คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ซื้อขายสินค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 43 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง องค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.เช็ค
การออกเช็คของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4หรือไม่ โจทก์จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้ได้ความสองประการคือมีหนี้ที่จะต้องชำระ และหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายคดีนี้ ธ. อ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ค่าขายสินค้ายางรถยนต์และล้อแม็กแก่โจทก์ร่วม เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคากว่า 500 บาทขึ้นไป แต่หลักฐานที่แสดงว่าจำเลยได้ซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์ร่วมแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม โจทก์ร่วมหาได้มีมาแสดงหรือนำสืบถึงเหตุที่ไม่อาจนำมาแสดงได้ไม่ จึงไม่พอฟังได้ว่า มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทมาจากการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทจึงไม่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7670/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินค้าโดยใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ การลงชื่อในเอกสารถือเป็นการสนองรับซื้อ สัญญาผูกพันจำเลยในฐานะตัวแทน
การที่โจทก์ส่งใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ไปถึงจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดของสินค้าราคาและวิธีการชำระหนี้ ย่อมเป็นคำเสนอขายสินค้าเสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ซื้อในเอกสารดังกล่าวแล้วส่งคืนให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาสนองรับซื้อแทนจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อขายเม็ดพลาสติกรายนี้จึงเกิดขึ้นมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ยอมรับรู้ให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การค้าขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1มุ่งเอาการที่จำเลยที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้โจทก์ก่อนจึงจะถือว่าการซื้อขายสำเร็จไปแต่ละรายการ แต่จำเลยที่ 1 มิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายทุกรายการไม่ชอบเพราะโจทก์ยังนำสืบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ดังที่กล่าวไว้ในคำฟ้อง จำเลยที่ 1 อ้างขึ้นลอย ๆ ว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ โดยมิได้ยกเหตุผลใด ๆ มาประกอบข้ออ้างเลยว่า โจทก์นำสืบอย่างไรจึงถือว่านำสืบไม่ได้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1981/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขายสินค้า การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการค้า และผลกระทบต่อการเริ่มนับอายุความ
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบแก่จำเลย จึงต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ ทั้ง ๆ ที่มิได้วางบิลเรียกเก็บเงินก่อนเท่ากับเป็นการยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าระหว่างโจทก์และจำเลย ตลอดจนมีผลเป็นการยกเลิกการให้ สินเชื่อทั้งปวงแก่จำเลยด้วย กรณีฟังได้ว่าโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 เกิน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2536 แก่จำเลย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6432/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการซื้อขายสินค้าสีระหว่างผู้ประกอบการค้า ลักษณะพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เจ้าหนี้เป็นผู้ประกอบการค้าขายสินค้าสี ลูกหนี้เปิดร้านประกอบกิจการขายสินค้าสีและวัสดุก่อสร้าง ลูกหนี้ซื้อสินค้าสีจากเจ้าหนี้นำไปขายให้แก่ลูกค้าของลูกหนี้อีกต่อหนึ่ง ดังนี้การซื้อขายสินค้าระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้จึงมีลักษณะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ตอนท้ายและมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(5) การที่เจ้าหนี้นำสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าสินค้าสีมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 4เมษายน 2539 แม้จะเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน2535 อันเป็นวันครบกำหนด 90 วัน ที่ลูกหนี้ต้องชำระเงินค่าสินค้าสีที่ลูกหนี้สั่งซื้อครั้งแรกถึงวันฟ้องก็ยังไม่ล่วงพ้นอายุความห้าปี