คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พนักงานรัฐวิสาหกิจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษทางวินัยพนักงานรัฐวิสาหกิจ กรณีผ่านเข้าออกโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาต ศาลฎีกาตัดสินถูกต้องตามระเบียบ
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นพิพาทข้อ 2 ว่า มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 3 และที่ 9 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ มีข้อต้องวินิจฉัยตามข้ออ้างข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การประการหนึ่งว่า โจทก์ทั้งสองยังเป็นกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆในสำนวนแล้วฟังว่า โจทก์ทั้งสองยังไม่พ้นจากตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้ลงโทษโจทก์ทั้งสองไม่ชอบ เป็นเหตุให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่พิพาทกันได้ จึงเป็นการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทโดยตรงมิใช่วินิจฉัยนอกประเด็น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 7 บัญญัติวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการจดทะเบียน และวิธีการดำเนินกิจการสหภาพแรงงานไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากการจัดตั้งบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ แต่โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน จึงไม่มีบัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริการสหภาพแรงงานที่จะใช้แทนในผ่านได้การที่โจทก์ทั้งสองผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 ในระหว่างที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโดยไม่มีใบผ่านเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517 ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ เป็นความผิดวินัย คำสั่งของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ที่ลงโทษโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำสั่งที่ชอบไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน จำเลยที่ 7 และที่ 8 ลงโทษให้โจทก์ทั้งสองทำทัณฑ์บนเป็นเวลา6 เดือน และจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสองงดทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา1 ปี มิใช่เป็นการลงโทษภาคทัณฑ์ ตามบัญชีกำหนดอำนาจการลงโทษท้ายระเบียบว่าด้วยวินัยการร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ถูกจำกัดให้ใช้บังคับเฉพาะปีงบประมาณเดียวตามข้ออ้างของโจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานล่วงเวลาและไม่ต้องคืนค่าจ้างสำหรับวันที่โจทก์ทั้งสองถูกลงโทษพักงานด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจฟ้องคดีโดยไม่ต้องร้องทุกข์ก่อน: อำนาจฟ้องมีได้แม้เป็นฝ่ายบริหาร
ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ พ.ศ. 2534 มิได้มีบทบัญญัติใดบังคับว่าก่อนฟ้องคดีต่อศาลพนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ และอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสียก่อน บทบัญญัติมาตรา 11(3)และมาตรา 18(2) เป็นเพียงแต่กำหนดไว้ว่าคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงาน (หากมีการร้องทุกข์) และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของพนักงานที่อุทธรณ์ขึ้นมาเท่านั้น ดังนี้ แม้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจฟ้องคดีโดยไม่ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสียก่อน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์พนักงานรัฐวิสาหกิจ: การเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ และสิทธิลาพักผ่อน
พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 18(2) มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์นั้นได้ แต่หาได้มีความหมายว่า ถ้าโจทก์ทั้งหกไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์แล้ว โจทก์ทั้งหกจะนำคดีมาฟ้องศาลไม่ได้
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตราของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 วรรคสอง บัญญัติว่า"การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่รัฐวิสาหกิจให้ออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 ฯลฯ"ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษแก่กรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพาะเหตุขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ หรือเพราะเกษียณอายุแต่อย่างใด การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งหกออกจากงานเมื่อโจทก์ทั้งหกมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์หรือเกษียณอายุ จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตาม ข้อ 45 วรรคสอง ดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ทั้งหกไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งหกหยุดพักผ่อนประจำปีในวันเวลาใดตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 8 จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ทั้งหกไม่ใช้สิทธิลาดหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งหกจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 21
เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้องโดยมิได้อ้างเหตุผลความเห็นธรรมแก่คู่ความแต่ประการใด ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลาพนักงานรัฐวิสาหกิจ: ผลกระทบประกาศกระทรวงมหาดไทย และเหตุผลสมควรในการไม่จ่าย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับได้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2534 ซึ่งข้อ 3 กำหนดให้ข้อพิพาทหรือคดีของโจทก์ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดให้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จนกว่าข้อพิพาทหรือคดีจะถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทหรือคดีของโจทก์ได้เกิดขึ้นก่อนและยังไม่ถึงที่สุดก่อนใช้ประกาศฉบับดังกล่าวข้างต้นจึงนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534มาใช้บังคับไม่ได้ จำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ซึ่งเป็นการกระทำตามระเบียบโดยมีเหตุผลอันสมควร จึงไม่เป็นการกระทำโดยจงใจผิดนัดและไม่มีเหตุสมควร โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2535 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงานในการสั่งคืนงานกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ หากเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างไม่จำต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534อีก แม้โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็มีอำนาจฟ้องนายจ้างในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงาน-รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณา แม้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ
โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้อยู่แล้วหากเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง หาจำเป็นต้องอาศัยบทบัญญัติพ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อีกไม่ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯแม้โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ โจทก์ก็ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ แต่ประการใดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พนักงานรัฐวิสาหกิจฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อศาลแรงงานได้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนใน พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
พนักงานรัฐวิสาหกิจมีอำนาจฟ้องรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงานในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534เสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเกษียณอายุ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
การที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 บัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนด คุณสมบัติทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว เมื่อจำเลยให้โจทก์ พ้น จากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุ อันเป็นการให้ออกจากงานโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามข้อ 47 จึงเป็นการเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการออกจากงานตามกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ แต่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ ถึงลักษณะงานว่าได้จ้างโจทก์เป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ อันจะถือเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ แม้ศาลวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของพนักงานรัฐวิสาหกิจฐานยักยอกเงิน ยอมรับสารภาพเป็นหลักฐานสำคัญ
จำเลยเป็นหัวหน้าแผนกการเงินของธนาคาร มีหน้าที่เก็บรักษาเงินเมื่อถูกตรวจสอบพบว่าเงินหายก็ยอมรับว่าเป็นผู้ยักยอกเงินที่เก็บรักษาไว้ไปในทันทีและโดยสมัครใจ ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะฟังได้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2533 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดวินัยร้ายแรงของพนักงานรัฐวิสาหกิจ การแถลงข่าวทำลายชื่อเสียงองค์กร และข้อยกเว้นความรับผิด
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 มาตรา 6 มีผู้ร้องเป็นผู้ว่าการ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตามมาตรา 26 มิใช่กรณีผู้ว่าการต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามมาตรา 27ผู้ว่าการจึงมีอำนาจแต่งทนายความเพื่อดำเนินคดีในนามผู้ร้องได้
ผู้คัดค้านมิได้ยกข้อที่ว่าการผลิตดาบน้ำพี้ เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสถาบันผู้ร้องหรือไม่ขึ้นมาเป็นประเด็นคัดค้านคำร้องของผู้ร้อง แม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยปัญหานี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางโดยชอบ ผู้คัดค้านจึงยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือองค์กร ที่ไม่มีกฎหมายรับรอง การดำเนินการขององค์กร ก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายในข้อที่จะต้องไม่กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้คัดค้านแถลงข่าวกล่าวหาว่าผู้ร้องหลอกลวงประชาชนโดยมิได้เป็นความจริงผู้คัดค้านไม่ว่าในฐานะใดก็จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น จะอ้างว่าได้กระทำในฐานะของสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ และไม่มีบทกฎหมายใดที่ผู้คัดค้านจะยกขึ้นอ้างให้พ้นผิดทั้งขณะแถลงข่าวผู้คัดค้านก็ยังมีฐานะเป็นพนักงานของผู้ร้องผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างได้ว่าผู้คัดค้านไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของผู้ร้อง
คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิสูจน์ดาบน้ำพี้ ที่ผู้ร้องผลิตเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
of 4