คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขนส่งทางอากาศ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4671/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศต่อความสูญหายของสินค้า และขอบเขตการจำกัดความรับผิดตามสัญญา
จำเลยจะต้องเป็นผู้ออกใบรับขนของทางอากาศ (AIRWAYBILL) ให้แก่โจทก์เมื่อสินค้าได้มีการชั่งน้ำหนักและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว โดยระบุปลายทางของการขนส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งและสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนการที่โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินค่าขนส่งระหว่างบริษัทโจทก์ไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพให้แก่จำเลยก็เป็นเพียงข้อตกลงแบ่งแยกความรับผิดชอบในการชำระเงินค่าขนส่ง ส่วนที่อยู่ภายในประเทศให้แก่โจทก์เท่านั้น
การที่จำเลยทำสัญญารับขนส่งทางอากาศกับโจทก์ ซึ่งสัญญาขนส่งประเภทนี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ใช้บังคับโดยเฉพาะเหมือนดังเช่นการขนส่งของทางทะเลที่มี พ.ร.บ.รับขนของทางทะเลฯ ใช้บังคับ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 8 ว่าด้วยรับขน ตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 616 แห่ง ป.พ.พ.บัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือรับตราส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องของโจทก์ จำเลยรับสินค้าตามฟ้องของโจทก์มาอยู่ในความดูแลของตนแล้วมีคนมาลักเอาสินค้าตามฟ้องไป ดังนี้การสูญหายของสินค้าตามฟ้องมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากสภาพของสินค้าหรือเกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับชดใช้ค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามในการทำสัญญารับขนส่งระหว่างโจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้ ซึ่งจำเลยอาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 371 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปกองรวมกับสินค้าของลูกค้ารายอื่นเพื่อรอชั่งน้ำหนักตามวิธีการขนส่งสินค้าธรรมดาแต่สินค้าของโจทก์ถูกโจรกรรมหายไป ซึ่งยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยอย่างไรที่ทำให้เกิดการสูญหายของสินค้าโจทก์ จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศ: การแสดงความตกลงชัดแจ้งของผู้ส่ง
บริษัท ว. ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศกับจำเลยทั้งสองมานาน มีการว่าจ้างขนส่งสินค้าสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน เดือนละหลายครั้ง จนกระทั่งมีบัญชีประจำกับจำเลยที่ 1 และนอกจากจำเลยทั้งสองแล้ว บริษัท ว. ยังเคยใช้บริการของบริษัทอื่นที่รับขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะ เชื่อว่าบริษัท ว. ทราบถึงความแตกต่างของเงื่อนไขการขนส่งสินค้าและอัตราค่าบริการของบริษัทผู้ประกอบการรับขนส่งสินค้าทางอากาศแต่ละบริษัทเป็นอย่างดี การที่บริษัท ว. ผู้ส่งระบุข้อความในช่องรายการมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ 500 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่แจ้งราคามูลค่าสินค้าตามจริงก็เพราะทราบถึงข้อจำกัดความรับผิดตามเงื่อนไขการขนส่งของจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดี เท่ากับเป็นกรณีที่บริษัท ว. ผู้ส่งเลือกที่จะยอมรับข้อจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนทางอากาศและตามเงื่อนไขการขนส่งของจำเลยทั้งสองนั่นเอง โดยทราบดีว่าหากสินค้าสูญหายและจะได้รับชดใช้เท่าใด ทั้งหากบริษัท ว. ผู้ส่งคาดหมายว่า หากเกิดกรณีสินค้าสูญหายจะได้รับชดใช้เต็มตามมูลค่าของสินค้าก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องทำประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์อีก นอกจากนี้การที่บริษัท ว. ผู้ส่งระบุมูลค่าสินค้าในช่องมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งกับช่องมูลค่าสินค้าเพื่อพิธีการศุลกากรแตกต่างกันก็คงเป็นเพราะทราบว่าการสำแดงจำนวนมูลค่าสินค้าในแต่ละช่องรายการจะมีผลต่อเรื่องใด ตลอดจนทราบถึงข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าว เชื่อได้ว่าพนักงานประจำแผนกขนส่งของบริษัท ว. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงทราบเงื่อนไขการขนส่งต่างๆ เป็นอย่างดี เมื่อพนักงานดังกล่าวลงลายมือชื่อในใบรับขนทางอากาศในฐานะตัวแทนบริษัทผู้ส่ง จึงถือได้ว่าบริษัท ว. ผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งเช่นว่านั้นแล้ว ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลบังคับได้ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5136/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่งทางอากาศ: การไม่แจ้งราคาสินค้าถือเป็นการยอมรับเงื่อนไขจำกัดความรับผิด
การรับขนของทางอากาศเป็นการขนส่งประเภทหนึ่ง จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 625 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 625 บัญญัติว่า "ใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น" ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งจะต้องรับผิดเพียงใด จึงต้องวินิจฉัยตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของบริษัท ฮ. ผู้ส่งสินค้าได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการขนส่งสินค้าตามใบรับขนทางอากาศ เอกสารหมาย จ.4 ดังนั้น บริษัท ฮ. ผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นตัวการย่อมมีความผูกพัน ต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน ส่วนผู้รับตราส่งแม้ไม่ได้แสดงความตกลงในการจำกัดความรับผิดตามใบรับขนทางอากาศ เอกสารหมาย จ.4 แต่เมื่อสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นตกไปได้แก่ผู้รับตราส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 627 ดังนั้น ข้อตกลงการจำกัดความรับผิดดังกล่าวนอกจากใช้ยัน บริษัท ฮ. ผู้ส่งได้แล้วยังใช้ยันผู้รับตราส่งตลอดจนผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งได้ด้วย
จำเลยทั้งสองต่างเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศและต่างยอมผูกพันตนตามข้อกำหนดของสมาคมดังกล่าวเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิด กล่าวคือ ในเรื่องความรับผิดต่อความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าหรือทรัพย์สินที่ขนส่งจะมีข้อกำหนดให้บรรดาสมาชิกปฏิบัติไปในทางเดียวกัน คือ หากไม่แจ้งราคาสินค้าและไม่ชำระค่าระวางตามราคาสินค้าที่แจ้งแล้วเกิดความสูญหายหรือเสียหายต่อสินค้าดังกล่าวซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบจะถูกจำกัดไว้เพียงไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยคำนวณจากน้ำหนักสุทธิของสินค้าที่สูญหาย การขนส่งที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น จึงอยู่ภายใต้การจำกัดความรับผิดดังกล่าว เมื่อผู้ส่งสินค้าไม่แจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง ทำให้ผู้ส่งสินค้าไม่ต้องเสียค่าระวางพาหนะเพิ่มเท่ากับเป็นการเลือกที่จะยอมรับการจำกัดความรับผิดที่ระบุอยู่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศนั้นเอง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง เป็นเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม การจัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 625
ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองยอมรับกันรับฟังเป็นยุติได้ว่าเลนส์แว่นตาพิพาทได้สูญหายไปในระหว่างที่เลนส์แว่นตาพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเลนส์แว่นตาพิพาทไป จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเพื่อการสูญหายของเลนส์แว่นตาพิพาทเท่านั้น โจทก์ไม่อาจมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเลนส์แว่นตาพิพาทคืนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
of 2