คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 886 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องรีดเอาทรัพย์ต้องระบุความลับที่ถูกข่มขู่ หากไม่ระบุ ฟ้องไม่ชอบ
โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่า ภาพเปลือยของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเป็นความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามเสียหาย ทั้งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะหากไม่ใช่ความลับที่เปิดเผยแล้วจะทำให้ผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามต้องเสียหาย ก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ใช่ความลับที่ผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดเอาไว้มิให้เปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338 ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยทั้งสองจะเข้าใจข้อหาในคำฟ้องได้ดีและไม่หลงต่อสู้ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องที่ไม่ชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณาต้องเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น
การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณา ป.วิ.พ. มาตรา 264 จะต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้น ได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยพิพาทกันในประเด็นที่ว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าใหม่ภายหลังสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ประโยชน์ที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำละเมิดขัดขวางมิให้จำเลยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า ไม่ใช่ประโยชน์ที่เกี่ยวกับข้อต่อสู้หรือข้อเถียงตามคำให้การของจำเลย คำขอคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนกองดินและกำแพงซีเมนต์ออกจากทางเข้าออกที่ดินพิพาท หรือให้โจทก์ถมทางที่ขุดหลุมไว้ปิดกั้นมิให้จำเลยออกสู่ถนนหลวงจึงเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์นอกขอบเขตตามคำให้การของจำเลยจึงไม่ใช่การขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณา จึงไม่ใช่การคุ้มครองประโยชน์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาต้องระบุชัดเจนถึงความเป็นเจ้าของรถ หากคำฟ้องไม่ชัดเจน แม้จำเลยรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ฯ มาตรา 7 วรรคแรก บัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา 8 เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท และมาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7 หรือมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แสดงว่า การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 7 นั้น จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าของรถ แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถคันที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายและผลต่อสัญญา, การพิพากษาเกินคำฟ้อง
สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้ จำนวนเงินกู้ส่วนที่เกิน 350,000 บาท เป็นดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ แล้วนำมารวมเข้าเป็นต้นเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำขึ้นใหม่ อันเป็นดอกเบี้ยต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) ส่วนของต้นเงินที่มาจากดอกเบี้ยไม่ชอบทั้งหมดย่อมตกเป็นโมฆะ แต่สัญญากู้ยืมเงินนี้แม้จะมีส่วนของต้นเงินที่ไม่ชอบรวมอยู่ด้วย ก็ไม่ทำให้ส่วนของต้นเงินที่ชอบจำนวน 350,000 บาท เสียไปด้วย เพราะพึงสันนิษฐานโดยพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่าโจทก์จำเลยเจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินในส่วนที่ชอบคือต้นเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ระบุในสัญญา นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่กู้ยืมเงินกันตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับก่อน ทั้งที่โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับตามนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญากู้ยืมที่มีการแก้ไขอากรแสตมป์ และการลงชื่อในคำฟ้องโดยทนายความ ศาลรับฟังเป็นหลักฐานได้
ป.รัษฎากร มาตรา 118 ไม่ได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญา แม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์มาแต่แรกในขณะทำสัญญา แต่เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนการที่โจทก์ได้ปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 แล้วหรือไม่ เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากกับการปิดอากรแสตมป์ตามปกติ
คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามมาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้งให้ ช. เป็นทนายความ และในคำฟ้องทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์ ในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์ พอที่จะฟังได้ว่าทนายความโจทก์เป็นผู้เรียงพิมพ์คำฟ้อง ซึ่งมีอำนาจกระทำได้ จึงไม่จำต้องคืนคำฟ้องให้โจทก์ไปทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ดำเนินมาทั้งหมดจึงไม่เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่สมบูรณ์แต่ศาลดำเนินกระบวนการจนถึงฎีกาได้ หากปรากฏหลักฐานแสดงอำนาจของผู้เรียงพิมพ์
แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความว่าผู้ใดเป็นผู้เรียงพิมพ์ และไม่มีลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว และได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ช. เป็นทนายความ และ ช. ได้ลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องและได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์ในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา จึงพอที่จะฟังได้ว่า ช. ทนายความโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7976/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระ ศาลมีอำนาจนำเงินที่จำเลยชำระแล้วมาหักออกจากยอดหนี้ตามคำฟ้องได้
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองจำเลยในต้นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 ปีเศษ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวจำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์บางส่วนและนำมาหักจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าครบกำหนดชำระดอกเบี้ยจำเลยไม่ชำระ จึงต้องถือว่าตามคำฟ้องดังกล่าวโจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระจากจำเลยเต็มจำนวนตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองจนถึงวันฟ้อง แม้ในตอนท้ายของคำฟ้อง โจทก์จะมีคำขอบังคับให้ชำระดอกเบี้ยเพียง 5 ปี เป็นจำนวน 225,000 บาท แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ยอมรับว่า จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว จำนวน 150,000 บาท ซึ่งทำให้ยอดหนี้ค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องลดลง ศาลจึงมีอำนาจที่จะนำเงินที่จำเลยชำระมาหักออกจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระที่โจทก์ขอมาก่อนวันฟ้องได้ ดังนั้นเมื่อหักค่าดอกเบี้ยที่จำเลยชำระมาแล้วจำนวน 150,000 บาท จึงคงเหลือจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 75,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7696/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจน ขาดข้อเท็จจริงเพียงพอ ศาลยกฟ้องคดีบุคคลถูกตัดสิทธิสอบ
