คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความเข้าใจผิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 104 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ำประกัน - การคืนหนังสือค้ำประกันโดยความเข้าใจผิด - ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดชอบ - ไม่ถือเป็นการระงับสิ้นหนี้
จำเลยที่1ได้ยื่นซอง ประกวดราคาเสนอขายเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงให้โจทก์ตามใบเสนอราคาเมื่อวันที่4มีนาคม2530โดยให้สนองรับคำเสนอราคานั้นได้ภายใน120วันนับแต่วันที่เสนอราคาคือภายในวันที่2กรกฎาคม2530ต่อมาก่อนครบกำหนดระยะเวลา120วันนั้นจำเลยที่1และโจทก์ได้ตกลงขยายระยะเวลาการยืนราคาตามใบเสนอราคาออกไปจนถึงวันที่4สิงหาคม2530จำเลยที่1จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามคำเสนอของตนในใบเสนอราคาภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้มีการขยายการยืนราคาออกไปนั้นการตกลง ขยายระยะเวลายืนราคาตามใบเสนอราคาออกไปมิใช่เป็นการผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามประกาศประกวดราคาจำเลยที่3ผู้ค้ำประกันจึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันตลอดเวลาที่จำเลยที่1ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการยื่นซองประกวดราคา แม้ในใจจริงจำเลยที่3 เจตนา ค้ำประกันจำเลยที่1ภายในกำหนดระยะเวลา120วันนับแต่วันที่4มีนาคม2530มิได้เจตนาค้ำประกันจำเลยที่1ตลอดเวลาที่จำเลยที่1ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาก็ตามแต่ตามสัญญาค้ำประกันก็มิได้กำหนดระยะเวลาค้ำประกันไว้เพียง120วันนับแต่วันที่4มีนาคม2530แต่จำเลยที่3กลับทำสัญญาค้ำประกันโดยแสดงเจตนาว่าจะไม่เพิกถอนการค้ำประกันในระหว่างเวลาที่จำเลยที่1ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้ถึงเจตนาในใจของจำเลยที่3ว่าต้องการผูกพันเพียง120วันจำเลยที่3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่1ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาตามที่ได้ แสดงเจตนาออกมา การที่โจทก์ได้คืนหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่3ด้วยความเข้าใจผิดของพนักงานโจทก์ซึ่งโจทก์มิได้มีเจตนาประสงค์จะปลดหนี้ให้แก่จำเลยที่3แม้จำเลยที่3ได้รับหนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็น หลักฐานแห่งหนี้คืนไปซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา327วรรคสามว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตามแต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่โจทก์ส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันคืนจำเลยที่3จำเลยที่1ยังไม่ได้มาทำสัญญา ซื้อขายกับโจทก์ตามกำหนดนัดให้ถูกต้องจำเลยที่1ยังต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาอยู่และจำเลยที่3ผู้ค้ำประกันยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา698จำเลยที่3จึงจะอ้างว่าเมื่อได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกันจากโจทก์โดยสุจริตจำเลยที่3ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81-82/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันทำให้เกิดความเข้าใจผิดและละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
แม้รูปลักษณะการวางตัวอักษรโรมันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจะแตกต่างกันโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษรโรมันSPSในแนวนอนส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวอักษรโรมันSPSซ้อนกันในแนวตั้งก็ตามแต่การอ่านออกเสียงเครื่องหมายการค้าทั้งสองก็อ่านว่า"เอสพีเอส"เช่นเดียวกันทั้งยังใช้กับสินค้าจำพวกกางเกงในเหมือนกันด้วยสาธารณชนจึงอาจหลงผิดได้โดยง่ายว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์เมื่อจำเลยทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์ได้ใช้ตัวอักษรโรมันSPSอ่านว่า"เอสพีเอส"ในแนวนอนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับสินค้ากางเกงในการที่จำเลยนำตัวอักษรโรมันSPSอ่านว่า"เอสพีเอส"ซ้อนกันในแนวตั้งไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องนุ่งห่มและแต่งกายซึ่งรวมถึงสินค้ากางเกงในจึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งประสงค์จะแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิงเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริตเพื่อให้ผู้ซื้อซึ่งจำคำเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์แม้โจทก์ยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโจทก์ก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันSPSอ่านว่า"เอสพีเอส"ดีกว่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7806/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ต่อสู้คดีด้วยตนเอง หรือมอบหมายทนายความ ความเข้าใจผิดไม่ใช่เหตุขาดนัดพิจารณา
