คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ต่างประเทศ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 229 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12466/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีบริการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในต่างประเทศ โดยผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
แม้งานเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ทำให้แก่บริษัท ฮ. จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวและอาจโอนลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นได้ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 8 และมาตรา 17 แต่มาตรา 10 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติว่า ในกรณีที่งานซึ่งมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายได้ถูกทำขึ้นโดยการว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น ผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้นหามีลิขสิทธิ์ในงานนั้นไม่ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น เงินค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงไม่ใช่ค่าแห่งลิขสิทธิ์ตามมาตรา 40 (3) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทฮ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายของต่างประเทศ มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำเป็นหนังสือ โปรแกรมที่ผลิตตามสัญญาโจทก์ทำการผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท ฮ. เป็นผู้กำหนดรูปแบบและรายละเอียดต่าง ๆ และโจทก์ส่งมอบโปรแกรมที่ผลิตให้แก่บริษัท ฮ. แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีการนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 80/1 (2) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 แล้ว จึงต้องใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับยอดขายหรือรายรับของโจทก์ที่ได้รับตามสัญญาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4199/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการต่างประเทศตามมาตรา 824
แม้โดยหลักทั่วไปว่าด้วยความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก เมื่อตัวแทนกระทำการแทนตัวการไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนแล้ว ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายที่ตัวแทนได้ทำไปดังกล่าวนั้น โดยตัวแทนไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 ก็ตาม แต่ในกรณีตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศนั้นเป็นกรณีที่มี มาตรา 824 บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ตัวแทนเช่นนี้ต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง ซึ่งหมายความว่า ตัวแทนเช่นว่านี้ต้องมีความรับผิดด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศกับจำเลยที่ 2 ตัวแทนที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 1 รวมกันมา และศาลได้พิจารณาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกคนหนึ่งได้ตาม มาตรา 824
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/46)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผลิตสินค้าโดยได้รับสิทธิบัตรจากต่างประเทศ ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีในประเทศ
โจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้มีอำนาจในการปกป้องรวมทั้งการฟ้องคดีในศาลไทยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 และตามคำฟ้องก็บรรยายว่า ช. กระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับท้ายคำฟ้อง ช. ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองและในใบแต่งทนายความก็ได้ระบุว่าลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 กับในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ถือได้ว่า ช. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 แล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7)
สิทธิบัตรไทยของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธี จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เฉพาะกรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรนั้นเท่านั้น กล่าวคือได้รับความคุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยการนำส่วนปลายสุดที่ทำเป็นเกลียวไว้มาต่อกับส่วนปลอกโดยมีลักษณะพิเศษคือก่อนการทำเส้นเกลียวดังกล่าวส่วนปลายสุดของแท่งเหล็กที่จะนำมาเชื่อมต่อนั้นจะถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นด้วยวิธีแบบที่ไม่ใช้ความร้อนหรือวิธีแบบที่เย็น ไม่ได้รับความคุ้มครองสำหรับกรรมวิธีการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยวิธีขึ้นรูปโดยใช้ความร้อนหรือแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น
จำเลยผลิตข้อต่อของแท่งเหล็กเส้นตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์สหรัฐอเมริกาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรให้ใช้ซึ่งเป็นสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการตีขึ้นรูป จึงครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงโดยมีการทำให้ปลายเหล็กเส้นเสริมแรงขยายใหญ่ขึ้นก่อนทำเกลียว ด้วยกรรมวิธีการตีขึ้นรูปทุกกรรมวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตีขึ้นรูปแบบเย็น แบบร้อน หรือแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น แม้จะมีกรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ ก็แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85 ประกอบด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: เครื่องหมายไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย แม้จดทะเบียนในต่างประเทศก็ไม่อาจรับจดทะเบียนในไทยได้
แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้
