คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนกรรมสิทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 556 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2444/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องขับไล่หลังซื้อที่ดินประมูล แม้ยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ แต่ถูกแย่งการครอบครอง
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้นโดยสุจริตและวางเงินมัดจำไว้บางส่วน แต่ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนี้ แม้โจทก์จะยังมิได้ชำระราคาที่ดินพิพาทครบถ้วนหรือยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยผู้อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองย่อมติดไปกับทรัพย์ แม้มีคดีโอนกรรมสิทธิ์ค้างอยู่ การงดบังคับคดีไม่มีประโยชน์
ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยทั้งสามจำนวน 3 แปลง ที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาได้ดำเนินการบังคับคดีไว้แล้ว แม้ต่อมาคดีของผู้ร้องทั้งสี่จะถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสามกับพวกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจำนองไว้แก่โจทก์ให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่ก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองนั้นได้ เพราะสิทธิจำนองย่อมตกติดอยู่กับตัวทรัพย์ดังนั้นการงดการบังคับคดีไว้ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดอีกทั้งผู้ร้องทั้งสี่ก็สามารถที่จะใช้สิทธิตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองได้อยู่แล้ว แต่ผู้ร้องทั้งสี่หาได้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนจนกว่าคดีของผู้ร้องทั้งสี่และจำเลยทั้งสามกับพวกจะถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2350/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมติดตามที่ดิน แม้โอนกรรมสิทธิ์ แต่ไม่อาจเพิกถอนกระทบสิทธิบุคคลภายนอกคดี
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง แต่ที่ดินของจำเลยทั้งสองได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปยัง จ.แล้ว ทั้งตามบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินของจำเลยทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงให้ภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์สิ้นผลไปเมื่อจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนให้บุคคลอื่นหรือสิ้นผลไปด้วยประการอื่นแต่อย่างใด ภาระจำยอมของโจทก์ย่อมตกติดไปกับที่ดินของจำเลยทั้งสองที่โอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ.แล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1393 วรรคแรก
โจทก์มิได้ฟ้อง จ.และ จ.มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของ จ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2051/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ไม่เป็นสิทธิซึ่งมีตราสาร เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกัน
สิทธิซึ่งมีตราสารย่อมหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมาย และเป็นตราสารที่โอนกันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น ไม่หมายความถึงเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นพยานหลักฐานแห่งสิทธิทั่ว ๆ ไป สิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อที่ลูกหนี้มอบให้เจ้าหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้นั้น หาได้มีลักษณะเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารในความหมายดังกล่าวไม่ แม้สิทธิดังกล่าวอาจโอนแก่กันได้ก็เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดาเท่านั้น การที่ลูกหนี้มอบสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อแก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้ จึงไม่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตาม พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 96(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่า และผลของการไม่ครบกำหนดสัญญาเช่า
วันที่ 22 มิถุนายน 2525 ห. ทำสัญญาให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 11 ปี 5 เดือน โดยยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันเดียวกัน สัญญาเช่าย่อมมีผลใช้บังคับได้ระหว่าง ห. กับจำเลย เป็นแต่ว่าหากไม่มีการจดทะเบียนการเช่าก็บังคับกันได้เพียง 3 ปี เท่านั้น หาทำให้สัญญาเช่าเป็นโมฆะไม่แม้พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 17 สิงหาคม 2525ก็มิได้หมายความว่าสัญญาเช่าเพิ่งเกิดขึ้นในวันจดทะเบียน การที่ห.จดทะเบียนยกที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่ภรรยาและบุตรของห.เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2525 ภรรยาและบุตรของ ห. จึงต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ ห. ทำไว้ก่อน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 569 ภรรยาและบุตรของ ห. จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าโจทก์ย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าด้วย เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดและไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคาร ผู้รับโอนต้องผูกพันตามสัญญาเดิม
