คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ละเมิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,780 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4917-4918/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดขอบเขตฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด, ทายาทรับผิดชอบเฉพาะส่วนที่ฟ้องขอ, และการประเมินความประมาทของผู้ขับขี่
การที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเป็นผู้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อแต่เพียงผู้เดียว เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นที่ฟังว่า ย. ลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย อุทธรณ์ของจำเลยร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในสำนวนที่ 2 มีเพียงคนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ และสมควรแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ถูกต้อง เหตุที่รถยนต์บรรทุกที่ ย. ขับเสียหลักแล่นไปชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 เป็นเพราะผู้ตายขับรถยนต์เก๋งแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถเข้าไปชนรถยนต์บรรทุกก่อน ดังนั้น ย. จึงไม่ได้ขับรถประมาท เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดความประมาทเลินเล่อของผู้ตายฝ่ายเดียว มิใช่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่ ย. ขับรถด้วยความเร็วสูง หรือขับรถยนต์บรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด
โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรก และโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 ที่เป็นโจทก์ในสำนวนที่สองบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งรับผิดในฐานะเป็นตัวการรับผิดร่วมกับผู้ตายซึ่งเป็นบุตรและเป็นตัวแทนขับรถไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายที่กระทำละเมิด แม้โจทก์ที่ 1 จะแก้ไขคำฟ้องโดยระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่าในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของ อ. แต่ในคำฟ้องก็มิได้ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะทายาทด้วย การที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. ผู้ตาย จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวมาในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4880-4881/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า การโอนสิทธิ และการละเมิดเครื่องหมายการค้า
จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้มีการดำเนินการจดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์ที่ 1 ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนจำน่ายผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของโจทก์ที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องว่ากล่าวเอาจากอีกฝ่ายหนึ่งต่อไปฐานะที่เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงนั้น ไม่มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงเรื่องการเข้าร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเสียไป
โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของตนเองทั้งหมด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฟังว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ร่วมกันเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาท ย่อมพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) และไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะโอนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายชุด จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องโอนเครื่องหมายการค้าส่วนที่เหลือด้วย ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3647/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาชดใช้ค่าเสียหายจากละเมิด: ศาลอุทธรณ์ตีความตามเจตนาสุจริตและปกติประเพณีได้
แม้จำเลยที่ 3 มิใช่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกการตกลงค่าเสียหายว่าจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 3 สมัครใจเข้าทำสัญญากับโจทก์รับที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์จากการถูกผู้อื่นกระทำละเมิด เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิดตามสัญญา ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบในสำนวนความมาวินิจฉัยโดยตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตของคู่กรณีและโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 368 จึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: ผู้รับมอบอำนาจจัดเก็บค่าตอบแทน ไม่ใช่ผู้เสียหาย
โจทก์เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก ป. ให้จัดเก็บค่าตอบแทนการนำเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ผู้ที่ประสงค์จะนำเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. ออกเผยแพร่ต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์ก่อน การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยนำเอาเพลง "รักสาวผมแดง" อันเป็นงานดนตรีกรรมซึ่ง ป. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ออกให้ปรากฏซึ่งดนตรีและคำร้องที่หน้าจอเครื่องรับโทรทัศน์ภายในห้องคาราโอเกะในร้าน ป. กุ้งเผาของจำเลยเพื่อให้บริการอันเป็นการนำงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น จากการบรรยายฟ้องและหนังสือมอบอำนาจเห็นได้ชัดว่าโจทก์เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิในลิขสิทธิ์และดำเนินคดีแก่ผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลง "รักสาวผมแดง" หรือในงานโสตทัศนวัสดุ ที่บันทึกเสียงดนตรีและคำร้องเพลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ในนามตนเอง ทั้งการกระทำของจำเลยที่นำเพลงดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าหากำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้องเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3195/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีละเมิดลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ: สิทธิฟ้องคดีแพ่งก่อนการปรับโครงสร้าง
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2545 ส่วนศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 และตั้งผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 และต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 ดังนี้ เมื่อหนี้คดีนี้อันเกิดจากมูลละเมิดเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 และแผนพื้นฟูกิจการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/62 และไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินคืนจากสัญญาฝากทรัพย์: สัญญาฝากมีอายุความ 10 ปี ไม่ใช่ 1 ปีตามละเมิด
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดิน – สัญญาเช่า – การครอบครองปรปักษ์ – เอกสารปลอม – การละเมิด
แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาไปโดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวแต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ธ. เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ไม่อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคสอง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2548 ดังนั้น ขณะที่ ธ. ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ธ. ยังไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 โดยเห็นควรเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องตลอดจนกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ของ ธ. และมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าว
โจทก์มีสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มานำสืบประกอบ โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ตลอดมา แม้จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออก จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดของเจ้าหน้าที่: ขยายอายุความเมื่อศาลยกฟ้องเพราะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
คดีก่อนโจทก์ได้ฟ้องสิบเอก ช. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกองทัพบกจำเลยและศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด อายุความฟ้องร้องจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีก่อนจึงขยายออกไปถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด ตามมาตรา 7 วรรคสอง คือวันที่ 7 ตุลาคม 2544 การที่โจทก์ได้ฟ้องกองพลาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 เป็นจำเลยในคดีก่อนด้วย แต่ศาลยกฟ้องเพราะผู้ถูกฟ้องดังกล่าวไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มิใช่เหตุที่จะไม่ขยายอายุความฟ้องร้องจำเลยซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดี โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีละเมิดและการบังคับค้ำประกัน: เริ่มนับจากวันทำละเมิด ไม่ใช่แค่วันบอกกล่าวหนี้
อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ได้ยักยอกเงินของโจทก์ไป อันเป็นการรับผิดในมูลหนี้ละเมิด จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา 206 ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดตามมาตรา 686 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อผู้ค้ำประกันกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
สำนักงานตรวจสอบภายในของโจทก์ได้ตรวจสอบบัญชีของสำนักงานการไฟฟ้าของโจทก์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการทุจริตยักยอกเงินกระแสไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนจำนวนหนึ่งเมื่อปี 2541 ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายครึ่งหนึ่งโดยโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ดังนี้ เมื่อมีการยักยอกเงินค่ากระแสไฟฟ้าไปอันเป็นการกระทำละเมิดเมื่อปี 2541 ถือว่าผู้ที่ยักยอกเงินค่ากระแสไฟฟ้ารวมทั้งจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระค่าเสียหายนับแต่วันทำละเมิดคือปี 2541เป็นต้นไป อายุความที่จะฟ้องร้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้ค้ำประกันจึงเริ่มนับแต่เมื่อนั้น โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2545 ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 มิจำต้องบังคับจากผู้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดทุกคนก่อนตามที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 อ้าง โจทก์จึงฟ้องร้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระหนี้อันเกิดจากค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการประกอบกิจการโรงงานสร้างความเดือดร้อน – สิทธิในการเยียวยาและบังคับตามคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองประกอบกิจการโรงงานส่งเสียงดังและมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่อนามัยและเดือดร้อนรำคาญอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป โดยไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนตามมาตรา 1337 อีกด้วย แต่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยโรงงานอันเป็นทรัพย์สินของตนได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเดือนร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญระงับสิ้นลง การตั้งโรงงานของจำเลยแม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.โรงงานฯ แต่เป็นการกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น
of 278