คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การคำนวณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 18 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5983/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามระยะเวลาจ่ายค่าจ้าง
จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์เดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 16และวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือนซึ่งเป็นวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันสิ้นเดือนโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือวันที่ 16 มีนาคม 2531 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์ขอก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ขอมา ศาลแรงงานก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิได้ จำเลยนำสืบพยานเอกสารโดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานสามวัน แต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้ในการพิจารณาคดีแรงงานโดยเฉพาะ จึงหาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคแรกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณเงินเพิ่มจากค่าจ้างค้างชำระ นายจ้างต้องจ่ายร้อยละ 15 ต่อระยะเวลา 7 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
จำเลยจงใจผิดนัดจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 31 ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้างที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวัน มิใช่ร้อยละ 15 ต่อปี.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ผลกระทบของคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่ง และการคำนวณค่าเสียหาย
จำเลยที่ 4 ลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถเฉี่ยวชนกับรถที่ น.ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับสวนทางมาเป็นเหตุให้ ส.ภริยาโจทก์ในรถที่ น.ขับถึงแก่ความตายจำเลยที่ 4 ถูกฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วว่า จำเลยที่ 4 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คำพิพากษามีผลผูกพันเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย หาผูกพัน น. หรือจำเลยที่ 2 นายจ้างของ น. ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีอาญาด้วยไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงอาจนำสืบต่อสู้ได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยที่ 4. มิใช่เกิดจากความผิดของ น.เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ส.ภริยาโจทก์ตายจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างของตนได้กระทำไปในทางการที่จ้าง
ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพและค่าปลงศพผู้ตาย โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายมีสิทธิที่จะเรียกได้
ค่าขาดสิทธิที่โจทก์จะได้รับอุปการะเลี้ยงดูจาก ส.ผู้ตายมีตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องคำนึงถึงความเป็นจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าขณะถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย ส.มีรายได้และให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2516

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินของกลางที่ผู้เสียหายมิได้เป็นเจ้าของ และการคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่ถูกต้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปล้นเอาธนบัตร 4,000 บาทของเจ้าทรัพย์ไป ต่อมาจับจำเลยได้และได้ธนบัตรรวม 1,780 บาทจากจำเลยที่ 2 เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษและคืนธนบัตร 1,780 บาทของกลางแก่เจ้าทรัพย์และให้จำเลยคืนหรือใช้ธนบัตรอีก 2,220 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์ด้วย เมื่อเงินของกลาง 1,780 บาทนี้ผู้เสียหายมิได้เป็นเจ้าของ แม้จะเป็นของคนร้ายที่ร่วมปล้นซึ่งต้องใช้คืนผู้เสียหายอยู่แล้ว การที่จะพิพากษาให้คืนแก่ผู้เสียหายนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49, 50 และเมื่อเงินของกลางนี้ไม่อาจถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันผู้เสียหายจะพึงได้รับด้วยการที่ศาลสั่งคืนให้แล้วก็ย่อมไม่ต้องนำไปหักออกจากจำนวนค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้อง จำนวนเงิน 1,780 บาทนี้จึงกลับไปรวมอยู่ในจำนวนค่าเสียหาย 4,000 บาทซึ่งโจทก์ฟ้องว่าผู้เสียหายพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 4,000 บาท แก่ผู้เสียหายธนบัตรของกลาง 1,780 บาทให้คืนจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739/2498

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการบุกรุกและใช้สถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการคำนวณค่าเสียหายและดอกเบี้ย
สิ่งปลูกสร้างที่ผู้เช่าช่วงปลูกสร้างขึ้นในที่ดินของผู้ให้เช่าถ้าไม่ปรากฏสัญญาระหว่างผู้เช่ากับผู้เช่าช่วงเป็นอย่างอื่นไม่ตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า
รัฐบาลไทยสัญญาให้ฝ่ายสหประชาชาติผู้ชนะสงครามเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยสหประชาชาติจึงมีอำนาจจัดทรัพย์สินของทหารญี่ปุ่น และขายทอดตลาดทรัพย์นั้นได้
การขายกุดังซึ่งต้องรื้อไป เป็นการขายอย่างสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องจดทะเบียนการตั้งตัวแทนก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือ แม้เจ้าของที่ดินเป็นผู้ซื้อแล้วไม่รื้อไปก็ไม่แตกต่างกัน
ก.ท.ส.ไม่มีอำนาจให้ผู้ใดใช้กุดัง ซึ่งโจทก์ซื้อจากสหประชาชาติจำเลยใช้กุดังนั้นโดยไม่รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นละเมิดจะอ้างว่าก.ท.ส. อนุญาตให้จำเลยใช้ไม่ได้
เงินวางศาลที่จะให้ยกเว้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียมนั้นต้องอยู่ในลักษณะที่จะให้คู่ความอีกฝ่ายรับไปได้ ถึงแม้จะไม่ยอมรับผิดถ้าจำเลยวางเงินเพียงเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ยังสงวนสิทธิต่อสู้คดีต่อไปไม่ใช่การวางเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา135,164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 684/2495

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม – การคำนวณระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2493 ว่า จำเลยไม่ใช่คนอนาถาให้ยกคำร้องถ้าประสงค์จะอุทธรณ์ ก็ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางภายใน 3 วันนับแต่วันนี้ ดังนี้ จำเลยย่อมมีสิทธินำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2493 ได้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมคำนวณเข้าด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย และวันหยุดพักผ่อนประจำปี: การพิจารณาเหตุผลในการเลิกจ้าง และการคำนวณค่าชดเชยที่ถูกต้อง
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขาย ปรากฏว่าโจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วัน สุดท้ายคิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว รวมค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทั้งสิ้น 795,065 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีการรับมรดก: การคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน หนี้สิน และการงด/ลดเบี้ยปรับ
กำหนดระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 26 วรรคห้า เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า มรดก ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ซึ่งบัญญัติว่า กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ โดยมาตรา 1599 บัญญัติให้มรดกนั้นตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกจึงหมายถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะหากถือวันที่ผู้รับมรดกได้รับเอามรดกตามจริง นอกจากไม่เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ยังจะเป็นผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดเก็บภาษีที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้รับมรดกว่าจะรับเอามรดกเมื่อใด ซึ่งยากต่อการบังคับใช้กฎหมายของทุกฝ่าย ดังนี้ การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามบัญชีเงินฝากธนาคารพิพาทที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 5 ให้ถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันรวมทั้งดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้นจึงต้องถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินดังกล่าวที่พึงมีในวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น รายการฝาก รายการดอกเบี้ย และรายการเงินปันผลที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งไม่อาจฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีสิทธิได้รับในขณะถึงแก่ความตาย ตลอดจนรายการหนี้สินต่าง ๆ ที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นหนี้ของกองมรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณและหักมูลค่าเพื่อเสียภาษีการรับมรดก
การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ เป็นการเก็บภาษีจากกองมรดกของเจ้ามรดกที่มีหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ แต่การจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นการเก็บภาษีจากทายาทผู้รับมรดกซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษีกัน โดย พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 บัญญัติถึงกรณีการเสียภาษีการรับมรดกของทายาทไว้โดยเฉพาะ ไม่จำต้องถือตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ
เจ้ามรดกเป็นเจ้าของหุ้นกู้ของบริษัท ซ. ซึ่งในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หุ้นกู้ดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ทรัพย์มรดกที่โจทก์ได้รับขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายคือหุ้นกู้และสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้นั้น ไม่ใช่เงินฝากจากเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่เข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้ที่เป็นทรัพย์มรดกจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (3) และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 3 (2)
of 2