โจทก์ขอจดทะเบียนการค้าคำว่า "JAVACAFE" ซึ่งสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของคำดังกล่าวนอกจากอักษรโรมันติดกัน 8 พยางค์แล้ว สำเนียงเรียกขานก็ถือเป็นสาระสำคัญด้วยเพราะสามารถทำให้ประชาชนทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของสินค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น คำว่า "JAVACAFE" สามารถแยกออกเป็น "JAVA"เรียกขานว่า "จาวา"หมายถึงชื่อเกาะในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักดีว่าหมายถึงเกาะชวา ซึ่งประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ชื่อเมืองท่า จังหวัด... เกาะ เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (2) ดังนั้น "JAVA" หรือ"จาวา"จึงเป็นคำไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะส่วนคำว่า"CAFE"เรียกขานว่า"คาเฟ่" หมายถึงกาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก ถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกันแม้จะนำทั้งสองคำมาเขียนติดกันเป็น "JAVACAFE" เรียกขานว่า "จาวาคาเฟ่" และจะแปลไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงกาแฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น ตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกหรือเป็นคำหรือรวมกัน เสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง
การที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และความเห็นของนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทซื้อขายสินค้าต่างประเทศ การคิดอัตราแลกเปลี่ยน การชำระหนี้ และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในคำพิพากษา
คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร พร้อมคำขอบังคับจำเลยเพียงเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจคำฟ้อง เพื่อที่จะให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องเท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์จำนวนเท่าไร ชำระให้โจทก์แล้วเท่าไรเหลือหนี้อีกเท่าไรที่จำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยโดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินบาทมาด้วยนั้น เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้วทั้งการที่จะพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเฉพาะคำฟ้องโจทก์เป็นสำคัญว่าบรรยายฟ้องถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยให้เข้าใจได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172หรือไม่ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคำให้การต่อสู้ของจำเลยตลอดถึงการนำสืบของโจทก์ในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด
จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามราคาที่แท้จริง 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์จำเลยย่อมมีหน้าที่ชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ แต่การที่โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยในราคา 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งต่ำกว่าที่ซื้อขายสินค้ากันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรในการนำเข้าสินค้าต่อกรมศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร แม้ผู้เสียภาษีอากรจะเป็นจำเลยผู้นำเข้าและยังไม่ถูกเจ้าพนักงานกล่าวหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27,99 ก็ตาม แต่เมื่อเห็นได้ชัดว่า โจทก์และจำเลยประกอบธุรกิจมีเจตนาเอาเปรียบประเทศไทยถือได้ว่าไม่สุจริตด้วยกัน โจทก์ไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวมาเรียกร้องเงินเต็มจำนวน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์อันเป็นจำนวนที่โจทก์ร่วมมือกับจำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรรวมอยู่ด้วยได้ จำเลยคงรับผิดชำระให้โจทก์เฉพาะค่าสินค้า 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าต่อกรมศุลกากรแล้วพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดเท่านั้น
อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์มิได้มีอัตราคงที่แน่นอน จะมากขึ้นหรือน้อยลงแตกต่างกันในแต่ละวันย่อมขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจเมื่อจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าสินค้าให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่ตกลงซื้อขายกัน หรือหากจะชำระเป็นเงินบาท จำเลยก็ต้องชำระด้วยอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196ซึ่งจำเลยอาจได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในแต่ละวันได้ แต่จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ เพราะโจทก์จะได้รับชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เสมอ แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท และศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินโดยไม่ได้ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ตามคำขอของโจทก์นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะหากอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินต่อ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เกิน 18 บาท คำพิพากษาของศาลในส่วนนี้จะเกินคำขอของโจทก์จึงสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินตามคำขอของโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดหางานต่างประเทศ: จำเลยต้องประกอบธุรกิจจริง จึงจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางาน
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า จัดหางานหมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น การที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน โจทก์จึงต้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยประกอบธุรกิจจัดหางาน หรือดำเนินการเพื่อส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศแต่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดหางานในต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายได้ เพราะจำเลยไม่เคยไปติดต่อหาสถานที่ทำงานในต่างประเทศมาก่อนเลย แสดงว่าจำเลยมิได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30วรรคหนึ่งและมาตรา 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานหลอกลวงจัดหางานต่างประเทศ ไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกง และไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายได้
