คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คล้ายคลึงกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 19 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนทำให้สาธารณชนสับสน ศาลพิจารณาจากภาพรวมและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ขอจดทะเบียนคือ "GLUCOLIN""GLAXO" ของจำเลยคือ "UTOPIAN" ตัวอักษรเป็นแนวเดียวกัน สีที่ใช้และกระป๋องอย่างเดียวกัน เมื่อดูทั้งหมดแล้วเกือบเหมือนกัน สามารถทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า เป็นสินค้าของผู้ผลิตเดียวกัน โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนมีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่บริษัทอื่นเป็นผู้ผลิตสินค้านั้นไม่หมายความว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้า จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายของจำเลยและใช้เครื่องหมายนั้น ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3070/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อร้านคล้ายคลึงกันจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ
โจทก์เป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจมพลาซ่าต่อมาจำเลยตั้งร้านค้าชื่อว่า เจ.พลาซ่า และต่างก็จำหน่ายเพชรพลอยและเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน ชื่อทั้งสองดังกล่าวคล้ายคลึงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ว่า "เจ" เป็นชื่อย่อของ "เจม" และร้านจำเลยก็คือห้างของโจทก์ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์จากชื่อห้างโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์การขายสินค้าลดลงและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาว่าห้างโจทก์มีเพียงแห่งเดียว การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ตามมาตรา 18 และมาตรา 421 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยระงับการใช้ชื่อร้านดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายได้
ค่าเสียหายที่โจทก์ขายสินค้าลดลงและค่าโฆษณาให้ลูกค้าทราบว่าห้างโจทก์มีเพียงแห่งเดียว เป็นค่าเสียหายเกิดจากการใช้สิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมายของจำเลยโดยตรง จำเลยจึงต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2514

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนลวงสาธารณชน ศาลพิพากษาห้ามใช้เครื่องหมายและบรรจุภัณฑ์
โจทก์จดทะเบียนการค้าคำว่า "DEGUADIN" ซึ่งใช้กับสินค้ายาอมแก้เจ็บคอ แก้หวัด และอาการที่คล้ายคลึงกันมาประมาณ10 ปีแล้ว จำเลยมาขอจดทะเบียน คำว่า "DEORADIN" ใช้กับสินค้ายาอมแก้เจ็บคอและหวัดเช่นเดียวกัน เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยเป็นตัวอักษรโรมันทั้งหมด 8 ตัวเท่ากัน พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดไล่เลี่ยกัน ตัวอักษรเหมือนกันถึง 6 ตัว คือ ตัวหน้า2 ตัว ตัวท้าย 4 ตัว คงผิดกันแต่ตัวกลางสองตัว คือ ของโจทก์GU ของจำเลยเป็น OR คนที่ไม่สันทัดจัดเจนในภาษาต่างประเทศมองดูแล้วอาจหลงผิดคิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกันได้ง่ายสำเนียงที่เรียกขานก็คล้ายคลึงกัน เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า "D" ลงท้ายสำเนียง "DIN" เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีลักษณะคล้ายกันจนถึงกับนับได้ว่าเป็นลวงสาธารณชนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2506 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนทำให้ประชาชนหลงผิด ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนได้ แม้เป็นคำประดิษฐ์
โจทก์ใช้คำประดิษฐ์ขึ้นเป็นอักษรโรมันว่า +PHENERGAN+ สำหรับยารักษาโรคจำพวกหนึ่งที่โจทก์ผลิตขึ้นจำหน่าย และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับคำ ๆ นี้ไว้แล้ว ต่อมานายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นคำว่า +PHENAGIN ในจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์ ดังนี้ เมื่อพิจารณาถึงการเรียงลำดับตัวอักษรตลอดจนสำเนียงที่เรียกขานอันเป็นคำของภาษาต่างประเทศแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน อันอาจทำให้ประชาชนหลงผิดได้ ศาลย่อมพิพากษาให้เพิกถอนการจัดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเสียได้ และในการพิจารณาดังกล่าวนั้น จะพิจารณาแต่เฉพาะการอ่านออกเสียงหรือสำเนียงที่เรียกขานแต่อย่างเดียวย่อมไม่ได้ต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ ด้วย.
เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่สำเร็จรูปแล้ว ไม่จำต้องไปพิเคราะห์ถึงส่วนประกอบอื่นใดอีก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5329/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการที่คล้ายคลึงกัน ละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา
บริษัทในเครือโจทก์ประกอบกิจการขายอาหารประเภทโดนัทมาเป็นเวลานานหลายสิบปี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจนมีการขยายกิจการไปหลายแห่งทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แสดงถึงการเป็นกิจการขนาดใหญ่มีสาขาเครือข่ายมาก ถือได้ว่าเป็นกิจการที่มีชื่อเสียง และมีการประชาสัมพันธ์โดยเปิดเว็บไซต์ให้บุคคลเข้าดูรายละเอียดทางอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งคำว่า "KRISPY KREME" ซึ่งมีลักษณะเลียนจากคำว่า "CRISPY CREAM" โดยมีเสียงอ่านเป็นทำนองเดียวกันนั้น มีลักษณะให้เห็นได้ว่าเป็นคำประดิษฐ์ที่ใช้ความคิดสร้างคำโดยนำคำ 2 คำ มาใช้ประกอบกัน ทั้งที่คำทั้งสองไม่น่าจะใช้ประกอบกันได้เนื่องจากคำว่า CRISPY ซึ่งย่อมเข้าใจได้ตามปกติว่ามีความหมายว่ากรอบ ขณะที่คำว่า CREAM เป็นคำที่หมายถึงครีมที่มีลักษณะเหลวเป็นปกติ เมื่อนำมาใช้ประกอบกันจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน จึงเป็นการใช้คำที่แปลกไปจากการใช้คำตามปกติธรรมดาโดยทั่วไป ย่อมดึงดูดและสร้างสรรค์ให้เกิดความสนใจรวมทั้งช่วยให้สังเกตจดจำได้ดีมีลักษณะเด่น มีลักษณะที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ดังนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า "บริษัท ค." ซึ่งตรงกับคำว่า "CRISPY CREAM" ทั้งที่เป็นคำที่มีความแปลกเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่ไม่น่าจะมีผู้อื่นนำใช้พ้องกันโดยบังเอิญเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าการใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นนี้เป็นการลอกเลียนชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงของโจทก์แม้เครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมาย โดยใช้คำว่า "CRISPY CREAM" ประกอบกับภาพประดิษฐ์ก็ตาม แต่ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่าคำว่า "CRISPY CREAM" ที่ใช้นี้ย่อมเป็นคำเรียกขานถึงเครื่องหมายบริการและกิจการบริการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ซึ่งเมื่อเป็นการนำมาใช้โดยไม่สุจริตแล้ว การใช้ชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 ก็ดี การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวก็ดี ย่อมล้วนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 และเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้สาธารณชนผู้พบเห็นการให้บริการด้านจัดหาอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการประชุมและสัมมนาภายใต้ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนที่คล้ายกับโจทก์ย่อมมีโอกาสเข้าใจไปได้ว่า การให้บริการของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงในทางธุรกิจในมาตรฐานเดียวกัน การใช้ชื่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์แล้ว จึงชอบที่โจทก์จะมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวได้
คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนซึ่งโจทก์ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้อันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสอง ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการหรือไม่ โดยหากฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ก็แสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจดทะเบียน แล้วพิพากษาไปตามที่ฟังได้ดังกล่าว และมีผลให้นายทะเบียนไม่อาจมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้โดยไม่จำต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนแต่อย่างใด
นอกจากนี้โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการเฉพาะกับสินค้าหรือบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ และอาจห้ามจำเลยที่ 1 ขายสินค้าหรือให้บริการในลักษณะลวงขายหรือลวงการให้บริการให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือบริการของโจทก์เท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ประกอบการอย่างอื่นโดยไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการในรายการเดียวกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ได้ลวงขายสินค้าหรือลวงให้บริการ จำเลยที่ 1 ก็ยังกระทำได้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัท ค. โดยเด็ดขาดทุกกรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17870/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน การใช้ก่อนยื่นขอจดทะเบียน และเงื่อนไขการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ชี้สองสถานแล้ว โดยที่จำเลยร่วมได้ระบุในคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมขอถือเอาคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยเป็นคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยร่วมส่วนหนึ่งด้วย