คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การฟ้องร้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 171 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีแก่เจ้าพนักงานที่ดินที่ไม่ได้เป็นจำเลยในคดี กรณีเขตปฏิรูปที่ดิน
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโจทก์มีอำนาจดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งทางราชการไม่อาจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ใดได้ แต่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจขอให้บังคับคดีแก่เจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1630/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดจากการให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนต้องพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดจากการให้การนั้นโดยตรง และต้องบรรยายฟ้องการกระทำละเมิดที่ชัดเจน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อปรักปรำโจทก์ให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายที่ลักเงินของธนาคารไปเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจและเลิกจ้างโจทก์ โดยเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการที่ต้องถูกเลิกจ้าง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าธนาคารเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากธนาคารรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการพิจารณาวินัยและอุทธรณ์ของธนาคารที่ธนาคารตั้งขึ้นทำการสอบสวนหลังเกิดเหตุเอง ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารทำนองเดียวกับที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์โดยให้การเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารอันเป็นการให้การคนละกรณีกัน จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพราะเป็นเรื่องนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องถูกธนาคารเลิกจ้างมาเพียงอย่างเดียว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยเป็นความเท็จหรือไม่ และไม่อาจถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขอเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย: วิธีพิจารณาคดีที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7411/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ และการยอมรับอำนาจศาลโดยปริยาย การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการกู้ยืมเงินภายในประเทศ คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แต่ในชั้นชี้สองสถานศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ไว้ และจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งทั้งเมื่อศาลดังกล่าวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยทั้งสามก็มิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้ง แสดงว่ายอมรับอำนาจศาล และไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาล เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขึ้นมา จึงถือว่าล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่ส่งให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 187/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความไม่กระทบหนี้เดิม การพิพากษายกฟ้องเป็นอคติ
จำเลยทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงให้แก่โจทก์ โดยมีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์ค่าลิขสิทธิ์เพลงว่า หากโจทก์ขายหรือให้เช่าลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาได้ โจทก์จะแบ่งผลประโยชน์ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ได้จากการขายหรือให้เช่า ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าปฏิบัติผิดข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ลิขสิทธิ์ดังกล่าว โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าว โดยจำเลยได้ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท ว. ใช้ลิขสิทธิ์เพลงบางส่วนก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีแรก ดังนั้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นการตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธินำลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาไปโอนขายให้แก่บุคคลภายนอก แต่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นนำไปทำสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพพร้อมเสียงเป็นครั้งคราว แต่ไม่มีสิทธิดัดแปลงหรือแก้ไขเสียงร้อง เสียงดนตรีจากต้นแบบเดิมที่ได้รับอนุญาต และตกลงยกเลิกบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์ค่าลิขสิทธิ์ฉบับเดิม โดยให้ใช้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้แทน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลเป็นเพียงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงและบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์ค่าลิขสิทธิ์เพลงเท่านั้น โดยมิได้เป็นการเลิกสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าสัญญาประนีประนอมยอมความได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับหนี้ตามคำฟ้องคดีนี้ที่เกิดขึ้นก่อน กรณียังไม่มีข้อเท็จจริงและเหตุผลที่จะวินิจฉัยได้ว่า หนี้ตามฟ้องซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นหนี้ที่เกิดก่อนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้องเป็นการไม่ชอบ
เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป จึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้าย ป.วิ.พ. มิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินและการพิสูจน์หลักฐาน การฟ้องเรียกค่าเสียหายต้องระบุสภาพแห่งข้อหาชัดเจน
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็นำสืบว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวและได้ส่งสำเนาใบแทนโฉนดที่ดินต่อศาล จำเลยเพียงแต่ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่โจทก์อ้าง ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยก็ไม่ได้นำสืบตามที่จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์และไม่ได้นำสืบโต้แย้งการนำสืบของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมาย และการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก็คือการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั่นเอง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 จึงเป็นการวินิจฉัยไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หาขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนไม่
ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหาย โจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ส่วนการถมถนนที่ใดหรือบริเวณใดการจ่ายเงินจ่ายให้ใคร รายการใดบ้างและเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3735/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การยกข้อเท็จจริงใหม่ในฎีกาที่ไม่เคยกล่าวอ้างในศาลชั้นต้น
ตามฟ้องระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายมีส่วนประมาทร่วมกับจำเลย โดยผู้ตายขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาด้วยความประมาทล้ำเส้นแบ่งช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยและเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยในช่องเดินรถของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ขับและ ณ.ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย ฎีกาของโจทก์ร่วมซึ่งอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ว่าเหตุเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยเพียงผู้เดียวแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ระบุในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ในคดีภาษีอากร และการฟ้องผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้ชี้ขาดประเมิน
ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยได้โต้แย้งด้วยวาจาขอให้กำหนดประเด็นเพิ่ม และคัดค้านการกำหนดภาระการพิสูจน์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า หากจำเลยจะคัดค้านให้คัดค้านเข้ามาเป็นหนังสือภายใน 8 วัน จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง จึงเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสาม จำเลยต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226 จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้ง จำเลยก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตำแหน่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 50 จึงอาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีความในศาลได้ ไม่จำต้องเอากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของภาษีโรงเรือนและที่ดิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังเป็นผู้พิจารณาการประเมินใหม่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 25 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 50 และ 109 นอกจากนี้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 32 ยังกำหนดว่า เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลซึ่งแก้คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาล (ในคดีนี้คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) นั้น ได้ส่งไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้บัญชีการประเมินให้ถูกต้องโดยเร็ว ดังนี้ ผู้ที่จะถูกบังคับตามกฎหมายและคำพิพากษาโดยตรงก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทั้งปวงของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อมีการแก้ไขประเมินก็หมายถึงต้องคืนเงินภาษีที่รับชำระเกินมาจากผู้รับประเมินด้วย โจทก์จึงฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยขอให้แก้ไขการประเมินและคืนเงินภาษีได้ เพราะเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้ชี้ขาดการประเมินและเป็นผู้แทนของกรุงเทพมหานคร มิใช่ฟ้องให้รับผิดเป็นส่วนตัว
ค่ารายปีของโรงเรือนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จึงไม่อาจนำ ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเพียงอย่างเดียวมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีหรือค่าภาษีในปีภาษีที่พิพาทได้ ปรากฏว่า ปี 2539 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราค่าเช่าโรงเรือนในปีดังกล่าวจึงน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ทั้งตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 63/2538 ข้อ 2.1 ก็กำหนดให้พิจารณาปรับค่ารายปีตามภาวะเศรษฐกิจ พนักงานเจ้าหน้าที่ ของจำเลยจึงต้องประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะ ที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 8 ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเพียงอย่างเดียว จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3449/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุตัวผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390
ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ เป็นความผิดเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบ ความสงบสุขและความปลอดภัยแก่ประชาชนและเป็นความผิดที่ไม่มีผู้ถูกกระทำ ถือว่าเป็นการกระทำต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 อันเป็นความผิดลหุโทษนั้น ผู้ร้องไม่ใช่เป็นผู้เสียหายเพราะมิใช่เป็นผู้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจจากการกระทำความผิดฐานนี้ แต่ อ. เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวทั้งตามคำร้องก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลของ อ. ซึ่งอยู่ในความดูแลอันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 3(2) ประกอบด้วยมาตรา 5(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2750/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอุทธรณ์โดยผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นทนายความ และสิทธิในการฎีกาที่ยังไม่ได้รับการพิจารณา
คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยได้ลงลายมือชื่อผู้เรียงโดย ธ. ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนและไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ อีกทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น และตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ผู้เรียงหรือแต่งฟ้องอุทธรณ์ จะต้องเป็นการกระทำของทนายความที่ได้รับอนุญาต หรือของตัวความเองอันเป็นการเฉพาะตัว ไม่อาจตั้งตัวแทน หรือไม่อาจอนุญาตให้ผู้ใดผู้หนึ่งช่วยเหลือได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบตาม ป.วิ.อ.มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 158(7) ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะยกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่อาจจะสั่งให้แก้ไขได้ ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 161 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของจำเลยเรื่องให้ลงโทษจำเลยสถานเบาหรือรอการลงโทษจำเลย เมื่อยังไม่ได้รับการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในข้อดังกล่าวได้ เป็นการต้องห้ามหรือไม่ต้องด้วยองค์ประกอบแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
of 18