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 ห.ทำสัญญาให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 11 ปี 5 เดือน โดยได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนการเช่าต่อเจ้าหน้าที่ในวันเดียวกัน สัญญาเช่าย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ เป็นแต่ว่าหากไม่มีการจดทะเบียนการเช่าก็บังคับกันได้เพียง 3 ปี การที่เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525 ก็มิได้หมายความว่าสัญญาเช่าเพิ่งเกิดขึ้นในวันดังกล่าว การที่ ห. จดทะเบียนยกที่ดินและอาคารพิพาทให้ภรรยาและบุตร แล้วภรรยาและบุตรของ ห.จดทะเบียนให้ห.มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและอาคารพิพาทก่อนวันจดทะเบียนการเช่า ภรรยาและบุตรของ ห.ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ ห.ทำไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 ภรรยาและบุตรของห.จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 โจทก์ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าว โดยต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทจนครบ 11 ปี 5 เดือน การที่ ห.ถึงแก่ความตาย หาทำให้สัญญาเช่าระงับไม่ เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด และไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4885/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดิน การโอนกรรมสิทธิ์ และการครอบครองปรปักษ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่
โจทก์บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินปลูกบ้าน จำเลยอาศัยในบ้านดังกล่าวและไม่ยอมออก ขอบังคับให้จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นการสมบูรณ์ทั้งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ เพราะเมื่อบ้านปลูกอยู่ในที่ดินโจทก์ไม่ว่าส่วนไหน โจทก์ก็ขอให้ขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำเป็นจะต้องมีแผนที่พิพาทประกอบอีกว่าบ้านอยู่ส่วนไหนของที่ดินเนื่องจากแผนที่พิพาทเป็นรายละเอียดที่จะทำหรือนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยฎีกาว่า แม้การยกให้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จำเลยอยู่ในบ้านดังกล่าวมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเกิน 30 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่94123 เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 107วรรคสองเดิม ดังนั้นเมื่อ ป.โอนที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่ ส.โดยไม่ปรากฏมีเงื่อนไขว่าโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านดังกล่าว ก็ต้องถือว่าได้โอนบ้านนั้นด้วย โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าการโอนนั้นให้รวมถึงบ้านด้วยแต่อย่างใด ส.จึงมีสิทธิขายฝากบ้านดังกล่าวนั้นให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวด้วย
ส่วนบ้านเลขที่ 2 และ 2/1 ปลูกอยู่ในที่ดินของ ป.บางส่วนอีกทั้งฝ่ายจำเลยมิได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบเลยว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของ ป.และใช้สิทธินั้นปลูกบ้านทั้งสองหลังในที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 109 เดิมนอกจากนี้ยังได้ความว่าบ้านทั้งสองหลังได้ต่อเติมอย่างถาวรจากบ้านเลขที่ 1จึงเป็นส่วนควบกับบ้านและที่ดินของ ป.ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. เมื่อ ป.ยกที่ดินให้ ส. ส.จึงได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 107วรรรคสองเดิม ส.จึงมีสิทธิขายฝากบ้านเลขที่ 2 และ 2/1 ให้ไว้แก่โจทก์ได้และโจทก์ย่อมได้กรรรมสิทธิ์ในบ้าน 2 หลังนี้เช่นเดียวกับบ้านเลขที่ 1
ในชั้นอุทธรณ์ ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 17 อยู่ในบ้านของตนเอง โจทก์จึงไม่เสียหายเท่านั้น หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาทต่อหลังสูงเกินไปและไม่ชอบเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอ้างอิงขึ้นกล่าวไว้โดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ลดลงเหลือหลังละ500 บาทต่อเดือนจึงเป็นการไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และให้บังคับเรื่องค่าเสียหายไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์โดยการส่งมอบ และผลกระทบต่อการขอคืนของกลาง
ผู้ร้องได้ยกรถยนต์ของกลางให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1แล้ว หลังจากยกให้ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การให้รถยนต์ของกลางเพียงแต่ส่งมอบให้ก็สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 523 แล้ว หลักฐานทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่กรณีที่จะต้องจดทะเบียนการโอนตาม มาตรา 525 ฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องจึงไม่อาจขอคืนรถยนต์ของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้จากการขายที่ดิน: เงินมัดจำและดอกเบี้ยถือเป็นเงินได้พึงประเมิน แม้ยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์