ในระหว่างพิจารณาจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่าไม่ถูกต้องประการใด ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1. ว่า เครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 654920 ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ตามคำขอเลขที่ 442167 และ 442168 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ และได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในคำพิพากษาต่อมา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยร่วมไม่อาจโต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้อีกเพราะจำเลยร่วมไม่อาจใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นจำเลยร่วม และไม่อาจใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และมาตรา 58 วรรคสอง การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมซึ่งได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมอยู่ที่คำว่า "VALENTINO" ซึ่งสะกดเหมือนกันทั้งเก้าตัวอักษร มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันว่า "วาเลนติโน" แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ตัวอักษรซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์เขียนคำดังกล่าวเป็นลายมือเขียน ส่วนคำนี้ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ และในเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า "Rudy" ต่อท้าย ส่วนในเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีบนคำว่า "VALENTINO" ซึ่งคำว่า "Rudy" กับตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเท่านั้น มิใช่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานว่า "วาเลนติโน รูดี้" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเรียกขานว่า "วี วาเลนติโน" นับว่ามีสำเนียงเรียกขานคล้ายกันมากเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันกับที่จำเลยร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 442167 และมีรายการสินค้าหลายรายการที่เหมือนกัน หากเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ซึ่งคล้ายกันมากกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วม ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อน ได้รับการจดทะเบียนและใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้าเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อน เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ไม่อาจได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 20
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียนอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วย ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อปรากฏว่า ว. เป็นผู้อนุญาตให้โจทก์นำชื่อตัวและชื่อสกุลของตนมาใช้เป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี 2518 การที่โจทก์นำคำว่า "VALENTINO RUDY" มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นสินค้าในจำพวก 25 จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต และปรากฏตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าว่า โจทก์ได้อนุญาตให้บริษัท บ. ในประเทศไทยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" กับสินค้าในจำพวก 25 ที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" ในลักษณะที่เป็นลายมือชื่อ โดยบริษัท บ. ได้ผลิตสินค้าเสื้อเชิ้ตบุรุษออกจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถึงประมาณ 3 ปีเศษ ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับสินค้าจำพวก 25 ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์โดยกำหนดเงื่อนไขและข้อกำจัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14582/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนสับสน และการพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า D&G และคำว่า D&C ของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า D&G และคำว่า D&G DOLCE & GABBANA ของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า สินค้าของโจทก์มีราคาแพงและจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สินค้าของจำเลยทั้งสองวางจำหน่ายต่างสถานที่และผู้บริโภคมีรายได้น้อย และสินค้าของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า MADE IN THAILAND BY KTS เพื่อให้ทราบถึงแหล่งกำเนิดในประเทศไทยนั้น เห็นว่า สินค้าของโจทก์มีหลายชนิด ทั้งเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย กระเป๋า เข็มขัด แว่นตา นาฬิกา และเครื่องประดับ ไม่แน่ว่าจำเลยทั้งสองจะผลิตสินค้าที่มีลักษณะ ราคา และมีข้อความว่า MADE IN THAILAND BY KTS ตลอดจนสถานที่วางจำหน่ายต่างกับสินค้าของโจทก์ตลอดไป จึงไม่ใช่เหตุที่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แต่เมื่อพิเคราะห์สินค้ากระเป๋าของจำเลยทั้งสองที่มีข้อความว่า MADE IN THAILAND BY KTS เห็นได้ชัดเจนใต้เครื่องหมายการค้า ทำให้สินค้ากระเป๋าของจำเลยทั้งสองแตกต่างกับสินค้าของโจทก์ ประกอบกับสภาพของสินค้า โดยรวมมีความแตกต่างกันมาก แสดงให้เห็นว่าแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างเห็นได้ชัดแจ้ง จึงมิใช่การกระทำอันมีลักษณะเป็นการลวงขาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองยุติการจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าชนิดต่าง ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า D&G และคำว่า D&C นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงบังคับให้ตามคำขอ