แม้จะเป็นความจริงว่าจำเลยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่เข้าใจในการดำเนินคดีของศาล ทั้งเชื่อโดยสุจริตว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต ได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินพร้อมทั้งเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงไม่ต้องทำอะไรอีก ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดพิจารณาเพราะจำเลยมีหน้าที่ต้องต่อสู้คดีของจำเลยเอง หากไม่เข้าใจวิธีการต่อสู้คดีหรือไม่สามารถต่อสู้คดีด้วยตนเองได้ ก็ควรต้องมอบหมายให้ทนายความดำเนินการแทน จำเลยจะอ้างเอาความเข้าใจผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้จงใจขาดนัดพิจารณาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น ศาลมีสิทธิห้ามใช้ชื่อนั้น
โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำว่า เซ็นทรัล ออกจากชื่อร้านค้าของจำเลยตามใบทะเบียนพาณิชย์ไม่ได้ เนื่องจากการถอนใบทะเบียนพาณิชย์เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4585/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าเหมือน/คล้ายกันจนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด: สิทธิในเครื่องหมายการค้าลำดับก่อนมีน้ำหนักกว่า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรญี่ปุ่นและอักษรจีนอ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่นได้สองแบบว่า "อายิโนะโมะโต๊ะ" หรือ "อายิโนะมิโซะ"อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "บีจือซู" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรจีน อักษรไทย และอักษรโรมันว่า"บีซู" ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรจีนเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนกับอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า "ปี" กับ "อายิ" และมีคำแปลเหมือนกันว่า "รส" และอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือคำว่า "ซู" กับ คำว่า "โมะโต๊ะ"และมีคำแปลเหมือนกันว่า "ส่วนสำคัญ" เครื่องหมายการค้าของจำเลยต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่มีอักษรตัวกลางแต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรตัวกลางเป็นภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า "โนะ"เท่านั้น จำเลยใช้อักษรภาษาจีนคำว่า "บีซู" เน้นเป็นจุดเด่นในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นก็เน้นจุดเด่นคำว่า "อายิ" กับคำว่า"โมะโต๊ะ" ตัวอักษรญี่ปุนคำว่า "โนะ" มีขนาดเล็กมากมิได้เน้นความเด่นชัดของเครื่องหมายการค้าโจทก์ จึงเป็นอักษรที่ไม่มีความหมายสำคัญแก่บุคคลทั่วไปที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น และแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีอักษรไทยและอักษรโรมันอยู่ด้วยแต่ก็เน้นความเด่นอยู่ที่อักษรจีนเพราะจัดวางไว้ตรงกลาง ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อย การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายกันหรือไม่ ต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นตัวอักษรเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัด การที่จำเลยนำเครื่อง-หมายการค้าของจำเลยมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ได้
การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาก่อนจำเลยทั้งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยและต่างประเทศหลายประเทศก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฝากเงินโดยนิติบุคคล แม้กรรมการจะทำธุรกรรมส่วนตัว หากสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้ฝาก ย่อมผูกพันนิติบุคคลตามหลักตัวแทนเชิด
