คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เลิกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,045 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12239-12405/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างทางอ้อมโดยตัวแทน แม้เป็นการบอกเลิกด้วยวาจา ก็ถือเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
จำเลยรับว่ามอบให้ ธ. ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทจำเลยที่จังหวัดสงขลาเป็นตัวแทนของจำเลยในการประชุมแจ้งเรื่องให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดไปทำงานที่บริษัท ซ. ธ. จึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย จึงเป็นตัวแทนและนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และจำเลยซึ่งเป็นตัวการจะต้องผูกพันต่อลูกจ้างและโจทก์ทั้งหมดในการกระทำของ ธ. ที่ได้กระทำไปภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 ดังนั้น การที่ ธ. แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอให้ลูกจ้างทั้งหมดไปทำงานที่บริษัท ซ. หากไม่ไปจะไม่จ่ายค่าจ้าง แม้การทำงานของโจทก์ทั้งหมดในบริษัทใหม่จะเป็นการทำงานเช่นเดิม แต่โจทก์ทั้งหมดไม่ยอมทำตามจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ทั้งหมดไม่ได้ เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งหมดที่จะไปทำงานกับบริษัทใหม่หรือไม่ก็ได้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดแล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12199-12223/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างใหม่หลังเกษียณอายุ: สิทธิค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง
โจทก์ที่ 13 เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 อันมีผลให้สัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุ การที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 13 ในวันที่ครบกำหนดเกษียณอายุ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยตกลงจ้างโจทก์ที่ 13 ทำงานต่อไปอีก 1 ปี หลังจากครบเกษียณอายุจึงเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่ มิใช่กรณีที่โจทก์ที่ 13 ทำงานกับจำเลยต่อเนื่องไม่ขาดตอนดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ภายหลังเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 13 โจทก์ที่ 13 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12194-12198/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบการตอกบัตรเวลาทำงาน ถือเป็นการเลิกจ้างที่ชอบธรรม
การที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ทำงานล่วงเวลา เมื่อทำงานล่วงเวลาเสร็จแต่มิได้ตอกบัตรเพื่อลงเวลาเลิกงานด้วยตนเอง ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย เรื่อง การตอกบัตรแทนกัน หากฝ่าฝืน จำเลยจะลงโทษสูงสุดโดยการปลดจากการเป็นพนักงานทันที ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเกี่ยวกับการตอกบัตรเวลาทำงานนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาที่ลูกจ้างของจำเลยแต่ละคนปฏิบัติงานในแต่ละวันแล้ว ยังเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลาในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาซึ่งจำเลยได้ประกาศเตือนลูกจ้างแล้ว หากมีการทุจริตเกี่ยวกับการตอกบัตรเวลาจำเลยจะเลิกจ้างทันที ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและการตอกบัตรเวลาทำงานมีความสำคัญที่จำเลยยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การปกครองและระเบียบการทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะจำเลยที่มีลูกจ้างจำนวนมาก แม้โจทก์ยังมิได้เบิกค่าล่วงเวลา แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวส่อไปในทางทุจริต และถือได้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้และถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลและเป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12039-12042/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาหลังเลิกจ้าง: สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพัน
สิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่สมัครใจทำข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวภายหลังจากที่จำเลยเลิกจ้าง ซึ่งในขณะนั้นโจทก์ทั้งสี่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยและมีอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของตนเองได้ เพราะพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาจากจำเลยไปแล้ว ข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ หาได้ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะส่งผลให้เป็น โมฆะแต่อย่างใดไม่ โจทก์ทั้งสี่จึงต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11912/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงาน: เบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้าง, การนับระยะเวลาทำงานต่อเนื่อง, การเลิกจ้างตามกำหนดสัญญา
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยาม "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น..." ซึ่งตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระบุเรื่องค่าจ้างและการจ่ายค่าจ้างไว้ในข้อ 3 และระบุค่าเบี้ยเลี้ยงไว้ในข้อ 3.2 เพียงว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ที่ปฏิบัติงานบนเรือเป็นอัตราแน่นอนทุกเดือนระหว่างออกไปปฏิบัติงาน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายเรือทำงานประจำบนเรือจะต้องปฏิบัติงานที่อื่นใดนอกจากบนเรือดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายโจทก์จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นรายเดือน การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้างเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วโจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,200 บาท จึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างคราวละ 6 เดือน การนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกันจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 บัญญัติว่า "การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด และการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตามให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น" ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งนายเรือตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2547 โดยทำสัญญาจ้างแรงงานช่วงเวลาละ 6 เดือนต่อเนื่องกันอีก 6 ช่วง ซึ่งการทำสัญญาจ้างแรงงานในลักษณะดังกล่าวทำให้โจทก์มีระยะเวลาการทำงานไม่ติดต่อกัน สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างก็จะได้ไม่เท่าสิทธิตามที่บัญญัติในมาตรา 118 จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิในค่าชดเชยของโจทก์ตามมาตรา 20 การที่ศาลแรงงานกลางนับระยะเวลาการทำงานของโจทก์ทุกช่วงเข้าด้วยกัน เห็นว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) จึงชอบแล้ว แต่ในส่วนของการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์นำเรือกลับถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างในสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือข้อ 2 เช่นนี้ สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นคนประจำเรือตำแหน่งนายเรือ ซึ่งในวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างอาจเป็นวันที่โจทก์ยังนำเรือกลับมาไม่ถึงกรุงเทพมหานคร เพราะเรือยังอยู่ในความควบคุมของโจทก์ การที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าการเดินทางกลับมาไม่ถึงมิให้เป็นการต่ออายุสัญญาจ้าง ซึ่งมีผลทำให้สัญญาจ้างครบกำหนดเมื่อเรือเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ย่อมเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตกเป็นโมฆะแต่ประการใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีที่โจทก์นำเรือกลับมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครเป็นการเลิกจ้างเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10907/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน