คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดุลพินิจศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 247 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนัดประชุมเจ้าหนี้, การแก้ไขแผน, และดุลพินิจศาลในการเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ
ในการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนสามารถแบ่งแยกการนัดประชุมเจ้าหนี้ออกเป็น 2 ช่วง คือ การนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไป ในการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วันตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งใช้เฉพาะกับการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับแผนพร้อมสำเนาจากผู้ทำแผนเพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไรเท่านั้นส่วนในการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น หากว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกได้ดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว การนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น ก็ไม่ต้องประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอีก ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ต่อมาผู้ทำแผนและลูกหนี้ขอแก้ไขแผนและในวันประชุมเจ้าหนี้ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้เลื่อนไปนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา เช่นนี้ การประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนมา จึงไม่ต้องดำเนินการโฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอีก
วิธีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนั้นพระราชบัญญัติล้มละลายฯหมวด 3/1 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 1ส่วนที่ 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 90/2 วรรคสอง ซึ่งในบทบัญญัติส่วนดังกล่าวมาตรา 30 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นผู้เสนอหัวข้อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและควบคุมการประชุมเจ้าหนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แม้ว่าคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้จะมีประเด็นต่าง ๆ รวม20 ประเด็น แต่เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เสนอ ให้ลงมติเป็นรายประเด็นหรือรวมกัน จึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะพิจารณาตัวประเด็นต่าง ๆ ในคำขอแก้ไขแผนฉบับดังกล่าวตลอดจนความเกี่ยวพันของประเด็นเหล่านั้นในคำขอว่าจะให้ลงมติแยกหรือรวมก็ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ลงมติคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้รวมกันไปทั้ง 20 ประเด็น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/57 ไม่ได้บังคับศาลว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนคดีทุกคดีก่อนที่จะมีคำสั่งว่าเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้เป็นดุลพินิจของศาลในการที่จะพิจารณาว่า ข้อสาระสำคัญในการที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนนั้นมีอยู่ครบถ้วนหรือไม่ หากศาลเห็นว่าครบถ้วนแล้วก็ไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อให้คดีฟื้นฟูกิจการล่าช้าออกไป การที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบกับพยานเอกสารที่คู่ความได้อ้างมานั้นเพียงพอในการวินิจฉัยที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนแล้วก็ไม่จำต้องไต่สวนพยานอีก คำสั่งงดไต่สวนของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, การมอบอำนาจ, การบอกกล่าวบังคับจำนอง, พยานเอกสาร, ดุลพินิจศาล: ข้อวินิจฉัยสำคัญในคดีบังคับจำนอง
การมอบอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง มิได้บังคับว่าผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็น จะต้องลงชื่อเมื่อใด ดังนั้น แม้ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็นจะลงลายมือชื่อภายหลังที่ได้มี การมอบอำนาจกัน ก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจเสียไป
ช. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับเอาการ บอกกล่าวบังคับจำนองโดยได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารตามที่กฎหมายบังคับให้ปิด ตาม พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และเป็นสิ่งที่ศาลรู้เองโจทก์ไม่ต้องนำสืบ
คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุทิ้งฟ้อง เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้น มิได้สั่งจำหน่ายคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์, การขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาล, ดุลพินิจศาล
คำฟ้องของโจทก์นอกจากจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 อันเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทในราคาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วย ซึ่งคำขอส่วนนี้อาจมีผลให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้ว่าคำขอส่วนแรกที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเป็นคำขอหลักคำขอส่วนหลังที่ให้ศาลสั่งให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์เป็นคำขอต่อเนื่อง แต่ก็มีผลเพียงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในการอุทธรณ์ฎีกาคดีนี้โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงราคาทรัพย์สินพิพาทเท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้โจทก์มีสิทธิชำระค่าขึ้นศาลแบบคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แต่ประการใดไม่ เนื่องจากตามตาราง 1(3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในคดีที่มีทั้งคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย ให้คิดค่าขึ้นศาลตามอัตราใน (1) แต่ไม่ให้น้อยกว่าอัตราใน (2)(ก) หรือ (2)(ข) แล้วแต่กรณี โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์พิพาทในอัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อทุกหนึ่งร้อยบาทแต่ไม่ให้น้อยกว่าสองร้อยบาท
