกล่าวไม่ แม้ว่าศาลอาญาธนบุรีจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์มิให้ลูกหนี้โอนทรัพย์ต่อไปเท่านั้น หาทำให้เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรีมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการที่ลูกหนี้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าหนี้ไว้นั้น ก็มีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือหนังสือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลง เจ้าหนี้จึงไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ดังนั้น เจ้าหนี้จะขอบังคับหรือใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 หาได้ไม่
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ซึ่งบัญญัติว่า "เงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นที่นำมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันตามมาตรา 114 ไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นจนกว่าความรับผิดตามสัญญาประกันจะระงับสิ้นไป เว้นแต่ศาลเห็นว่าหนี้ของเจ้าหนี้นั้นมิได้เกิดจากการฉ้อฉลและมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว" โดยมีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 30 ธันวาคม 2558) เป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 มาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่คดีทั้งหมดรวมถึงคดีนี้ด้วย เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้ในฐานะผู้ประกันนำมาวางเป็นหลักประกันต่อศาลในการร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา และลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลจนศาลมีคำสั่งปรับตามสัญญาประกัน กรณีต้องด้วย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ที่ดินที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นประกันต่อศาลอาญาธนบุรีจึงไม่อาจถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นได้ เว้นแต่ศาลในคดีอาญาจะได้สั่งปล่อยทรัพย์นั้น ในชั้นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยได้ให้ดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสองก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ผู้ร้องมีอำนาจขอเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น การที่ผู้ค้ำประกันจำต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมต้องชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันเอง ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินของผู้ค้ำประกัน จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งผู้ร้องมีอำนาจขอให้เพิกถอน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีจำนองหลังการล้มละลาย: เจ้าหนี้มีประกันต้องดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินหลังศาลมีคำสั่งอนุญาต
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 โดยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ในมูลหนี้จำนองตามมาตรา 95 ประกอบมาตรา 22 การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 งดดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่น มีผลเป็นการสละสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 145 (3) ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินในกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ต้องมีหน้าที่รวบรวมนำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นเพื่อนำมาแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ และไม่มีอำนาจต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 22 (3) แทนจำเลยที่ 2 อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงด้วยตนเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป การที่ศาลล่างมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทรัพย์สินหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว
ศาลล้มละลายกลางอ่านคําพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ให้พิทักษ์ทรัพย์จําเลยเด็ดขาด ดังนั้น นับแต่จําเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจําเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) จําเลยจึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจําเลยได้อีก การที่จําเลยยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2561 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลจังหวัดพัทยา และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2561 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งต่าง ๆ ของศาลชั้นต้นอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจําเลยจะยื่นคําร้องขอเข้าว่าคดีแทนจําเลยและขอให้พิจารณาคดีต่อไป ก็หาทำให้กลับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลังไม่ จําเลยจึงไม่มีอำนาจยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2561 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2561

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากประกันชีวิต: สิทธิของผู้ร้องในเงินคืนจากกรมธรรม์เมื่อล้มละลาย
จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ผู้ร้องดำเนินการจัดให้มีการทำสัญญาประกันภัยเอาประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทประกันภัย ในลักษณะสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท ชำระเบี้ยประกันปีละ 75,000 บาท มีระยะเวลา 20 ปี ระบุให้บุตร 2 คน เป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยจำเลยเป็นคนลงนามในคำขอเอาประกันชีวิต และบริษัทประกันภัย ออกกรมธรรม์ให้ในชื่อจำเลย แสดงว่า ผู้ร้องกับจำเลยร่วมรับรู้ในการทำประกันชีวิตจำเลย สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) มีลักษณะเป็นการประกันความเสี่ยง ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของจำเลยเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ทั้งยังมีลักษณะเป็นการออมทรัพย์และการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ที่บริษัทตกลงจะจ่ายคืนในอนาคตด้วย ประกอบกับได้ความว่าผู้ร้องได้นำเงินรายได้ที่ทำมาหาได้ในระหว่างสมรสกับจำเลยไปชำระเบี้ยประกันก่อนมีการหย่า งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 75,000 บาท งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 9 และงวดที่ 11 งวดละ 54,400 บาท รวม 10 งวด เป็นเงิน 647,000 บาท สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และเป็นสินสมรสที่มีอยู่ขณะที่มีการหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าภายหลังมีการหย่า จำเลยกับผู้ร้องได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงยังคงมีสภาพเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่ง และเมื่อกรมธรรม์ ครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2558 บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ จำนวน 671,000 บาท เป็นสินสมรสที่จำเลยกับผู้ร้องมีส่วนคนละครึ่ง ผู้คัดค้านคงมีอำนาจจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่มีอำนาจรวบรวมเอาเงินส่วนของผู้ร้องเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย และต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 อันทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2550 ผู้ร้องนำเงินส่วนตัวไปชำระเงินค่าเบี้ยประกันจำนวน 54,400 บาท เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าชำระหนี้แทนจำเลย เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ผู้ร้องจะได้รับในฐานเป็นสินสมรสในคดีนี้ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีอื่นต่างหาก เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินที่ชำระไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 คืนในคดีนี้และเงินที่บริษัทผู้รับประกันภัยคืนมาจำนวน 671,000 บาท รวมเงินจำนวนดังกล่าวไว้ด้วย จึงต้องหักเงิน 54,400 บาท ออกจากเงินบริษัทผู้รับประกันภัยคืนมา โดยคำนวณเทียบเป็นสัดส่วนร้อยละ คงเหลือเงินสินสมรส 618,957.80 บาท และผู้ร้องมีสิทธิได้รับคืนครึ่งหนึ่งจำนวน 309,478.90 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553-5952/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง, ค่าชดเชย, ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, และสิทธิลูกจ้างในคดีล้มละลาย
การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจดำเนินการได้ด้วยตนเอง ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการแทนตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หามีผลทำให้ความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 2 และความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ทั้งสี่ร้อยซึ่งเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงหรือระงับลงในทันทีเพราะเหตุที่จำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่ ดังนั้น ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ร้อยในวันดังกล่าว
เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติว่า ภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เคยเข้าไปในสถานที่ทำงานของจำเลยที่ 2 หรือจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และไม่ได้กระทำการใดที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 2 ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป จนกระทั่งเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ร้อย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสี่ร้อยซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ร้อย โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ตามมาตรา 118 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3715/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีบำรุงท้องที่: หนี้เกิดขึ้นเมื่อแจ้งประเมิน, ฟ้องได้หลังปลดล้มละลาย, เงินเพิ่มไม่ต้องงด
แม้ตาม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 7 จะบัญญัติให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน โดยมาตรา 24 บัญญัติให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดก็ตาม แต่ตามความในหมวด 5 เรื่องการชำระภาษีบำรุงท้องที่ ให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการประเมินภายในเดือนมีนาคมแรกหลังจากการตีราคาปานกลางของที่ดิน และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี แต่ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ได้รับแจ้งการประเมินภายหลังเดือนมีนาคมตามมาตรา 33 วรรคสาม ให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 35 แสดงให้เห็นว่าหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินและแจ้งการประเมินให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ทราบแล้ว โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาท ในปีภาษี 2550 ถึงปีภาษี 2559 พร้อมเงินเพิ่มรวม 1,711,718 บาท โดยจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่จึงเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ 21 มีนาคม 2558 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลายแล้ว โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางได้โดยไม่จำต้องฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คหลังล้มละลาย: หนี้เกิดหลังคำสั่งศาล ไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยไม่มีความผิด
จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่นำพยานหลักฐานมาสอบสวนในคดีล้มละลาย ไม่ทำให้หนี้ระงับสิ้นสุด เจ้าหนี้มีประกันยังคงบังคับจำนองได้
การที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่นำพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับหนี้ การจำนองจึงไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เจ้าหนี้จึงยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองนั้นได้
of 192