คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พยานหลักฐาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,589 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในข้อเท็จจริง คดีหมั้นหมาย ทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท และการโต้เถียงดุลพินิจพยานหลักฐาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกัน เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวให้ เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาเพียงข้อเดียวว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีราคารวมเป็นเงิน 162,500บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของขำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารประกอบการถามค้านพยานหลักฐานที่ไม่ต้องยื่นบัญชีพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และ 90
เอกสารที่จำเลยใช้ประกอบการถามค้านโจทก์ ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานโดยโจทก์เองก็เบิกความรับรองข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การผู้ต้องหาเยาวชนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรับฟังพยานหลักฐานในคดีลักทรัพย์
บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ภ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาด้วยกันที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักทรัพย์ของผู้เสียหายด้วย แต่ขณะสอบสวน ภ. อายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะสอบสวน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจร้องทุกข์ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และการพิสูจน์ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยพยานหลักฐาน
ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ค. มอบอำนาจช่วงให้ ท. มีอำนาจร้องทุกข์แทนมีข้อความว่า เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการแทน "ผู้มอบอำนาจ" ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นระหว่างผู้เสียหายกับ ค. แล้ว ก็ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า ผู้เสียหายเป็น "ผู้มอบอำนาจ" และ ค. เป็น "ผู้รับมอบอำนาจ" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่ จึงต้องพิจารณาทั้งหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงประกอบกันมิใช่พิจารณาเฉพาะหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับเดียว เมื่อ ท. แจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย มิใช่ร้องทุกข์แทน ค. เป็นการส่วนตัว การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ของผู้เสียหายจึงชอบด้วยกฎมหาย และถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยการกระทำซ้ำงานเพลงลงเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลย แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดมามิใช่ของจำเลยที่ขายไป โจทก์ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่กล่าวหามาเป็นของกลาง พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2515/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน - การฟ้องขับไล่ - ไม่ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง - พยานหลักฐาน
การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์เพราะจำเลยเป็นบุตรเขยของโจทก์ ต่อมาจำเลยหย่าขาดกับบุตรีของโจทก์ โจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องบอกกล่าวผู้ไม่มีสิทธิดังกล่าวก่อนฟ้องคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. – การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อเนื่อง 90 วัน – พยานหลักฐานไม่สอดคล้อง
ผู้ร้องแถลงว่าได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2548 หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าอนุมัติให้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหมายเลขสมาชิก 011400 และขึ้นทะเบียนสมาชิกพรรคไว้แล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 นั้น หากเป็นความจริงดังที่ผู้ร้องอ้าง หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าก็น่าจะระบุชื่อผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าคนหนึ่งในจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้นในรอบปี 2548 ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 เนื่องจากได้ขึ้นทะเบียนผู้ร้องเป็นสมาชิกไว้แล้ว และทะเบียนสมาชิกพรรคดังกล่าวเป็นหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองที่จะต้องจัดทำให้ตรงตามความเป็นจริงและเก็บรักษาไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง และพร้อมที่จะให้นายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตรวจสอบได้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ส่วนที่อ้างว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ได้ระบุชื่อผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นในรอบปี 2548 เนื่องจากใบสมัครสมาชิกพรรคบางส่วนซึ่งมีใบสมัครสมาชิกพรรคของผู้ร้องอยู่ด้วยหาไม่พบระยะหนึ่งเนื่องจากมีการย้ายที่ทำการพรรคนั้น เป็นคำแถลงที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล เพราะหากมีการขึ้นทะเบียนผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ตามที่อ้างจริง แม้จะหาใบสมัครสมาชิกพรรคไม่พบก็น่าจะแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นในรอบปี 2548 โดยอาศัยทะเบียนสมาชิกพรรคได้ ข้ออ้างและพยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีพิรุธไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้านับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 107 (4)
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย: พฤติการณ์เลี้ยงดู การตรวจ DNA และพยานหลักฐานสนับสนุน
ผู้ร้องเกิดเมื่อกลางปี 2516 นับถึงวันยื่นคำร้องเป็นเวลาเกือบ 30 ปี เหตุการณ์ในช่วงเวลาจัดพิธีสมรสและการตั้งครรภ์ไม่มีหลักฐานปรากฏวันเดือนปีที่แน่นอนเป็นเรื่องคาดคะเนเอาโดยประมาณจึงอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้บ้าง ทั้งร้องขอแก้ไขคำร้องขอโดยอ้างเหตุพิมพ์ข้อความผิดพลาดเล็กน้อยเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยทั้งมีเหตุผลสมควร ผู้ร้องมีสิทธิขอแก้ไขคำร้องได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องขอชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 180 ตอนท้ายแล้ว
