คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำนำหุ้น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9880/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดจำนวนหนี้ในสัญญาจำนำหุ้น และการหักภาษีซื้อที่มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไร
ป.รัษฎากร มาตรา 104 บัญญัติว่า "ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น" ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 18 ได้บัญญัติลักษณะแห่งตราสารจำนำ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อจำนวนหนี้ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท ถ้าการจำนำมิได้จำกัดจำนวนหนี้ไว้ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท เมื่อตามสัญญาจำนำ ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2545 ระบุว่า "ผู้จำนำเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นสามัญจำนวนหนึ่งอันเป็นหุ้นทุนซึ่งออกโดยบริษัท อ.ตามที่ปรากฏในเอกสารแนบท้าย 1 ของสัญญานี้ และผู้จำนำตกลงจะจำนำหุ้นกับผู้รับจำนำเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าปรับ ค่าเสียหาย การใช้เงินคืน หรือเงินอื่นใด ("หนี้สิน") ที่บริษัท อ. ต้องชำระหรือจะต้องชำระให้กับผู้รับจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้..." แสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์จะจำนำประกันหนี้ของบริษัท อ. เฉพาะหนี้ที่ระบุไว้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่บริษัท อ. จะต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าการจำนำรายนี้มิได้จำกัดจำนวนหนี้ไว้ซึ่งกำหนดให้เสียค่าอากรแสตมป์เพียง 1 บาท ดังที่โจทก์อ้าง ฉะนั้น โจทก์ในฐานะผู้รับจำนำจึงต้องรับผิดชำระค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อจำนวนหนี้ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท ของจำนวนหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการหักชำระหนี้จากเงินค่าหุ้นที่จำนำไว้ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิหักเงินปันผลชำระหนี้
ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิเศษ ข้อ 10 และหนังสือสัญญากู้เงินสามัญ ข้อ 7 ดังกล่าว มีข้อความทำนองเดียวกันว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้นำเงินค่าหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด ทั้งหมดในขณะนี้และเงินค่าหุ้นที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกต่อไปในภายหน้ามาจำนำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ศรีสะเกษ จำกัด เพื่อเป็นการค้ำประกันเงินกู้ตามหนังสือนี้ และในกรณีที่หนี้ถึงกำหนดชำระตามที่กล่าวในข้อ 5 หรือหากมีการบังคับคดีใดๆ ก็ตาม ข้าพเจ้ายินยอมให้สหกรณ์โอนเงินค่าหุ้นของข้าพเจ้าที่จำนำไว้เป็นประกันนี้ชำระหนี้เงินกู้ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ศรีสะเกษ จำกัด ได้ทันที โดยไม่ต้องนำเงินค่าหุ้นที่จำนำนี้ออกขายทอดตลาดแต่อย่างใดและให้ถือว่าในข้อนี้เป็นการจดแจ้งการจำนำหุ้นตลอดทั้งให้หนังสือกู้ฉบับนี้เป็นสมุดทะเบียนการจำนำหุ้นด้วย" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น โดยจำเลยยอมให้เงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีอยู่แล้วและที่เพิ่มขึ้นในภายหน้าเป็นจำนำแก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการค้ำประกันเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิเศษและหนังสือสัญญากู้เงินสามัญ รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้คัดค้านโอนเงินค่าหุ้นของจำเลยที่จำนำไว้ดังกล่าวชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านได้ มิใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับเงินปันผลอันเป็นส่วนหนึ่งของกำไรที่ผู้คัดค้านจะต้องจ่ายแก่จำเลยผู้คัดค้านจึงไม่อาจนำเงินปันผลที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้คัดค้านไปหักชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีอยู่ต่อผู้คัดค้านโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าว เมื่อผู้คัดค้านได้รับคำสั่งอายัดเงินปันผลดังกล่าวจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธินำเงินปันผลที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4313/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังพ้นกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และผลบังคับใช้ของสัญญาจำนำหุ้น
ตามคําร้องสอดผู้ร้องสอดกล่าวอ้างว่าจําเลยไม่เคยมีการประชุม และมีมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โจทก์และกรรมการชุดใหม่ของจําเลยฉ้อฉลทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จําเลย ผู้ร้อง และผู้ถือหุ้นเสียหาย คําร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ในฐานะที่เป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายของจําเลยและเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์และกรรมการชุดใหม่ซึ่งมีผลต่อสถานะของผู้ร้องสอด และกระทบต่อผู้ถือหุ้นตลอดจนทรัพย์สินของบริษัทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิยื่นคําร้องสอดเข้ามาในคดี และมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีมูลหนี้อยู่จริง และเป็นมูลหนี้ที่ขาดอายุความ ทั้งจําเลยหลุดพ้นจากมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ไม่มีคําขอรับชําระหนี้ในคดีที่จําเลยขอฟื้นฟูกิจการขึ้นต่อสู้ได้
โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจําเลยในขณะนั้น และยังเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ผ. ทำสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แม้ตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้จะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับบริษัท ผ. ก็ตาม แต่ข้อตกลงในสัญญา ข้อ 3. ระบุว่า โจทก์ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. ทันที เมื่อบริษัท ผ. พร้อมในการดำเนินการจดทะเบียน ดังนั้น โจทก์ต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา หากบริษัท ผ. มีความพร้อมในการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อใด โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เมื่อนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีความผูกพันเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียในการใช้หนี้ และเข้าใช้หนี้นั้นแทนจําเลยซึ่งจะมีผลให้โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ผ. เรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) แม้ขณะจําเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. แต่ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 โจทก์ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 แปลง ข้างต้น ให้แก่บริษัท ผ. เพื่อให้บริษัท ผ. นําไปใช้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารโดยอ้างถึงข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ แสดงว่าโจทก์เข้าผูกพันตนชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโดยการส่งมอบเอกสารสิทธิของที่ดินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัท ผ. ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชําระหนี้ และบริษัท ผ. ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้ว ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จําเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชําระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจําเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลย จําเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชําระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จําเลยหลุดพ้นจากการชําระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ และจําเลยไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลยแล้ว ผู้บริหารของจําเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจําเลยได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จําเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จําเลยจึงต้องชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ จําเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จเท่านั้น
of 2