หากศาลอนุญาตแล้ว ถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิ์ของกรรมการลูกจ้าง เพื่อมิให้นายจ้างกระทำการใดๆ ที่บัญญัติไว้เป็นผลเสียหายแก่กรรมการลูกจ้าง แต่หากนายจ้างเห็นว่ามีกรณีจำเป็นก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ซึ่งศาลแรงงานจะพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นและความเหมาะสมเพียงพอที่จะอนุญาต เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างจึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและความเหมาะสมเพียงพอสำหรับกรณีที่จำเลยขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต่อมาจึงเป็นกรณีที่จำเลยดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ภายใต้ดุลยพินิจของศาลแรงงานกลางที่อนุญาต จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987-988/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันหน้าที่ในอนาคต, การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
การที่โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม เป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีรายละเอียดขั้นตอนว่าคำสั่งลงโทษลูกจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือการสอบสวนข้อเท็จจริงจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนด 150 วัน แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 150 วัน และจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้อง และตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นจากข้อกล่าวหา ก็เป็นเรื่องพ้นจากข้อกล่าวหาในการสอบสวนครั้งนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์มิได้กระทำผิดอันจะมีผลกระทบถึงการพิจารณาคดีของศาล
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งนิติกร 5 มีหน้าที่ฟ้องร้องลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 เป็นค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดี โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ไม่คืนเงิน โดยนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการทุจริตและกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 โจทก์หยุดงานรวม 66.5 วัน โดยอ้างว่าป่วย โจทก์มีสิทธิลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วัน โจทก์จึงลาป่วยเกินกำหนดหรือระเบียบ 36.5 วัน อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 4 มีเจตนาค้ำประกันโจทก์ในการที่โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 และยินยอมค้ำประกันโจทก์ไม่ว่าโจทก์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และต่อมาโจทก์ได้ก่อความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9610/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากความล่าช้าในการส่งเอกสารบัญชี
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ส่งมอบงบการเงินกับเอกสารทางบัญชีอื่น สำหรับรอง 6 เดือนแรกของปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ของจำเลยให้ ท. หรือ ช. รองกรรมการผู้จัดการของจำเลยภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และส่งมอบให้ผู้ตรวจสอบบัญชีของ บริษัท ด. ในวันที่ 4, 5, 6 ธันวาคม 2551 โจทก์ทราบคำสั่งแล้วแต่เพิกเฉย อันเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงและจงใจให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ดังนั้นฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าจ้างที่บริษัท ด. ต้องเข้ามาตรวจสอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 และค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับบัญชีให้แก่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของจำเลย จึงเป็นฟ้องแย้งในเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938-8992/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการจ่ายสินจ้างทดแทนที่ไม่ครบถ้วน
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 ครบถ้วนแล้วโดยพิจารณาจากเอกสาร ซึ่งมีรอยแก้ไขจนไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ และไม่พิจารณาว่าลายมือลูกจ้างในเอกสารดังกล่าวมีการลงลายมือชื่อไว้ตั้งแต่เมื่อใดและลงลายมือชื่อรับเงินประเภทใดเอกสารดังกล่าวมีพิรุธหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี และที่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าอุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี ไม่เคยผิดนัดจ่ายค่าจ้าง มีการจ่ายเงินโบนัสทุกปีและปรับค่าจ้างประจำปีสม่ำเสมอมาโดยตลอด การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าจำเลยประกอบกิจการขาดทุน การเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดีล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่จากเดิมที่เคยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างมาเป็นแยกค่าครองชีพออกจากค่าจ้าง แต่หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วจำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างรายวันและรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ ย่อมถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ดังนั้น ในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย นายจ้างจะต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมค่าจ้างทุกประเภท รวมทั้งค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโฆฆะ
โจทก์ที่ 10 ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าส่วนที่ขาดเป็นเงิน 69 บาท แต่ตามเอกสารในสำนวนปรากฏว่าโจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้เช่นเดียวกับโจทก์อื่น ๆ คนละ 350 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมจึงให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 350 บาท ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
จำเลยจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้า แต่จำเลยจ่ายไม่ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบเป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะและมิใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าสิบห้าจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าสิบห้าทวงถามเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5607/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: พิจารณาจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานและประวัติการทำงาน
จำเลยมีข้อมูลในการพิจารณาปฏิบัติงานของโจทก์พอสมควรอยู่แล้ว แม้ไม่มีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จำเลยก็สามารถพิจารณาว่ามีเหตุสมควรเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ได้ การสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นเพียงแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งทำให้จำเลยมีข้อมูลในการพิจารณามากขึ้นเท่านั้น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแม้จะปฏิบัติไม่ถูกต้องและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย ก็ไม่เป็นเหตุที่จะมีคำสั่งเลิกจ้างไม่ได้ เพราะการสั่งเลิกจ้างเป็นการใช้อำนาจบริหารโดยอาศัยข้อบังคับจำเลย ว่าด้วยเรื่องการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือนและการถอดถอนสำหรับพนักงานตามข้อบัง 20 (2) ไม่ใช่กรณีมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องวินัย เมื่อโจทก์บกพร่องในการปฏิบัติงาน ประกอบกับโจทก์เคยมีประวัติถูกตัดเตือนเรื่องการดำเนินงานมาแล้ว การที่จำเลยพิจารณารายงานการสอบสวนโจทก์แล้วเห็นว่าไม่อาจไว้วางใจโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และมีคำสั่งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
of 205