แม้บทบัญญัติมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ซึ่งระบุให้ผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงนั้น จะมีถ้อยคำว่า "หลอกลวงผู้อื่น" ก็ตาม แต่ก็มิใช่ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ก็มิได้ให้พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9022-9023/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ & การคิดอัตราแลกเปลี่ยนตามสัญญา
การส่งหมายเรียกพยานบุคคล 5 คนซึ่งอยู่ที่ประเทศอังกฤษให้มาเป็นพยานตามคำร้องของผู้คัดค้านต้องใช้เวลานานเกินสมควรไม่ทันกำหนดนัดสืบพยานผู้คัดค้านและผู้ร้องซึ่งศาลชั้นต้น (ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง) ได้กำหนดนัดล่วงหน้าไว้แน่นอนแล้วโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นชอบตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงไม่อนุญาต อย่างไรก็ตามศาลชั้นต้นก็มิได้ปฏิเสธคำร้องขอของผู้คัดค้านเสียทั้งหมด โดยยังคงเปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านส่งบันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคลของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งอยู่ต่างประเทศหรืออาจขอสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ข้อ 31 และข้อ 32 หรือนำพยานบุคคลดังกล่าวมาเป็นพยานเองก็ได้ แต่ผู้คัดค้านก็หาได้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ พฤติการณ์ส่อแสดงว่าผู้คัดค้านประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเช่นนี้ชอบแล้ว
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ร. อนุญาโตตุลาการในประเทศอังกฤษไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้แล้วตามเอกสารท้ายคำคัดค้าน โดยมิได้อ้างเหตุว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดีอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศคือ เงินดอลล่าร์สหรัฐและเงินปอนด์สเตอร์ลิงเท่านั้น โดยขอให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษานั้น นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 196 วรรคสองแล้ว ยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอบังคับของผู้ร้องโดยกำหนดการคิดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำร้องขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7050/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลอกลวงจัดหางานต่างประเทศไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางาน หากไม่มีเจตนาจัดหางานจริง
ในคดีอาญา ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกายกขึ้นเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบด้วย มาตรา 195 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่าจำเลยจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วม ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วยการประกาศโฆษณาและชักชวนว่าจำเลยสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะได้เงินเดือนอัตราสูง และจำเลยจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นหลายคนแล้ว แต่ผู้สมัครจะต้องจ่ายเงินค่าบริการและค่าจัดส่งให้จำเลยจำนวนหนึ่ง ความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดส่งคนหางานให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นตามที่หลอกลวงไว้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากโจทก์ร่วมและ ผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6565/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี, คำสั่งศาลสูงอังกฤษ, ความรับผิด
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งได้มีการรับรองว่าได้จัดทำกันขึ้นจริงโดยทนายความโนตารีปับลิกผู้ได้รับอนุญาตแห่งสำนักทนายความซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้ทำหน้าที่โนตารีปับลิกแล้ว จึงแสดงว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยชอบ ดังนั้น แม้จะได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยก็ย่อมถือได้ว่าเป็นตราสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ กรณีไม่จำเป็นต้องอยู่ในบังคับที่ให้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ
คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างโจทก์และจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำการใดให้โจทก์ต้องเสียหายพร้อมคำขอให้บังคับจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์พอที่จำเลยจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้เท่านั้นส่วนการที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเหมาระวางเรือข้อใด สินค้าสูญหายหรือเสียหายเท่าใด คิดเป็นเงินเท่าใดโจทก์ชดใช้เงินให้ผู้รับตราส่งไปแล้วเท่าใดและได้ชำระเมื่อใดนั้นมิได้เป็นสาระที่จะเป็นเหตุทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใดเพราะโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือแต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ
แม้อนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยก็ตามแต่ก็เป็นคนละส่วนกับคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายให้โจทก์(TheDefendants'paythePlaintiffs'costsinanyevent)คำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์จึงเป็นมูลหนี้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วยกคำร้องของจำเลย โดยจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ไม่มีอำนาจพิจารณาหรือดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างไรหรือไม่ ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ซึ่งต้องรวมค่าใช้จ่ายที่โนตารีปับลิกรับรองเอกสารในการส่งคำสั่งศาลให้แก่จำเลยด้วย
of 23