คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลใช้ดุลพินิจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีมีทุนทรัพย์และคำขอหลายประเภท ศาลใช้ดุลพินิจขยายเวลาชำระได้
คำฟ้องของโจทก์นอกจากขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 อันเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทในราคาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์อีกด้วยคดีตามคำขอส่วนนี้อาจมีผลให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้ถือได้ว่าคำขอส่วนแรกเป็นคำขอหลัก คำขอส่วนหลังเป็นคำขอต่อเนื่อง แต่ก็มีผลเพียงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในการอุทธรณ์ฎีกาโดยไม่จำต้องพิจารณาถึงราคาทรัพย์สินพิพาทเท่านั้น ไม่มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิชำระค่าขึ้นศาลแบบคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
แม้การประทับตราในคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มที่กำหนดวันให้โจทก์มาทราบคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการกระทำโดยเจ้าพนักงานศาลมิใช่การกระทำของศาล แต่โจทก์ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ใต้ตราประทับเป็นการยืนยันต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์จะไปทราบคำสั่งในวันดังกล่าวเอง ทั้งตราประทับยังมีข้อความด้วยว่า ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องมีหมายแจ้งคำสั่งไปให้โจทก์ทราบอีก โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลเกินกำหนดดังกล่าว และในคำร้องมิได้ระบุถึงเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องภายในกำหนด จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยอันควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาหรือไม่
การอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรว่าจะอนุญาตกี่ครั้งหรือเป็นเวลานานเพียงใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าอนุญาตอีกเพียงครั้งเดียว จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลใช้ดุลพินิจลดค่าปรับตามสัญญาซื้อขายได้ แม้จำเลยยินยอมชำระ
ค่าปรับที่คู่กรณีกำหนดไว้ในสัญญาถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นความพอใจแก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาซึ่งต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา และแม้ว่าจำเลยจะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่ายินยอมชำระค่าปรับตามสัญญาก็ตาม หากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้
สำหรับราคาสิ่งของที่ซื้อขายกันเป็นเงิน 2,064,606 บาทโจทก์ใช้สิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาไว้เป็นเงิน103,231 บาทแล้ว โจทก์เพิ่งมาบอกเลิกสัญญาภายหลังเป็นเวลานานถึง 307 วัน รวมค่าปรับรายวันเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,267,667.47 บาท จึงนับว่าสูงเกินส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดค่าปรับลงนั้น นับว่าเหมาะสมแก่ความเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5657/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยคดี ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยประเด็นที่ไม่กระทบผลคดี แม้โจทก์อ้างเรื่องอำนาจฟ้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 มิได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมดเพราะหากศาลเห็นว่าประเด็นใดแม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยได้ อันเป็นอำนาจทั่วไปของศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1492/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: ข้อกำหนดชำระค่าเช่าค้างก่อนเลิกสัญญาเป็นเบี้ยปรับ ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดได้
ข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อที่ว่า ถ้าสัญญาต้องเลิกกันผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของ จนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นการกำหนดความรับผิดของผู้เช่าซื้อนอกเหนือไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 574 วรรคหนึ่ง ซึ่งมิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379 ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้เหมาะสมได้เองตามมาตรา 383 วรรคหนึ่งไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการวินิจฉัยปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชน, การแปรสภาพบริษัท, และผลของการเป็นบุคคลล้มละลายต่อการทำนิติกรรม
กรรมการเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงออกซึ่งความประสงค์ของบริษัทมีอำนาจหน้าที่กระทำการในนามของบริษัทภายในอำนาจของตน และถือว่าเป็นการกระทำของบริษัทเอง ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทหรือบริษัทเป็นผู้สั่งการให้ทำจึงไม่ถูกจำกัดอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801
บริษัทเอกชนที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดฯ ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดตามกฎหมาย ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงการจดทะเบียนแปรสภาพ และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องนำสืบในประเด็นหรือได้จากเอกสารพยานที่มีกฎหมายบังคับให้คู่ความที่กล่าวอ้างต้องแสดง เป็นต้น เมื่อไม่มีจำเลยคนใดให้การว่า ธ. เป็นบุคคลล้มละลาย แม้จำเลยบางคนจะเบิกความถึงเรื่องดังกล่าวก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็น ไม่อาจรับฟังเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางภาระจำยอมโดยอายุความและการกำหนดค่าทนายความเกินอัตรา