จำเลยทั้งสิบห้าเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 274 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 บัญญัติให้มีขึ้น การดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารงานบุคคล และเป็นการกระทำทางปกครองประเภทหนึ่ง ถ้าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีสิทธิเสนอคดีย่อมนำคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 271 บัญญัติว่า "ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น" ดังนั้น คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากาษากล่าวอ้างว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่เกี่ยวกับการไม่รับสมัครสอบโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ไว้ และโจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงสมัครสอบ แต่เมื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบกลับไม่ปรากฏชื่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือสอบถาม แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับสิทธิสอบคัดเลือก คำสั่งในการตัดสิทธิสอบดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า คุณสมบัติต่าง ๆ ดังกล่าว คือ คุณสมบัติประการใดบ้างโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการอย่างไร ที่ทำให้โจทก์มีสิทธิสอบ ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบห้าประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบแต่ไม่ปรากฏรายชื่อโจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามเหตุผลไปยังเลขาธิการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม แต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชี้แจงโดยไม่มีเหตุผล โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์อาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเพื่อให้ต้องตอบหนังสือสอบถามของโจทก์ หากไม่ตอบเป็นการผิดต่อกฎหมายฉบับใด เพราะเหตุใด นอกจากนี้ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าในการมีคำสั่งตัดสิทธิสอบของโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็มิได้ระบุว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มาตราใด เพราะเหตุใด ทั้งข้อหาหรือฐานความผิดโจทก์ระบุแต่เพียงว่าละเมิด ปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอื่น ๆ แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องใด มาตราใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่จะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7475/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่เคลือบคลุม แม้ขอให้บังคับทางสาธารณะ/ภาระจำยอม/จำเป็น ศาลพิจารณาตามข้อเท็จจริงได้
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ส. เจ้าของที่ดินยกทางเดินให้ที่ดินเป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งห้าใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งห้าสู่ทางสาธารณะเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทจึงเป็นทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งห้า ที่ดินของโจทก์ทั้งห้ามีที่ดินแปลงอื่นรวมทั้งที่ดินของจำเลยล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งห้า ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นนั้น แม้จะเป็นการแสดงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ทางพิพาทเป็นทางสามประเภทดังกล่าว แต่ก็ได้แสดงลักษณะของการเป็นทางในแต่ละประเภทนั้นไว้ และฟ้องดังกล่าวมีคำขอให้บังคับเกี่ยวกับทางพิพาทประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงประเภทเดียวในจำนวนนั้น ซึ่งทางพิพาทจะเข้าลักษณะเป็นทางประเภทใด ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณารับฟังข้อเท็จจริง หากได้ความว่าทางพิพาทเป็นทางประเภทใด ศาลย่อมพิพากษาและบังคับตามคำขออย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่พิจารณาได้ความ ทั้งจำเลยก็ให้การปฏิเสธฟ้องโดยสิ้นเชิงว่า ทางพิพาทไม่ได้เป็นทางทั้งสามประเภทดังกล่าวอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องสอดไม่ใช่คำฟ้อง ต้องพิจารณาจากเนื้อหา หากเป็นการต่อสู้คดี ไม่ใช่เสนอข้อหา จึงไม่เป็นคำฟ้อง
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ที่บัญญัติว่า "คำฟ้อง" หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล... ไม่ว่าจะเสนอในภายหลัง... โดยสอดเข้ามาในคดี ฯลฯ นั้น เป็นการกำหนดให้คำร้องสอดที่มีลักษณะในการเสนอข้อหาต่อศาลเป็นคำฟ้องด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดให้คำร้องสอดทุกฉบับเป็นคำฟ้อง เนื่องจากการร้องสอดเข้ามาในคดีบางกรณีเป็นการเข้ามาต่อสู้คดีในฐานะจำเลย คำร้องสอดกรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่คำร้องสอดจะเป็นคำฟ้องหรือไม่จึงต้องพิจารณาจากเนื้อหาของคำร้องสอดเป็นสำคัญ
ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดอ้างว่า จำเลยไม่ใช่ผู้เช่าที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องสอดเคยเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ ต่อมาผู้ร้องสอดเปลี่ยนเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยแย่งการครอบครองก่อนปี 2539 โจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ผู้ร้องสอดจึงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดจะต้องได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีขับไล่โดยผลของคำพิพากษา ขอให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ดังนี้ คำร้องสอดดังกล่าวเป็นการขอเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลย ข้ออ้างสิทธิตามคำร้องสอดจึงถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลยกฟ้อง ไม่ใช่การเสนอข้อหาต่อศาลเพื่อบังคับโจทก์ จึงไม่เป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ไม่จำต้องมีคำขอบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1 (3)
ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ผู้ร้องสอดยังไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดินพิพาทตามคำร้องสอด ทั้งผู้ร้องสอดอาจยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา ได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาในโอกาสดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1)
of 89