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองรวมตลอดทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และห้ามการใช้ โฆษณา หรือทำให้ปรากฏซึ่งเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ว่ากับสินค้าหรือเอกสารสิ่งของในการประกอบการค้าใด ๆ นั้น เห็นว่า เมื่อพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกต่อไป และคำขอดังกล่าวมุ่งบังคับการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ จึงให้ยกคำขอ
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ถูกต้องเมื่อการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6113/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การเพิกถอนทะเบียนและคำขอจดทะเบียนใหม่ที่คล้ายคลึงกัน การกระทำที่ไม่สุจริต
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลที่จะพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้โดยไม่ต้องบังคับต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเช่นนี้ ในขั้นตอนภายหลังจากที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้จดทะเบียนไว้แล้วได้เป็นอีกกรณีหนึ่ง ต่างหากจากกรณีที่จะใช้สิทธิคัดค้านในระหว่างการพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่มีบทบัญญัติจำกัดว่าการใช้สิทธิตามมาตรา 67 นี้จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ใช้สิทธินั้นได้คัดค้านในชั้นพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วแต่อย่างใด
การแจ้งและการรับแจ้งลงในบัญชีแสดงการรับแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติบังคับให้เจ้าของเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องแจ้งและมีการลงบัญชีเช่นว่านี้ โดยหากไม่แจ้งไว้ให้ถือว่าไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปแต่อย่างใด
เมื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ใช้คำว่า "Watson's" และ "Watsons" เป็นสาระสำคัญโดยการเห็นคำดังกล่าวและเรียกขานคำดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการสังเกตจดจำว่าเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนไว้ก็มีคำว่า "Watson" เป็นสาระสำคัญแม้จะมีอักษรโรมันว่า "WS" ในเส้นวงรีประกอบก็มีลักษณะเป็นอักษรย่อของคำว่า "Watson" นั่นเอง และมีลักษณะเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนสำคัญในการสังเกตและเรียกขานที่คำว่า "Watson" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าว จึงย่อมมีเหตุที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเดียวกันได้ ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 662878 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังไม่มีคำสั่งให้จดทะเบียน จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้เสียเองจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลยที่ 1 การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนนี้ของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ได้เพื่อมิให้เสียหายแก่โจทก์ต่อไป โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท จึงไม่ถูกต้องแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16358/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คล้ายคลึงกันของเครื่องหมายการค้าทำให้สับสน: เพิกถอนเครื่องหมายการค้าได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า มาตรา 61(4)
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำนอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้น และที่สำคัญต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า "แทงโก้" และอักษรโรมันคำว่า "Tango" แต่คำว่า "Tango" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนกับคำว่า "TANGO", "TANGO THINS", "TANGO MAXCRUNCH" และ "TANGO SAPPHIRE" ของ จ. และคำว่า "TANGO" เป็นคำนำหน้าในเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ซึ่งเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นที่สาธารณชนผู้บริโภคสินค้าประเภทลูกอม ขนมหวาน และช็อกโกแลตจะจดจำในการเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวคำว่า "THINS" คำว่า "MAXCRUNCH" และคำว่า "SAPPHIRE" ที่ต่อท้ายคำว่า "TANGO" มิใช่สาระสำคัญหรือส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าที่ผู้บริโภคจะจดจำเพื่อแยกแยะความแตกต่างในการเลือกซื้อสินค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของ จ.
of 2