เงื่อนไขการชำระเงินค่าที่ดินจำนวน 20,077,000 บาท ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับ ก. ผู้จะซื้อ ระบุว่า ก.ได้ชำระมัดจำให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาคือวันที่ 12 ตุลาคม 2526จำนวน 1,000,000 บาท หลังจากนั้นจะชำระเงิน 5,000,000 บาทวันที่ 20 มีนาคม 2527 และชำระเงิน 4,000,000 บาท วันที่ 20มิถุนายน 2527 เงินส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ณ สำนักงานที่ดินในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2527 เช่นนี้ แม้ว่าเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจาก ก. ในปี 2526 ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินจะระบุว่าเป็นเงินมัดจำก็ตาม แต่ตามเงื่อนไขการชำระราคาที่ดินดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันให้ถือเอาเงินมัดจำ จำนวน 1,000,000 บาท นั้น เป็นการชำระราคาบางส่วนเช่นเดียวกับการชำระราคาที่ดินในงวดอื่น ๆ ด้วยหาใช่เป็นเพียงเงินประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินเท่านั้นไม่ ส่วนเงินได้จำนวน 5,477,500 บาท ที่โจทก์ได้รับในปี 2527 นั้น ส่วนหนึ่งจำนวน 5,000,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วน และอีกส่วนหนึ่งจำนวน 477,500 บาท นั้น เป็นเงินดอกเบี้ยที่ ก.จ่ายให้แก่โจทก์ เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ยอมให้ ก. ผัดการชำระเงินออกไป เงินดอกเบี้ยจำนวน 477,500 บาท นั้น จึงถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้รับเนื่องจากสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ดังนั้นเงินได้พิพาททั้งหมดจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 แม้ว่า ก. ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชอบให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน หากโอนไม่ได้ให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับไว้พร้อมเบี้ยปรับก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินได้พิพาทเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจาก ก. เพื่อชำระราคาที่ดินบางส่วน และเป็นเงินค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับเนื่องจากสัญญาจะซื้อขายที่ดิน เงินได้พิพาทนั้นย่อมตกเป็นของโจทก์ในแต่ละปีภาษีที่ได้รับเงินนั้นแล้ว หาใช่ว่าเงินได้พิพาทดังกล่าว ยังไม่แน่นอนว่าจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จึงมิใช่เงินได้พึงประเมินไม่ ที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 52 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนและห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้จนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่นำส่งไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว นั้น เป็นเพียงมาตราการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ได้ครบถ้วน รัดกุมและป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีเท่านั้น หาใช่ว่า กฎหมายยกเว้นให้ผู้มีเงินได้ไปเสียภาษีในวันโอนกรรมสิทธิ์ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีเงินได้จากการขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินในปีภาษีใด โจทก์ก็ต้องเสียภาษีในปีภาษีนั้น แม้ว่าในปีภาษีนั้นจะยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันก็ตาม เงินได้พิพาทส่วนหนึ่งจำนวน 600,000 บาท เป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วน และอีกส่วนหนึ่ง จำนวน 477,500 บาท เป็นค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับเนื่องจากสัญญาจะซื้อขายที่ดิน เงินได้พิพาททั้งหมดดังกล่าว จึงมิใช่เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนตามมาตรา 40(5)(ค) และไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทต่าง ๆ ดังระบุไว้ในมาตรา 40(1)ถึง (7) แห่งประมวลรัษฎากร จึงจัดเป็นเงินได้จากการอื่น ๆ ตามมาตรา 40(8) ที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 42(13) บัญญัติยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้น หมายความเฉพาะค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลหนี้ละเมิดเท่านั้น เมื่อเงินได้พิพาทเป็นเงินได้ที่โจทก์ได้รับเนื่องจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินจึงมีมูลหนี้มาจากสัญญา หาใช่มูลหนี้ละเมิดไม่ ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา นี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังการสมรส และผลกระทบต่อสิทธิในการอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดในคดีล้มละลายของคู่สมรส
การยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ไม่ใช่เป็นการร้องต่อศาลเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนยึดทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯมาตรา 158 แต่เป็นกรณีที่ร้องต่อศาลตามมาตรา 146 ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ถอนการยึดไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ต่อไป เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 เดิม ผู้ร้องร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปล่อยทรัพย์ที่ยึดจำนวน 20 รายการ เป็นเครื่องปรับอากาศและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งผู้ร้องนำมาติดตั้งและประดับบ้านของผู้ร้อง และผู้ร้องได้ให้จำเลยทั้งสองอยู่อาศัยกับใช้สอยทรัพย์ 20 รายการนั้น โดยมิได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่บุตรสาวโดยมิได้แยกทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการมาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยเฉพาะจึงฟังว่า ผู้ร้องได้ยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการให้บุตรสาวไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่ยึดทั้ง20 รายการ ไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปล่อยทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการ นั้น
of 56