เดิมผู้คัดค้านมิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ในคำคัดค้านเพิ่งมายื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อผู้ร้องอายุ 28 ปี เป็นการฟ้องคดีเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่บรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม หลังจากมีการสืบพยานผู้ร้องเสร็จไปบางส่วนแล้ว อ้างเหตุผลว่าเป็นทนายความคนใหม่ของผู้คัดค้านเพิ่งได้รับการแต่งตั้งและตรวจสำนวนพบคำคัดค้านยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ จึงเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านหลังจากพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดคือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เหตุที่อ้างก็ไม่ใช่เหตุผลอันสมควรตามกฎหมายและการขอแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นเรื่องกำหนดเวลาฟ้องคดีตามาตรา 1556 วรรคสามเป็นอายุความฟ้องคดีซึ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่การแก้ข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แล้ว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความให้ศาลจำต้องวินิจฉัยและเป็นข้อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของ ป. ป. แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาผู้ร้อง มิได้แสดงออกต่อญาติข้างบิดาหรือเพื่อนบ้านแถวบ้านพักของ ป. ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันว่าผู้ร้องเป็นบุตร ก็ถือได้ว่าพฤติกรรมที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดเวลาว่าผู้ร้องเป็นบุตร ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 (7) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับพยานหลักฐานและการบังคับใช้สัญญาค้ำประกันในคดีแรงงาน
แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างเอกสารรายงานการเก็บเงินจากต่างจังหวัดเป็นพยาน แต่โจทก์นำเอกสารดังกล่าวเข้าสืบประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ และศาลแรงงานกลางยอมให้โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าวและรับไว้เป็นพยาน ถือเป็นพยานที่ศาลแรงงานกลางเรียกมาสืบเพื่อความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง
เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จะนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน แก้ไขข้อความในเอกสารนั้นไม่ได้ แต่สำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงิน มิใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำพยานบุคคลมานำสืบแก้ไข เพิ่มเติมข้อความในเอกสาร และการที่โจทก์เบิกความรับว่าสำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินไม่มีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้า แม้จะเบิกความว่าตามปกติต้องมีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าอยู่ในสำเนา ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าในเอกสาร จึงมิใช่การนำสืบแก้ไข เพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ไม่เป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)
สัญญาค้ำประกันระบุข้อความว่า "ผู้ค้ำประกันขอทำสัญญาฉบับนี้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการค้ำประกันในความเสียหาย หรือความผิดใดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายหรือต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคล นิติบุคคลอื่น ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต" แม้ช่องว่างที่เว้นไว้หลังข้อความว่า ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ จะไม่ได้เขียนข้อความว่า โจทก์ แต่เมื่ออ่านข้อความตอนต้นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เพื่อความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมหมายความได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ชำระค่าเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คนอนาถา: ศาลไม่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติม หากเหตุผลการอุทธรณ์เดิมยุติแล้ว
ป.วิ.พ. มาตรา 155 ให้สิทธิแก่คู่ความที่จะขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ หากคดีมีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์และตนเองเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียม จำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยวินิจฉัยว่า จำเลยมิใช่ผู้ยากจนและคดีไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้พิจารณาคำขอใหม่ตามมาตรา 156 วรรคสี่ เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจน แม้หากศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและฟังว่าจำเลยเป็นคนยากจน ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของจำเลยเพราะปัญหาที่ว่าคดีของจำเลยมีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์หรือไม่ได้ยุติไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะพิจารณาคำขอของจำเลยใหม่
จำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยมิใช่คนยากจนและคดีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ ถือได้ว่ามีการแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ประกอบมาตรา 155 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8568/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน: การอุทธรณ์ต้องห้าม & การพิจารณาพยานหลักฐานทางการแพทย์
โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 และมีหนังสือยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เป็นผู้รับเงินทดแทนแทนโจทก์ การที่จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาปฏิเสธการจ่ายเงิน ส. ผู้ทำการแทนนายจ้างอุทธรณ์คำสั่ง ดังนี้ แม้จำเลยจะได้แจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไปยังผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 และในวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 แต่เมื่อหนังสือยินยอมที่โจทก์มีถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์เพียงแต่ยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภารับเงินทดแทนได้โดยตรงจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อความใด ๆ ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภามีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน การแจ้งของจำเลยทั้งสองครั้งจึงไม่มีผลต่อโจทก์ การนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53
โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์อ้างว่าปวดบริเวณเอวเป็นอย่างมากและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยมีเหตุเนื่องมาจากโจทก์ทำหน้าที่ตรวจสอบและวัดขนาดคุรุภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายคุรุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากให้แก่นายจ้าง ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตราย มิใช่ขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเจ็บป่วย จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 14 ที่การเจ็บป่วยของลูกจ้างที่สามารถรับเงินทดแทนได้จะต้องเกิดจากโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน
การที่ศาลแรงงานกลางชั่งน้ำหนักระหว่างคำเบิกความของ ป. ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อผู้ตรวจรักษาโจทก์กับคำเบิกความของ ธ. ซึ่งเป็นอนุกรรมการการแพทย์คนหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งแล้ววินิจฉัยว่า คำเบิกความของ ป. น่าจะรับฟังมากกว่าและเชื่อตามคำเบิกความดังกล่าวว่าโจทก์ประสบอันตรายจากการทำงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยจึงมุ่งประสงค์ให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ประสบอันตรายจากการทำงานนั่นเอง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 259