คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 187 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4596/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าต้องมีชื่อเสียงแพร่หลาย การโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตและเคเบิลทีวีอาจไม่เพียงพอ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 479038 มีเจตนาไม่สุจริต แต่ปรากฏว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ในการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น ย่อมจะต้องพิจารณาจากการจำหน่ายสินค้า การใช้ หรือการโฆษณาเครื่องหมายจนเป็นที่แพร่หลายทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และเครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค
พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมานั้น ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในปี 2545 และเป็นการโฆษณาสินค้าบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการออกรายการในโทรทัศน์ระบบเคเบิล ซึ่งไม่แน่ว่าสาธารณชนทั่วไป หรือแม้แต่สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟในประเทศไทย หรือผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าถึงการโฆษณาและการออกรายการดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์คำว่า "Golf Channel" เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6361/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องทางการค้า: กรณีพ่อค้าคนกลางและผู้นำเข้าผ้า ขยายอายุความจาก 2 ปี เป็น 5 ปี
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) กำหนดสิทธิเรียกร้องของผู้ประกอบการค้าที่จะเรียกเอาค่าของที่ตนได้ส่งมอบ ให้มีอายุความ 2 ปี แต่กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามความในตอนท้ายของมาตรา 193/34 (1) ซึ่งหมายถึงกิจการระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางกับจำเลยซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าผ้าเพื่อจำหน่ายอีกทอดหนึ่งในฐานะผู้ประกอบการค้าด้วยกัน สิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) หากแต่ขยายเป็นอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6359/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์แพร่เสียงแพร่ภาพเพื่อการค้า ศาลฎีกาลงโทษปรับและแก้ไขข้อหา
การที่จำเลยจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการบันเทิงต่างประเทศในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสอง โดยการลักลอบใช้อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (จานดาวเทียม) รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเข้ามาแล้วส่งผ่านเข้าไปในเครื่องรวมสัญญาณ จากนั้นจึงส่งสัญญาณผ่านทางสายนำสัญญาณไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ที่อยู่ในห้องพักในอพาร์ตเมนต์ โดยเรียกเก็บเงินและผลประโยชน์เป็นค่าบริการรายเดือนรวมอยู่ในค่าเช่าห้องพักของจำเลย เป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อความเสียหายอย่างมากแก่ผู้เสียหายทั้งสอง เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีห้องพักที่เปิดให้สาธารณชนทั่วไปเช่าพักได้หลายห้อง ซึ่งหากผู้เช่าห้องพักแต่ละห้องบอกรับเป็นสมาชิกของผู้เสียหายทั้งสองเอง ผู้เสียหายทั้งสองก็จะได้รับค่าสมาชิกและค่าบริการรายเดือนเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยจึงนับว่าร้ายแรง หากศาลไม่กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย จำเลยก็จะไม่หลาบจำกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้อื่น จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยไปโดยไม่รอการกำหนดโทษ
จำเลยแพร่สัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองให้สาธารณชนผู้ใช้บริการเช่าห้องพักในอาพาร์ตเมนต์ของจำเลยได้รับชมรับฟังด้วยการต่อสัญญาณเข้าไปในห้องเช่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพต่อไปจากการแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่มีการบันทึกงานนั้นไว้ก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพตามมาตรา 29 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมและการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า
แม้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ในวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ต่อไป เมื่องานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 และเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 30 ปี นับแต่วันโฆษณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 งานดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ 21 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองไว้ในหมวด 1 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป การได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 จึงหมายความรวมถึงการได้รับความคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 ถึงมาตรา 26 ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้ว จึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย
การวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง มีความหมายเพียงว่า งานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์เท่านั้นที่ยังคงใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่เล็งเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 นั้นล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับไม่สอดคล้องกับความใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคสอง และพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันกับความในวรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้งานซึ่งไม่เคยได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติเดิมทั้งสองฉบับได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ภายใต้กำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า "ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้" ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5231/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าขาดอายุความหนึ่งปี และการแสวงหากำไรจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยตรงไม่เข้าข้อยกเว้น
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคสอง (2) ยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อประโยชน์ในธุรกิจของจำเลยที่ 1 คือ เพื่อใช้ในการออกแบบ เขียนแบบ และงานด้านเอกสาร เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสี่ อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามปกติของโจทก์ทั้งสี่ และเป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสี่ จึงไม่เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 อย่างไรก็ตาม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการนำไปใช้ในการทำงานเกี่ยวกับเอกสารทั่วไป โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 นำไปใช้ในการออกแบบ เขียนแบบผลิตภัณฑ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 นำไปใช้ในการออกแบบซ่อมแซมเครื่องจักร และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 4 นำไปใช้ในการแปลภาษา โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเวอร์ชันที่ใช้สำหรับองค์กรบริษัท จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำซ้ำหรือดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจผลิตอาหารและขนมของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้มีการนำไปใช้แสวงหากำไรจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์โดยตรง ดังนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 (1) เท่านั้น ซึ่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 บัญญัติแต่เพียงว่า "ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้" โดยไม่ได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติใน ป.อ. ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับกับความผิดคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง, 74 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 30 (1) และ ป.อ. มาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท กรณีจึงมีกำหนดอายุความหนึ่งปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9163/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การดัดแปลงคำทั่วไป ไม่สร้างลักษณะบ่งเฉพาะ
สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของโจทก์นี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการตัดคำบางคำจากคำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันเป็นปกติธรรมดาแบบมีความหมายในสังคมคือคำว่า "AIR CONDITIONER" หรือคำว่า "AIR CONDITIONING" มาประกอบกันเป็นคำเดียว ดังนั้นแม้โจทก์จะได้ดัดแปลงตัวอักษรโรมันตัวโอในคำดังกล่าวให้มีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรที่ประชาชนใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคมอยู่แล้วก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย จึงไม่ทำให้คำว่า "" เป็นคำประดิษฐ์แต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่า คำว่า "" มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๓) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า: การพิสูจน์ความผิดจากพยานหลักฐานการสั่งซื้อ และการบังคับคดีค่าปรับ
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่โฆษณาภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไว้เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวได้ และเคยผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวให้แก่ลูกค้ารายอื่นมาแล้ว ประกอบกับการที่ ว. สั่งให้จำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณาอยู่แล้ว โดยไม่ได้นำภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ มาให้จำเลยที่ 1 ใช้ผลิตเสื้อกีฬา หรือสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกแบบภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปผลิตเสื้อกีฬา ย่อมชี้ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้อยู่แล้วว่าลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาขายเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว การที่ ว. สั่งผลิตเสื้อกีฬาตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่า ว. เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พยานหลักฐานที่เกิดจากการสั่งซื้อเสื้อกีฬาดังกล่าวสามารถรับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ได้ กรณีไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบหรือพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1)
คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม อันเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ตามคำร้องในคดีส่วนแพ่ง แม้โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีส่วนแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225
of 19