พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,483 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9219/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิอุทธรณ์คำสั่งคืนคำคู่ความ: การพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 และผลกระทบต่อการหมดสิทธิอุทธรณ์
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทำมาใหม่เป็นคำสั่งชั้นตรวจคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ตามวรรคสองของ มาตรา 18 แต่วรรคท้ายของมาตรา 18 บัญญัติให้อุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247 กรณีมิได้ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 234 แห่ง ป.วิ.พ. ที่จำเลยจะต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แต่อย่างใด เพราะกรณีนี้อยู่ในชั้นตรวจคำคู่ความ การที่จำเลยไม่ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในเวลา 3 วันตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคสอง หาทำให้จำเลยหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้ทำมาใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 วรรคท้าย ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9203/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 229 จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา
การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งจะมีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไปมีผลเท่ากับ เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยมาจึงมิชอบ เช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 247 ถือไม่ได้ว่าฎีกาของจำเลยเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9200/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คำสั่งศาลเรื่องค่าธรรมเนียมศาลต้องทำภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม
เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วน จำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนดเวลา 7 วันแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายและอุทธรณ์คำสั่งเป็นอุทธรณ์อย่างหนึ่งซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการตรวจและมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 232 คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9195/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการวางค่าธรรมเนียมศาล ส่งผลต่อสิทธิในการอุทธรณ์และการฎีกา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง หากจำเลยยังติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 โดยนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาศาล หรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะต้องสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเสีย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้สั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9081/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขออุทธรณ์ค่าธรรมเนียมศาล: การพิจารณาคำร้องขออนาถาใหม่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของโจทก์โดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบในวันนัดไต่สวน เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของโจทก์แล้วว่าโจทก์มิใช่คนยากจนจะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าโจทก์เป็นคนยากจนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ หาได้ไม่ เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของโจทก์โดยมิได้สืบพยานโจทก์ เมื่อพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาคำขออนาถาใหม่ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง มิใช่การยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องนั้นใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ แล้ว เห็นได้ว่าขัดแย้งกับข้อความในคำร้องดังกล่าวที่ต้องการให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ไว้ไต่สวนใหม่ โดยอ้างว่าโจทก์มิได้จงใจไม่นำพยานมาสืบในวันนัดไต่สวน แม้โจทก์จะอ้างในตอนท้ายของคำร้องด้วยว่าโจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ แต่ก็เป็นการอ้างเพื่อยืนยันให้ศาลเห็นว่าโจทก์เป็นคนยากจนเท่านั้น ข้อความที่อ้างมีเนื้อความเดียวกับคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาฉบับเดิมทุกประการ โจทก์มิได้อ้างเหตุอะไรขึ้นใหม่ คำร้องของโจทก์จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์ต้องยื่นมาพร้อมอุทธรณ์และสาบานตัวให้คำชี้แจงว่าโจทก์ไม่มีทรัยพ์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ เว้นแต่ว่าโจทก์ตกเป็นคนยากจนลงภายหลัง พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าโจทก์ต้องยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของโจทก์ใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ หาใช่เป็นการยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาตามมาตรา 156 วรรคหนึ่งไม่ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวได้และไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนคำร้องของโจทก์ตามที่นัดไว้อีกต่อไป ก็ชอบที่จะมีคำสั่งงดการไต่สวนและยกคำร้องของโจทก์เสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9014/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าขึ้นศาลอุทธรณ์สำหรับจำเลยร่วมรับผิด: ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกัน เสียค่าขึ้นศาลรวมกัน
การเสียค่าขึ้นศาลจะต้องเสียในเวลาที่ยื่นฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบด้วย ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ต่อโจทก์และจำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไว้แล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ด้วยเช่นกัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ตามทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์มาฉบับเดียวกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคนคงต้องร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลเพียงจำนวนเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ของแต่ละคนเป็นการไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9014/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าขึ้นศาลอุทธรณ์: การยื่นอุทธรณ์ฉบับแยกต่างหาก จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์
การชำระค่าขึ้นศาลจะต้องชำระเมื่อเวลายื่นฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 4 ชำระเงินให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 4 ได้ยื่นอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหาก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ด้วยเช่นกัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์มาฉบับเดียวกันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8976/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษจำคุก แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้ลดโทษโดยตรง
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก จำเลยยังอุทธรณ์ต่อสู้ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดและขอให้ยกฟ้อง แม้จะมิได้อุทธรณ์ขอให้ลดโทษลงอีก เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดยังสูงเกินไป ก็ย่อมมีอำนาจแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปี ต้องมีคำสั่งชัดเจน การเพิ่มเติมโทษโดยไม่ได้รับการอุทธรณ์เป็นโมฆะ
การกักขังแทนค่าปรับ ตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ให้ถืออัตรา 200 บาท ต่อ 1 วัน เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะต้องสั่งไว้ให้ชัดแจ้ง หากศาลไม่ได้สั่งไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้งก็จะกักขังเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ แม้ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไปก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ด้วย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 195 วรรคสอง, 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อจำกัดการอุทธรณ์เรื่องทุนทรัพย์, อายุความ, และการต่อสู้คดีเกินกว่าที่ยื่นมาในชั้นต้นในคดีแชร์
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จะต้องคำนวณจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวงโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับแชร์วงแรก มีจำนวน 42,787.23 บาท ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับแชร์วงแรกเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ในดอกเบี้ยค้างชำระเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เพราะหนี้ประธานต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรก การที่โจทก์เพียงยื่นคำแก้ฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาใหม่ โดยพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 บังคับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่มีผลเป็นการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเทศดังกล่าว คดีสำหรับแชร์วงแรกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าแชร์วงที่สองจัดตั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 แล้วแชร์ล้มก่อนครบกำหนด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยนับแต่แชร์ล้ม แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี คำให้การของจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าหนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองนั้นชอบแล้ว
จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าแชร์วงที่สองจัดตั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 แล้วแชร์ล้มก่อนครบกำหนด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยนับแต่แชร์ล้ม แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี คำให้การของจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าหนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองนั้นชอบแล้ว