คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำสั่งลงโทษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15620/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้วินิจฉัยประเด็นการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และอำนาจศาลแรงงานในการพิจารณาคดี
การที่โจทก์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่จัดทำคำสั่งลงโทษทางวินัยบุคคลเสนอต่ออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดทำคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน สั่ง ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2550 อันเป็นคำสั่งลงโทษโจทก์และลงนามรับรองสำเนาถูกต้องนั้น เป็นการรับทราบในฐานะที่ตนมีหน้าที่จัดทำเอกสารดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเพียงการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองที่มิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในขณะนั้น โจทก์จึงยังมิใช่พนักงานผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ กระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 โจทก์จึงได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวและได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยในวันเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 ข้อ 69 โดยนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 จึงอยู่ในระยะเวลา 15 วัน ที่มีสิทธิอุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือน กับขอให้บังคับจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนเงินเดือนที่ถูกตัดแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เป็นเงินพร้อมดอกเบี้ย และให้พิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2551 พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ร่วมกระทำความผิดกับ ช. และโจทก์ไม่รีบดำเนินการตามคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและปฏิบัติงานล่าช้า จึงลงโทษตามคำสั่งพิพาท คดีจึงมีประเด็นแห่งคดีว่า โจทก์กระทำความผิดตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง คำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยทั้งสองที่พิพาทชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุเพิกถอนและต้องคืนเงินและสิทธิตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 และอำนาจในการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเหลือปัญหาที่โต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์เท่านั้น คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยโดยยกเหตุเฉพาะที่จำเลยที่ 2 ยกคำร้องทุกข์ในการอุทธรณ์ว่าโจทก์อุทธรณ์เกิน 15 วัน ตามระเบียบ เป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 แล้วให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปโดยยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14560/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อคำสั่งระงับหน้าที่ผู้อำนวยการยังไม่มีผลบังคับใช้
คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย ได้ลงนามในคำสั่งที่ 6/2548 เพื่อระงับการทำหน้าที่ของ ช. ในฐานะผู้อำนวยการจำเลย พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ.2499 มาตรา 13 บัญญัติให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย และมาตรา 15 ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินกิจการของจำเลย ดังนั้นอำนาจในการบริหารกิจการของจำเลยจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย ซึ่งต้องกระทำและมีมติในรูปแบบของคณะกรรมการ การที่ ป. ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกิจการของจำเลยมีคำสั่งที่ 6/2548 ให้ ช. ระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยมิได้มีมติในวันดังกล่าว คำสั่งจึงยังคงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ชอบด้วยมาตรา 15 ของ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ทั้งตามเอกสารคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยได้มีมติให้สัตยาบันในวันที่ 19 กันยายน 2548 ดังนั้น ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ช. ยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยและยังมีอำนาจในการแก้ไขคำสั่งของตนเองได้ เมื่อ ช. สั่งให้โจทก์แก้ไขคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 เรื่องสำนักอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่าภาคตะวันออก ขอเลื่อนระดับพนักงานและเลื่อนชั้นพนักงานปฏิบัติการ เป็นคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 เรื่องโอนอัตรา เปลี่ยนแปลงอัตรา และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนัก โจทก์จึงต้องแก้ไขคำสั่งตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดวินัยการทำงานตามข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ว่าด้วยวินัย การสอบสวน และการลงโทษสำหรับผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2548 การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เป็นการไม่ชอบ
จำเลยอุทธรณ์ว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งของโจทก์ไม่ได้กระทำด้วยวิธีการขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์แก้ไขคำสั่งโดยไม่ชอบเพราะไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือหากได้รับคำสั่งก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเท่านั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13522/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยและการจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน โดยไม่ต้องรอการอุทธรณ์ภายในองค์กร
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงในระหว่างพักงานแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง อีกทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลย คงโต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์ เนื่องด้วยกรณีของคดีนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยก่อนจึงจะนำคดีมาสู่ศาลได้ ขั้นตอนอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยเป็นเพียงระเบียบบริหารงานภายในย่อมไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุตัดสิทธิในการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ แต่เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ลงโทษโจทก์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56
of 2