และการที่เจ้าหนี้นำสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าสีมาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้บางหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะทำให้อายุความสะดุดหยุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อ วันที่ 25 กรกฎาคม 2539 คดีถึงที่สุด จึงเริ่มนับอายุความใหม่ ตั้งแต่เวลานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ค่าขายสินค้าสี ตามคำขอรับชำระหนี้จึงไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิ ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้นับแต่วันที่หนี้ ค่าขายสินค้าสีถึงกำหนดชำระครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6038/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีซื้อขายสินค้า: การผ่อนชำระไม่สะดุดอายุความ
จำเลยได้สั่งซื้อสินค้าประเภทอุปกรณ์เครื่องยนต์จากโจทก์ในราคา 100,000 บาท ตกลงเงื่อนไข การชำระเงินไว้ว่าให้จำเลยชำระร้อยละ 30 ของราคาสินค้าในวันส่งของ ส่วนที่เหลือจ่ายเป็นเช็คล่วงหน้าจำนวน 6 ฉบับถึงกำหนดชำระทุก 30 วัน ดังนั้นจำเลยต้องชำระเงินจำนวน 34,000 บาท ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยในวันส่งของนั้นเองส่วนค่าสินค้าจำนวน 66,000 บาท ที่จำเลยชำระเป็นเช็คจำนวน 6 ฉบับ ถึงกำหนดชำระเงินทุก 30 วันตามลำดับ เป็นการผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นคราว ๆ มิใช่เป็นการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วนของเงินจำนวน 34,000 บาท อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบมีอายุความ 2 ปีนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)ประกอบมาตรา 193/12 เมื่อนับจากวันที่โจทก์ส่งสินค้าให้จำเลยถึงวันฟ้องเกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7771/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เช็คชำระหนี้ซื้อขายสินค้า การแก้ไขเช็ค และผลของการปฏิเสธการจ่ายเงิน
เดิมจำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าผ้าแก่โจทก์ด้วยเช็คหลายฉบับและหลายครั้ง แต่เช็คส่วนใหญ่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงเปลี่ยนเช็คเป็นเช็คพิพาทและเช็คอื่นเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ ให้แก่โจทก์แทน ซึ่งเช็คพิพาทธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นเมื่อเช็คพิพาทที่จำเลยออกให้แก่โจทก์มีมูลหนี้มาจากจำเลยซื้อสินค้าผ้ายืดของโจทก์ การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว
มูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการซื้อขายสินค้าผ้า และเมื่อจำเลยเพียงแต่ชำระมูลหนี้เดิมด้วยเช็คซึ่งโจทก์ยอมรับเอาเช็คพิพาทนั้นแทนการชำระหนี้โดยการใช้เงิน แต่เมื่อเช็คพิพาทและเช็คฉบับอื่น ๆที่มีการเปลี่ยนเช็คแทนกันมาตลอด ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 321 วรรคท้าย ประกอบกับโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ การที่มีการเปลี่ยนเช็คพิพาทให้แทนเช็คเดิมซึ่งธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วกรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการระงับมูลหนี้เดิม จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับ
เช็คพิพาท แม้จะมีการแก้ไขวันเดือนที่สั่งจ่าย แต่ผู้แก้ไขคือศ.ซึ่งเป็นสามีจำเลย โดยจำเลยกับ ศ.สามีจำเลยได้ร่วมกันซื้อสินค้าผ้ายึดจากโจทก์และทั้งจำเลยกับ ศ.มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ด้วยเช็คพิพาท ประกอบกับบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ขอเปิดและบัตรตัวอย่างลายมือชื่อที่ทำไว้กับธนาคารตามเช็คพิพาท จำเลยและ ศ. ต่างมีสิทธิสั่งจ่ายเช็คตามบัญชีดังกล่าวได้ ดังนี้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้ยินยอมให้ ศ.เป็นผู้แก้ไขวันที่สั่งจ่ายแทนจำเลยแล้ว เช็คพิพาทจึงยังคงใช้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง
แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลจะปรากฏว่า โจทก์ได้ดำเนินคดีทางแพ่งกับจำเลยและ ศ.สามีจำเลยแล้ว โดยโจทก์นำยึดที่ดินโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างคดีอยู่ระหว่างการขายทอดตลาดก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเพราะยังไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ดังกล่าว กรณียังถือไม่ได้ว่าเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5678/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขชื่อโจทก์ในคำฟ้อง และอำนาจฟ้องซื้อขายสินค้าเงินเชื่อ แม้ชื่อบริษัทไม่ตรงกัน
เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเป็นว่าโจทก์ชื่อบริษัทเซ็นโทซ่า จำกัด หรือบริษัทเซ็นโทซ่าดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด แล้ว ชื่อของโจทก์จึงหาขัดแย้งกันไม่
