คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผลผูกพันสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3910/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: ผลผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทน, การปฏิบัติตามสัญญาโดยรวม, การบังคับตามสัญญา
แม้สัญญาเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 10 ระบุไว้ว่า 'ข้อตกลงใดที่กระทำด้วยวาจานอกเหนือจากที่บันทึกไว้แล้วนี้ต่อหน้านายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ทนายความ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มอบให้เป็นผู้ดำเนินการประนีประนอมจนเกิดเป็นข้อตกลงนี้ทั้งหมด ให้นายพิเชษฐพันธุ์วิชาติกุล เป็นผู้ชี้ขาด'แต่เมื่อสัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย อันมีผลให้โจทก์จำเลยต่างได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาดังกล่าว ดังนั้นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วยวาจาอย่างใดที่มิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญานี้คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งคู่สัญญาจำต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาที่ระบุไว้ทุกข้อ อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้น เมื่อฝ่ายหนึ่งยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญา ก็จะหยิบยกข้อตกลงเฉพาะข้อหนึ่งข้อใดมาบังคับเอากับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อเป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจัดตั้งสาขาธนาคาร: ผลผูกพันสัญญา แม้ผู้ลงนามไม่ใช่ตัวแทนโดยตรง และอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่ง
โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาต่อกัน และได้ทำสัญญาขึ้นโดย ช.ลงชื่อเป็นคู่สัญญาฝ่ายโจทก์ถึงแม้ ช. จะมิใช่ผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยก็ทราบดีว่า ช. ลงชื่อในฐานะตัวแทนโจทก์และโจทก์จำเลยก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาต่อกันตลอดมา สัญญาดังกล่าวย่อมเป็นผลผูกพันระหว่างโจทก์จำเลย
โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยจัดตั้งสาขาธนาคารโจทก์ โดยจำเลยต้องดำเนินกิจการภายใต้การควบคุมดูแลของโจทก์ การแต่งตั้งพนักงานบางตำแหน่งโจทก์สงวนสิทธิที่จะแต่งตั้งเอง ส่วนตำแหน่งอื่นๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากโจทก์ก่อน และการดำเนินกิจการบางอย่างก็ต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือต้องผ่านสำนักงานใหญ่ของโจทก์จำเลยหามีอำนาจดำเนินการอย่างเป็นอิสระไม่ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นใหม่ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์
โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสัญญาตัวแทนเป็นมูลฐาน แม้จะกล่าวว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของธนาคารโจทก์ทำการโดยประมาทเลินเล่อโดยปราศจากอำนาจแสวงหาประโยชน์โดยไม่สุจริตก็เป็นการกล่าวตามที่มีปรากฏในสัญญานั้นเอง จึงเป็นเรื่องฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาระหว่างโจทก์ จำเลยซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น หาใช่ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดไม่ กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีอายุความสิบปี
จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาพิพาทกับโจทก์จริง จึงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลย ไม่จำต้องใช้สัญญาพิพาทซึ่งไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2493 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าช่วงโดยมีข้อตกลงการกู้ยืมเงินเป็นส่วนหนึ่ง สิทธิในการอยู่อาศัยย่อมมีผลผูกพันตราบเท่าที่สัญญายังมีผลบังคับใช้
ทำสัญญากู้เงินกัน ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เข้ามาทำการค้าขายในร้าน ซึ่งผู้กู้ได้เช่าอยู่ก่อนนั้นตลอดไป หรือจนกว่าผู้ให้กู้จะออกไปและเมื่อผู้ให้กู้ไปจากร้านนี้เมื่อใด ผู้กู้จะส่งเงินที่กู้ไปให้แก่ผู้ให้กู้ครบจำนวนที่กู้ทันที ดังนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตราบใดที่สัญญานี้ยังไม่เลิกและผู้ให้กู้ไม่ได้ทำผิดสัญญาแล้ว ผู้กู้ไม่มีเหตุอะไรจะฟ้องขับไล่ผู้ให้กู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2477

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจรับเงิน, สัญญาซื้อขายฝาก, การหักหนี้, และผลผูกพันสัญญา
เมื่อเจ้าหนี้ทำหนังสือคิดจำนวนเงินหนี้สินเอาจากลูกหนี้เท่านั้นเท่านี้แล้ว ภายหลังจะกลับคิดเอาจากจำนวนหนี้เดิมอีกไม่ได้ เมื่อผู้รับซื้อฝากทำหนังสืออนุญาตให้ผู้ขายฝากขายทรัพย์นั้นต่อไปแล้ว ผู้ขายฝากย่อมขายทรัพย์นั้นได้
ที่ดิน ซื้อขายที่ดินยังไม่มีโฉนดทำสัญญากรมธรรม์ต่ออำเภอก็เป็นการใช้ได้
ตัวแทน เจ้าหนี้ทำหนังสือมอบให้ผู้อื่นรับเงินจากลูกหนี้แทนตนแม้ผู้รับเงินจะทำเงินหายเจ้าหนี้ก็จะมาฟ้องเรียกเงินจากลูกหนี้อีกไม่ได้ ฎีกาอุทธรณ์ปัญหากฎหมาย เอกสารถูกต้อง 2 ฉะบับ มีข้อความขัดกัน ปัญหาว่าเอกสารฉะบับไหนจะมีผลบังคับนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2472

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันสัญญายอมความที่มีเงื่อนไขกับการอ้างกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
จำเลยปกครองที่โดยปรปักษ์มา 10 ปี ทำสัญญากับโจทก์ต่ออำเภอว่า ถ้ากำนันเบิกความสมข้างใครให้ที่เปนของคนนั้นเมื่อกำนันเบิกความสมข้างโจทก์ จำเลยจะอ้างอำนาจปรปักษ์ขึ้นต่อสู้อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16078/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันสัญญาโอนสิทธิและสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับโอน
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการอาคารชุดของจำเลยที่ 1 และสัญญาจะซื้อจะขายเฟอร์นิเจอร์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายโครงการก่อสร้างอาคารชุดไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดประกอบสัญญาจะซื้อจะขายเฟอร์นิเจอร์ร่วมด้วย ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนขายสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 3 โดยในสัญญาโอนขายมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อลูกค้าเดิมของจำเลยที่ 1 รวมทั้งโจทก์ และจำเลยที่ 2 ตกลงกับจำเลยที่ 1 ให้มีการเปลี่ยนตัวผู้รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดจากจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 3 เป็นผลให้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการดังกล่าวทั้งหมดกันใหม่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 กรณีถือว่าการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนขายสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 และมีการเปลี่ยนตัวผู้รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดจากจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 ก็ตกลงยินยอมด้วย เมื่อข้อตกลงในสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีข้อสัญญาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อลูกค้าทุกราย และสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ก็มีข้อตกลงที่จำเลยที่ 3 ต้องรับโอนสิทธิเรียกร้องของคู่สัญญาที่เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ผู้จะขายทุกรายมาด้วยและเมื่อพิจารณาประกอบกันทั้งสองสัญญาแล้วถือว่า สัญญาที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าทุกรายรวมทั้งโจทก์ จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือว่าจะถือประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รวมทั้งจำเลยที่ 1 คู่สัญญาเดิมร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 374 วรรคสอง
ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์นั้น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 3 ผู้เดียวเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งโครงการมาจากจำเลยที่ 1 แล้ว และเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดพิพาทเพียงผู้เดียว สภาพแห่งหนี้จึงเปิดช่องให้เฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้น ที่มีหน้าที่ต้องทำนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้โจทก์
of 2