จำเลยที่ 1 กับ ย. เข้าหุ้นกันซื้อที่ดินแล้วนำมาจัดสรรขาย ในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวได้เว้นที่ดินพิพาทเป็นถนนซอยสำหรับให้ที่ดินที่อยู่ด้านหลังเป็นทางเข้าออก เพื่อให้เห็นว่าที่ดินที่อยู่ด้านหน้า 9 แปลง กับที่ดินที่อยู่ด้านหลัง 3 แปลง ไม่ติดต่อกันโดยมีที่ดินพิพาทของบุคคลอื่นคั่นอยู่ และให้ ย. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตจัดสรรที่ดินขายต่อทางราชการในที่ดินเกินกว่า 10 แปลงขึ้นไป การตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ย. จึงหาใช่เจตนาอันแท้จริงของบุคคลทั้งสอง แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเว้นที่ดินพิพาทไว้เพื่อเป็นทางเข้าสู่ถนนสาธารณะสำหรับที่ดินพิพาทที่อยู่ด้านหลังมาตั้งแต่แรก แม้ พ. ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพียงแต่ใช้รถยนต์ผ่านที่ดินพิพาทเข้าไป ก็ถือได้ว่าใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกแล้ว และนับแต่ พ. ซื้อที่ดินดังกล่าวถึงวันที่ขายให้แก่โจทก์เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้ พ. จะไม่ได้จดทะเบียนทรัพยสิทธิภาระจำยอมก็ตาม
ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าทนายความโจทก์เกินไปกว่าอัตราค่าทนายความขั้นสูงที่ตาราง 6 กำหนด และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมาโดยไม่แก้ไขเป็นการไม่ถูกต้อง แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาแก้ไขคำให้การ: ดุลพินิจและการนำสืบหลักฐาน
ป.วิ.พ.มาตรา 180 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การของตน หาได้เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยเสมอไป เมื่อศาลพิจารณาคำร้องโจทก์จำเลยแล้วเมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาคำร้องเป็นเรื่อง ๆ ไป
จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังการชี้สองสถานแม้จะอ้างเหตุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า"จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด" โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก็ต้องนำสืบถึงยอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยตามประเด็นดังกล่าว และจำเลยก็สามารถสืบหักล้างว่าดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยมีเพียงใด กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเลื่อนคดีซ้ำโดยไม่มีเหตุจำเป็น และการพิสูจน์ความเสียหายจากการไม่อนุญาตเลื่อนคดี
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีครั้งแรกไปแล้ว โจทก์จะมาขอเลื่อนคดีครั้งต่อไปอีกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และโจทก์จะต้องแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลด้วยว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ศาลจึงจะสั่งให้เลื่อนคดีไปได้ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่ในการขอเลื่อนคดีของโจทก์ครั้งที่ 2 นี้ อ้างว่าต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจของโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทนายความของโจทก์อีกคนหนึ่งนำไปขึ้นศาลต่างจังหวัดและไม่อาจกลับมาทัน จึงไม่อาจนำพยานเข้าสืบในวันนี้ได้ ทั้งที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องหมายเลข 2 ของโจทก์ และทนายโจทก์ก็ไม่ได้มาศาลเพื่อแถลงประกอบให้ศาลเห็นว่าเหตุที่อ้างนั้นเป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันทำร้ายร่างกาย ศาลลดโทษจำเลยที่ให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุม และพิจารณาจากพยานหลักฐานประกอบ
++ เรื่อง ความผิดต่อร่างกาย
++ คดีแดงที่ 3003-3004/2543
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 6 หน้า 116 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5
++
++ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างได้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้เก้าอี้และใช้ของแข็งตีทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณร่างกายทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างไรบ้าง เช่นนี้ เพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 213 ต้องเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีนี้จะพิพากษายกฟ้องจำเลยคนหนึ่งซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาเพียงผู้เดียว ใช้อำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกามิให้ต้องถูกรับโทษเช่นเดียวกับจำเลยผู้อุทธรณ์หรือฎีกา
แต่การที่ผู้ร่วมกระทำผิดถูกแยกฟ้องเป็นหลายคดี การที่พยานหลักฐานโจทก์เพียงพอจะรับฟังลงโทษจำเลยคนใดที่ร่วมกระทำผิดได้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละคนเป็นการเฉพาะตัวเป็นรายๆ ไปเฉพาะคดีนั้นๆ ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์อาจพาดพิงถึงจำเลยแต่ละคดีมากน้อยต่างกันได้ คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอก็ลงโทษไป คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเบาบางก็ต้องยกฟ้องตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบเป็นรายคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาวางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียม: ศาลมีอำนาจพิจารณาตามดุลพินิจ และต้องมีพฤติการณ์พิเศษ
ศาลมีคำสั่งอันถึงที่สุดให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงิน และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21(4) เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 253 วรรคสามได้ โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามคำสั่งศาลอีกหรือไม่
ทนายโจทก์อ้างในคำร้องขอขยายเวลาวางเงินว่า ตัวโจทก์อยู่ต่างประเทศ ทนายโจทก์ได้พยายามติดต่อตัวโจทก์ให้นำหลักประกันมาวางตามคำสั่งศาลหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายตัวโจทก์แจ้งว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป แต่โจทก์ยังไม่สามารถหาเงินมาวางศาลได้ ขอเวลารวบรวมและหาเงินประมาณ 2 เดือน เนื่องจากเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจทำให้ไม่อาจจัดหาเงินได้ ข้อเท็จจริงดังที่อ้างมานี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23
ศาลฎีกามีคำสั่งอันถึงที่สุดให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายและศาลชั้นต้นให้เวลามากพอที่โจทก์จะหาเงินมาวางประกัน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายเวลาวางเงินดังกล่าวออกไปอีก จึงชอบแล้ว
of 11