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ประเภทซื้อสินค้าเงินเชื่อ จำเลยและลูกค้าในความรับผิดชอบของจำเลยได้นำบัตรซื้อสินค้าเงินเชื่อมาซื้อสินค้าไปจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2533 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2534จำเลยชำระค่าสินค้าบางส่วนแล้ว คงค้างชำระ 116,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ส่วนที่คำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุว่าจำเลยหรือตัวแทนซื้อสินค้าจากโจทก์วันไหน สินค้าอะไรบ้าง และซื้อครั้งละเท่าไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ข้อที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาเป็นข้อที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย เป็นการไม่ชอบและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
แม้สัญญาซื้อขายสินค้าเงินเชื่อจะระบุชื่อโจทก์ว่าบริษัทเซ็นโทซ่าดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด แต่ก็หมายถึงบริษัทเซ็นโทซ่า จำกัด โจทก์ในคดีนี้นั่นเองเพราะบริษัทเซ็นโทซ่าดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด หากแต่เป็นชื่อที่โจทก์ใช้ในทางการค้า จึงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาซื้อขายสินค้าเงินเชื่อกับโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขายสินค้า: จำเลยฎีกาขัดแย้งกับข้อต่อสู้ในชั้นศาลล่าง
ตามคำให้การจำเลยยืนยันว่าได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้โจทก์แล้วและนับจากวันดังกล่าวถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ล่วงเลยกำหนด1ปีจึงขาดอายุความแสดงว่าจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด1ปีนับแต่วันส่งมอบเท่านั้นมิได้ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด1ปีนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน1ปีนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบสินค้าจึงเป็นฎีกาในข้อที่จำเลยมิได้ให้การไว้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินค้ากับข้าราชการโดยไม่สุจริต และความประมาทของผู้ขาย ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ผูกพันหนี้
โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำได้ตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างกันเอง นอกจากนี้การสั่งซื้อสินค้าโจทก์เป็นการสั่งซื้อจำนวนมากแทบทุกวันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่หน่วยรายการใดจะปฏิบัติเช่นนี้ จำเลยที่ 1 เองก็ไม่ลงนามในหนังสือตั้งเจ้าหนี้แต่เริ่มแรกเมื่อโจทก์ส่งสินค้าให้ทาง เรือนจำ ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าโจทก์น่าจะตระหนักดีว่า เมื่อไม่มีหนังสือตั้งเจ้าหนี้ของกรมราชทัณฑ์จำเลยที่ 5 โจทก์จะให้จำเลยที่ 5รับผิดชอบต่อโจทก์ไม่ได้ ตามวิสัยของพ่อค้าเมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมไม่ส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ไม่ชำระค่าสินค้าอีกต่อไป แต่โจทก์ยังคงส่งสินค้าให้ทาง เรือนจำอีกเป็นความประมาทอย่างร้ายแรงของโจทก์เอง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ. 2521ได้ประกาศในราชกิจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่าหากจะติดต่อหรือปฏิบัติเกี่ยวกับการพัสดุทางราชการเช่น การซื้อ การจ้าง การซ่อมแซมบำรุงรักษา ฯลฯ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว ซึ่งโจทก์จะปฏิเสธว่าไม่รับรู้เพราะเป็นระเบียบภายในหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินค้าโดยผู้แทนจำหน่ายต่างประเทศ: หน้าที่ในการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล
บริษัทในต่างประเทศทำสัญญาตั้งโจทก์ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าแต่ผู้เดียวในประเทศไทย การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับบริษัทต่างประเทศดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประกอบกิจการซื้อขายสินค้าในประเทศไทยด้วยตนเองมิได้เป็นลูกจ้างผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้บริษัทผู้ขายในต่างประเทศ โจทก์จึงไม่มีหน้าทีและความรับผิดในการยื่นรายการ และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทต่างประเทศตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ทำสัญญาตั้งผู้แทนจำหน่าย จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ทำการแทนหรือทำการติดต่อให้บริษัทดังกล่าว โจทก์จึงมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทต่างประเทศตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ
of 5