คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฎีกา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,024 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5564/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามเรื่องการอ้างเหตุเดิมเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคดีซ้ำหลังศาลฎีกาชี้ขาดแล้ว
เดิมศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าโรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวมาสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเหตุว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยใหม่ในประเด็นข้ออื่น ไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้องว่าโรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาใหม่แล้ว จำเลยกลับยื่นฎีกาเข้ามาใหม่ขอให้ศาลฎีกายกฟ้องโจทก์โดยอ้างเหตุเดิมอีกว่า โรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีไปแล้ว ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีคุมประพฤติ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ จึงลงโทษจำคุกตามโทษที่รอการลงโทษไว้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่ง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ป.อ. ฯ มาตรา 17 วรรคสอง โจทก์จะฎีกาไม่ได้ ที่อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่รับสารภาพ และยืนยันโทษฐานกระทำชำเราเด็ก
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำชำเราด้วยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วและเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงมิใช่ข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่จะไม่ต้องรับโทษในความผิดที่กระทำโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 277 วรรคสี่ แห่ง ป.อ. นั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้กระทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมแล้ว แม้ภายหลังศาลจะอนุญาตให้จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 สมรสกัน ก็ไม่เข้าเงื่อนไขในอันที่จะไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5221/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชี้ประเด็นการอุทธรณ์ฎีกาเฉพาะบางความผิด, ยอมรับข้อเท็จจริงโดยปริยาย, และการไม่กำหนดโทษกระทงความผิด
จำเลยที่ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามีความผิดตามคำฟ้อง แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดและขอให้ยกฟ้อง เมื่อเนื้อหาในอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในความผิดดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยมาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ และในชั้นฎีกา แม้จำเลยที่ 2 จะฎีกาขอให้ยกฟ้องแต่ก็มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่าความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้คลาดเคลื่อนไปหลายประการ รวมทั้งศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยที่ 1 สูงเกินไป แต่ตามฎีกาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนกลางประสานให้ฝ่ายผู้ล่อซื้อและฝ่ายผู้ขายได้บรรลุผลสำเร็จในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพียงแต่จำเลยที่ 1 โต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 ได้พาคนของฝ่ายผู้ซื้อไปชี้จุดที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้นโดยที่เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่เคยอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลยที่ 1 เลย ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำขอท้ายฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบา โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขอให้ยกฟ้องด้วยแล้วเท่ากับว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับมาในฎีกาโดยปริยายแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าผู้ล่อซื้อจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาด้วย ถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบาสำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เท่านั้น
เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ตามคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันแล้ว ศาลจะต้องพิพากษากำหนดโทษจำเลยที่ 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวมาด้วย ส่วนเมื่อรวมโทษกับความผิดกระทงอื่นแล้ว จะลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เพียงใดหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวและเรียงกระทงลงโทษมาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษและเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4973/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในคดีเยาวชน กรณีศาลกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
ในคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักหรืออบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้วย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 และคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวตามมาตรา 122 เท่านั้น สำหรับการฎีกา มาตรา 124 บัญญัติว่าคดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 ซึ่งมีความหมายว่าคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่น กรณีอุทธรณ์ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้วก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อนุญาตอุทธรณ์และขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม ส่งผลให้จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา
เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา หากจำเลยที่ 1 ยังคงติดใจอุทธรณ์ ก็ให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ออกไปอีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งต่อมา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อย่างคนอนาถาซึ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต่อไปได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4889/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาภายในกำหนดถือเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามกฎหมาย
จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ถูกต้อง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่จากจำเลยให้ครบถ้วน และศาลชั้นต้นได้มีหมายแจ้งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ยังขาดอยู่แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระกรณีถือได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระ กรณีถือได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีพิพาททรัพย์สิน: ทุนทรัพย์และปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสอง แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ใหญ่บ้านได้รับมอบอำนาจจากองค์การบริหารส่วนตำบลให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ และโต้แย้งคัดค้านการที่โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้เป็นการพิพาทกันในตัวทรัพย์คือที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องว่า ที่ดินที่พิพาทมีราคาไม่น้อยกว่า 100,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้โจทก์ชนะคดี จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ทุนทรัพย์แห่งคดีในชั้นฎีกาจึงมีจำนวน 100,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4825/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยความผิดเดิมที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง และฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมาย
ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยอีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานดังกล่าวด้วยแม้จะไม่ได้กำหนดโทษ ก็เป็นการไม่ชอบ ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นคนร้ายคดีนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาอาวุธปืน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในคดีเยาวชน: ศาลชั้นต้นสั่งผิดพลาดเรื่องการอนุญาตฎีกาข้อเท็จจริง
กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบทกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าฎีกาของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
of 303