คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กรรมสิทธิ์ที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 468 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุคคลภายนอกคดีพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ผู้คัดค้านชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นคดีใหม่ และกรณีนี้มิใช่เป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินขัดแย้งกับสิทธิภารจำยอม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยหากมิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินที่ใช้วางท่อระบายน้ำทิ้งเป็นที่ดินของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าใช้ที่ดินตรงที่วางท่อระบายน้ำทิ้งโดยเจตนาจะให้ได้ภารจำยอม ฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความในการใช้ที่ดินตรงที่วางท่อระบายน้ำทิ้งจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5100/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีกรรมสิทธิ์ที่ดินเปลี่ยนประเภทเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณา
โจทก์ฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลย จึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ของคดีไม่เกินสามแสนบาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงซึ่งคดีอยู่ในเขตอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8771/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: การฟ้องแย้งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยอาศัยเหตุครอบครองปรปักษ์ เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส และตกเป็นของ ป.สามีกับโจทก์ร่วมกันในฐานะเจ้าของรวม ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก และ ป. ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. โดยการครอบครองปกปักษ์ ขณะ ป.และโจทก์มีสถานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของ ป. จึงเป็นการกระทำแทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย แม้ต่อมา ป. และโจทก์จะจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันภายหลังก็ไม่ทำให้สถานะของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทของโจทก์เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ โจทก์ยังคงต้องผูกพันกับการกระทำของ ป. ในคดีดังกล่าวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท และต้องถือว่าโจทก์เป็นคู่ความเดียวกันกับ ป. ผู้ร้องในคดีก่อนการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับที่ ป. ยื่นคำร้องในคดีก่อนจึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน โดยคู่ความเดียวกันเมื่อคดีก่อนศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความบุกรุกที่ดินโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดแจ้งความเท็จ แม้มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน แต่ตามทางพิจารณาจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทของจำเลย โดยมิได้นำสืบต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยไปแจ้งความ กรณีที่ข้อแตกต่างเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลา มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ และการที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น มิได้เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ ดังนั้นหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ โดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริง เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเข้าใจว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทการที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาบุกรุก เป็นกรณีที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในทำนองเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของบิดา และโจทก์ได้บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมายนอกจากนี้เมื่อพนักงานสอบสวนปากคำจำเลย จำเลยก็ให้การรับว่าที่ดินของจำเลยดังกล่าวยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องทางแพ่ง โต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ส่วนฝ่ายใดจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท: ศาลฎีกายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าที่ดินเป็นของนางลมัย ไม่ใช่จำเลย
ล. ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยยื่นฟ้องส. กับโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่ ส. และบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้าม ส. และโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท โดยอ้างสิทธิในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้จำเลยชนะคดีเพราะโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโดยไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นว่า ระหว่างจำเลยกับ ล. ผู้ใดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ล. ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ล. ไม่ใช่เป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้จึงแตกต่างจากคดีก่อนฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ทนายจำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้งทั้งที่ทราบคำกำชับของศาลแล้วพฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลและตามคำร้องขอเลื่อนคดีและใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องอ้างเหตุเพียงว่าจำเลยเดินทางไกลไม่ได้เท่านั้น มิได้มีปรากฏเหตุผลว่าเป็นความเจ็บป่วยจนถึงไม่สามารถมาศาลได้อย่างแท้จริงหรือไม่สามารถเบิกความได้ทั้งจำเลยก็มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลชั้นต้นว่าหากไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรม พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่ามีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีล่าช้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6536/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้สัญญาซื้อขายจะตกเป็นโมฆะ
โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยได้กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องและให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวโจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เพียงประการเดียว อันจะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(1) แต่โจทก์ยังขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อโจทก์อีกทั้งห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกด้วย จึงเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องตามมาตรา 55 ประกอบกับมาตรา 172 วรรคหนึ่ง
แม้หลักฐานการซื้อขายที่ดินพิพาทจะระบุชื่อว่า "หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ" ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวได้ระบุข้อความอันเป็นข้อตกลงที่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์กับจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันหรือไม่ เมื่อใด ประกอบกับข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 60,000 บาท ให้แก่จำเลยรับไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญานั้นเอง และจำเลยก็ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันทำหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นต้นไป เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าทั้งฝ่ายโจทก์กับจำเลยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด มิใช่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย
แม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การที่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้นเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว มิใช่เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลย โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดิน: การได้มาโดยโฉนด การครอบครองปรปักษ์ และสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดิน ซึ่งมี ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออก โฉนดที่ดินให้ ส. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 และเมื่อ ส. ขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่ ส. ที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าว ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ตามกฎหมาย จำเลยจะอ้างว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้ ส. ผู้มีกรรมสิทธิ์ไม่ได้ แม้จำเลยจะมีเจตนาครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดิน เป็นต้นไป ต่อมามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่ดินดังกล่าวมาเป็นของโจทก์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 เนื่องจากโจทก์ประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยมิได้ให้การหรือนำสืบว่าโจทก์มิใช่บุคคลภายนอกและกระทำการไม่สุจริตแล้ว โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต สิทธิการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยจึงไม่อาจใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามมาตรา 1299 วรรคสอง การครอบครองปรปักษ์ที่มีอยู่ก่อนนั้นจึงสิ้นไป แม้หลังจากที่โจทก์รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตามโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเป็นของโจทก์แล้ว จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทใหม่ตั้งแต่ปี 2533 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5310/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา และการซื้อขายระงับ
นอกจากโจทก์ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหายแล้ว โจทก์ยังอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนเพื่อให้การซื้อขายที่ดินเสร็จสิ้นไปสมเจตนาของโจทก์ และจำเลยด้วย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้จำเลยเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากมีคำพิพากษาถึงที่สุดจำเลยได้เสนอชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์แล้วและได้นำโฉนดที่ดินที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์พร้อมค่าเสียหายกับดอกเบี้ยมาวางศาลเพื่อให้โจทก์มารับไปดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยได้ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว ก็ไม่มีหนี้ที่โจทก์จะขอบังคับเอาจากจำเลยทั้งสองอีกต่อไป แต่โจทก์ยังคงมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาคือ เงินค่าที่ดินที่เหลือเป็นการตอบแทนเพื่อให้การซื้อขายที่ดินเป็นอันเสร็จสิ้นไป ด้วยเหตุนี้เมื่อโจทก์ได้รับคำบังคับโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยภายในกำหนดตามคำบังคับเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะขอหมายบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275
การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยภายในกำหนดตามคำบังคับ ถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลย หนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่กันย่อมเป็นอันระงับไป แม้คำพิพากษามิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือไว้ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ ทั้งกรณีไม่ใช่เป็นการย่นระยะเวลาบังคับคดีอันจะขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท: ผลของคำพิพากษาคดีกรรมสิทธิ์ต่อสัญญาซื้อขายฝาก
เมื่อคำพิพากษาในคดีแพ่งซึ่งถึงที่สุดแล้ว ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยฟังว่า พ. ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นทรัพย์มรดกของ อ. และ จ. ที่ตกทอดแก่ทายาท จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ อ. และ จ. จึงมีสิทธิดีกว่า พ. โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวจึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้ในคดีดังกล่าวศาลจะมิได้พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายฝากระหว่าง พ. กับโจทก์ โดยฟังว่าโจทก์รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนไว้โดยสุจริต แต่โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ใน ที่ดินพิพาทเพราะ พ. ผู้ขายฝากไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่จะไปทำสัญญาขายฝากให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. และ จ. ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นเอกสารสิทธิของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ อ. และ จ. ได้ และการยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามไม่ถือเป็นการละเมิดต่อโจทก์
of 47