แม้การประทับตรากำหนดวันให้โจทก์มาทราบคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการกระทำโดยเจ้าพนักงานศาล แต่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ใต้ตราประทับดังกล่าวอันเป็นการยืนยันต่อศาลว่าโจทก์จะไปทราบคำสั่งในวันดังกล่าวเอง ทั้งตราประทับยังมีข้อความว่า ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องมีหมายแจ้งคำสั่งไปให้โจทก์ทราบอีก โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลเกินกำหนดดังกล่าว ทั้งโจทก์มิได้ระบุถึงเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องภายในกำหนดได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยอันควรอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลหรือไม่
การอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมนั้น ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรว่าจะอนุญาตกี่ครั้งหรือเป็นเวลานานเพียงใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของโจทก์ว่าอนุญาตให้ขยายได้อีกเพียงครั้งเดียวนั้น จึงหาเป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์ในการจะขอขยายระยะเวลาในครั้งต่อไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7806/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุจำเลยแถลงข้อเท็จจริงปฏิเสธความผิด ไม่ได้คัดค้านดุลพินิจศาลอุทธรณ์
แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จะได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ได้ไปติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 และพวกตลอดทั้งพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และหลอกลวงให้ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ โดยละเอียดก็ตาม แต่ฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแถลงข้อเท็จจริงปฏิเสธความผิดของตนโดยมิได้ยกเหตุขึ้นคัดค้านหรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และมาตรา 216

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีโต้เถียงข้อเท็จจริงและดุลพินิจศาลชั้นต้นเกี่ยวกับความผิดฐานครอบครองและจำหน่ายยาเสพติด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง , 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดสองกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วให้จำคุกจำเลยรวม 7 ปี 6 เดือน ตามบทกฎหมายที่ศาลชั้นต้นปรับบทมา เป็นการแก้เฉพาะกำหนดโทษให้เบาลง มิได้แก้บทความผิด ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า จำเลยได้ยึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของตนแล้วจึงวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายต่อไปว่า ไม่ว่าจำเลยจะครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางนานเพียงใดหรือรับเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลางมาแล้วจำหน่ายไปบางส่วนดังกล่าวทันที การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสองกรรม การที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงกรรมเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยความหมายคำว่าครอบครองคลาดเคลื่อน เพราะการครอบครองจะต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาอยู่ในครอบครองระยะหนึ่งก่อน จำเลยเพียงแต่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้แล้วจำหน่ายไปจำนวน 1 เม็ด ทันที โดยจำเลยถือว่าจำเลยมิได้มีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา เพื่อที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "ครอบครอง" ตามฎีกาของจำเลย ถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขาดนัดพิจารณาคดี, การแจ้งความประสงค์ให้พิจารณาต่อไป, คำร้องขอเลื่อนคดี, ดุลพินิจศาล, การจำหน่ายคดี
กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 201 วรรคหนึ่ง เดิม จำเลยที่ 2แถลงในวันสืบพยานแต่เพียงว่า "การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่ง" เพียงเท่านี้ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งต่อศาลแล้วว่าตนตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลไม่มีหน้าที่ที่จะต้องสอบถามจำเลยที่ 2 เสียก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันสืบพยานด้วยนั้นไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่า หากมีกรณีดังกล่าว ศาลจะต้องสอบคำร้องขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อนจึงจะมีคำสั่งขาดนัดพิจารณาได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เท่ากับเป็นการแปลความเพิ่มหลักเกณฑ์ลงไปในมาตรา 197 วรรคสอง เดิม ซึ่งไม่ถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นจะสอบคำขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เป็นดุลพินิจหากศาลใช้ดุลพินิจสอบคำขอเลื่อนคดีแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนคดี วันนัดดังกล่าวก็มิใช่วันสืบพยานตามกฎหมายอีกต่อไป แต่สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ไปแล้วตามมาตรา 197 วรรคสอง เดิม ประกอบกับมาตรา 201 วรรคหนึ่ง เดิมคำขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 ย่อมตกไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจศาลในการลงโทษ: การพิจารณาปัจจัยผู้ต้องหา, ภยันตรายร้ายแรงต่อสังคม และภาวะจิต
ศาลจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจ โดยศาลอาจหยิบยกเหตุต่าง ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ขึ้นวินิจฉัยประกอบดุลพินิจก็ได้ เมื่อศาลใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยย่อมแสดงว่าศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาและภาวะแห่งจิตของจำเลยตลอดจนเหตุอื่นแล้ว โดยศาลไม่จำเป็นต้องระบุถึงเหตุต่าง ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ให้ปรากฏโดยแจ้งชัดในคำพิพากษา นอกจากนี้ ป.อ. มาตรา 56 ก็มิใช่บทมาตราซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือบทกำหนดโทษ และไม่ใช่กรณีที่ศาลรอการ ลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลจึงไม่ต้องปรับบทมาตราดังกล่าวในคำพิพากษา
การกระทำความผิดใดเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป และสภาพความผิดดังกล่าวศาลอาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยได้ หาเป็นการปรับบทลงโทษ คลาดเคลื่อนต่อ ป.อ. มาตรา 63 ไม่
เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยมิได้อ้างว่าจำเลยมีจิตฟั่นเฟือน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีจิตฟั่นเฟือน การที่ศาลมิได้นำ ป.อ. มาตรา 65 มาประกอบการวินิจฉัย จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่เคลือบคลุม การรับสารภาพ และดุลพินิจศาลในการลดโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติดในเรือนจำ
ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะสอบคำให้การได้อ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยเข้าใจข้อหาดีแล้ว จำเลยจึงได้ให้การรับสารภาพและลงลายมือชื่อไว้โดยโจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดเจนในข้อ ก. ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเป็นจำนวนเท่าใด และมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาสถานที่กระทำผิด และในคำฟ้องข้อ ข. บรรยายว่า จำเลยได้นำยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามเข้าไปในเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นการบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอสมควรเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
สิ่งของต้องห้ามที่จำเลยนำเข้าไปในเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการเป็นยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นภัยต่อสังคมโดยรวมและกระทำในขณะต้องขังคดีอื่น แสดงว่าจำเลยไม่มีสำนึกและความรับผิดชอบทั้งไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง การที่จำเลยมีบิดามารดาที่ชราแล้ว มีบุตรที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูและไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนนั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลล่างที่ไม่ลดโทษและรอการลงโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่และข้อโต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้น/อุทธรณ์ รวมถึงประเด็นโทษจำคุกที่ไม่ถูกต้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับ ส. มีเฮโรอีนจำนวน 16 หลอด และมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 76 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ไว้ในครองครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนที่เหลือเป็นของ ส. โดยจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกับ ส. มีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว โจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับ ส. มีเฮโรอีนจำนวน 16 หลอด และเมทแอมเฟตามีนจำนวน 66 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่จึงยุติไป โจทก์จะโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับ ส. มีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน ดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหาได้ไม่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ แล้วคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยที่ 2 ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่เกินกำหนดดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับ ส. มีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตและขอให้ลงโทษสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษของศาลว่าสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 เพียงใด อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
เมื่อขณะค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ของกลาง จำเลยที่ 1 นอนหลับอยู่บนเตียง แม้จะได้ความว่าจำเลยทั้งสองเช่าห้องพักที่เกิดเหตุอยู่ด้วยกัน เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ไว้ในครอบครองจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 6 เดือน ที่ถูกต้องจำคุก 9 เดือน แต่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง และที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษ ก็เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 คดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจขึ้นมาสู่การวินิจฉัย ของศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1658/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีก่อสร้าง และดุลพินิจศาลในการขยายผลคำพิพากษาถึงจำเลยที่ไม่ฎีกา
แม้หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้อุทธรณ์ฎีกาแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งทำให้คำพิพากษานี้มีผลเป็นที่สุดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และศาลฎีกามีอำนาจชี้ขาดให้คำพิพากษานี้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องให้ดุลพินิจศาล มิใช่บทบังคับศาลแต่อย่างใด และในคดีนี้เห็นไม่สมควรชี้ขาดให้คำพิพากษานี้มีผลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ด้วย
of 25