การที่โจทก์นำเช็คเงินสดจำนวน 2,000,000บาท ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการเรียกเก็บเงินแล้วไปที่บริษัทจำเลย พนักงานของจำเลยได้รับฝากเงินจำนวนดังกล่าวแล้วดำเนินการออกเช็คพิพาท ซึ่ง พ.กับง.กรรมการของบริษัทจำเลยร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมกับแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยรับฝากเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และโจทก์ได้รับของขวัญและของที่ระลึกต่าง ๆมีชื่อบริษัทจำเลยพร้อมตราประทับจากบริษัทจำเลย ทั้งจำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ จำเลยสามารถกู้ยืมเงินและรับเงินจากประชาชนโดยตกลงจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยอันเป็นวิธีการจัดหามาซึ่งเงินทุนของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยและอยู่ในวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยรับฝากเงินและรู้เห็นเอง โดยจำเลยเชิดพ.และง. เป็นตัวแทน จำเลยต้องผูกพันรับผลการกระทำของพ.และง. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละเครื่องหมายการค้าและการเลียนแบบรูปลักษณ์สินค้า ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่มีการเลียนแบบจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสละรูปภาชนะบรรจุสินค้าและข้อความที่บรรยายทางการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขาย ตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งแล้วนั้น ย่อมหมายรวมถึงการวางรูปของเครื่องหมายการค้าและข้อความที่บรรยายในทางการค้าหรือสิ่งอื่นใดในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยินยอมสละแล้วด้วย ดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อาจถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในรูปลักษณะภาชนะบรรจุยาขัดล้างรถยนต์และข้อความบรรยายทั้งการวางรูปของเครื่องหมายการค้าและคำบรรยายที่ภาชนะเช่นนี้การที่จำเลยที่ 1 ผลิตสินค้า มีรูปลักษณะของภาชนะและคำบรรยายเกี่ยวกับสินค้าอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงอ้างไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริต เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า "CARGLO" หรือ "คาร์โกล้"ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า "DINCO" หรือ "ดิงโก้"ของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันทั้งตัวอักษรที่เขียนและสำเนียงเรียกขานแม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าจำพวกยาขัดล้างรถยนต์เหมือนกัน แต่บุคคลบางประเภทเท่านั้นที่ใช้สินค้าดังกล่าว ไม่ใช่สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้สอย จึงเป็นไปได้ยากที่ผู้ใช้จะมาหลงผิดเข้าใจว่ายาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เป็นยาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่เหมือน หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดในความเป็นเจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความเท็จ: โจทก์ทราบสถานะผู้เช่าของจำเลย การแจ้งความไม่เป็นความเท็จหากข้อเท็จจริงตรงกัน
ที่พิพาทเดิมเป็นของ ม. ให้จำเลยเช่า ต่อมา ม. ขายให้บ. และ บ. ขายให้โจทก์ โดยโจทก์ทราบว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ ในฐานะเป็นผู้เช่าจาก บ. เมื่อโจทก์ซื้อที่พิพาทแล้วได้ให้ ส. กับพวกเข้าไปปรับหน้าดิน และตัดฟันต้นส้มเขียวหวานเพื่อนำกล้ากล้วยไม้ไปปลูก จำเลยจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในที่ดินที่จำเลยเช่า และทำให้เสียทรัพย์ ดังนี้การกระทำของโจทก์กับพวกย่อมมีเหตุที่จะทำให้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์กระทำผิดอาญาฐานบุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งความก็ตรงตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สิน อ้างความเข้าใจผิด ศาลฎีกาตัดสินว่าเป็นการทุจริต
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียงตามคำสั่งศาลและจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมด้วยคนหนึ่ง ทายาทเจรจาแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างกันแต่ตกลงกันไม่ได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353ประกอบด้วยมาตรา 354

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5334/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้มีผลบังคับใช้ได้ หากเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องที่ดิน และการข่มขู่เป็นเพียงการใช้สิทธิตามปกติ
การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายโดยยึดถือจำนวนเนื้อที่เป็นสำคัญปรากฏภายหลังว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลยได้รวมเอาที่ดินสาธารณะไว้ด้วยบางส่วน ทำให้เนื้อที่ดินขาดหายไป เมื่อโจทก์ไปขอเงินค่าที่ดินคืนจากจำเลย จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้ เช่นนี้ย่อมมีเหตุที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยเอาที่สาธารณะมาขายให้ แม้พฤติการณ์จะยังไม่ปรากฏชัดแจ้งก็ตาม การที่โจทก์พูดขู่จำเลยว่าหากไม่คืนเงินจะฟ้องให้จำเลยติดคุกติดตะราง จำเลยจึงยอมลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับจะใช้เงินที่ขาดคืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้
of 11