คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญากู้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 391 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยประเด็นหนี้และการคิดดอกเบี้ยในคดีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่
คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2)ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมาตรา 148(3) เป็นข้อยกเว้นในเรื่องฟ้องซ้ำกรณีเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นแห่งคดีตามมาตรา 131(2) ได้ โดยคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่นั้นมีประเด็นเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเพียงว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงใด หาได้มีประเด็นว่าต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีเพียงใดไม่ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้อ้างส่งรายการบัญชีกระแสรายวันในวันที่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงทำให้ไม่ทราบว่าวันดังกล่าวจำเลยมีหนี้ต้นเงินค้างชำระอยู่เพียงใด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นั้น ก็เพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ได้ ซึ่งย่อมเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหาได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2740/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีจำนองที่มีต่อคดีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และการบังคับชำระหนี้
ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ถูกโจทก์ในคดีดังกล่าวยึดไว้ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่น เพราะจำเลยจดทะเบียนจำนองประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคดีนี้ในวงเงิน 7,000,000 บาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2529 ให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญในต้นเงินไม่เกิน 7,000,000 บาท เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคดีนี้ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2529
การที่โจทก์ยื่นคำร้องในคดีก่อนขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญหากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด จะนำวงเงินดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนหนี้ทั้งหมดแล้วพิพากษาในคดีนี้ให้ในส่วนที่คงเหลือไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2686/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งต้องเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม หากเป็นเรื่องชำระหนี้ครั้งก่อน ศาลไม่รับพิจารณา
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 6 และ 21 พฤศจิกายน 2541 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์80,000 บาท และ 104,000 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเคยกู้เงินจากโจทก์ไปสองครั้งครั้งแรกประมาณก่อนเดือนกรกฎาคม 2540 จำนวน 50,000 บาท ซึ่งจำเลยสำคัญผิดชำระคืนเกินไปกว่าที่กู้ 25,000 บาท อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 จำนวน 80,000 บาทซึ่งจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง และทวงถามถึงเงินกู้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวจำเลยสำคัญผิดว่ายังชำระให้ไม่ครบจึงชำระเงินไปอีกหลายครั้งรวมเป็นเงิน 24,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินจำเลยชำระเกินไป 25,000 บาท และ 24,000 บาท แก่จำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับเงินทั้งสองจำนวนเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ครั้งอื่นไม่เกี่ยวกับสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องจึงถือว่าเป็นฟ้องแย้งในเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9716/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การหลังสืบพยานต้องมีเหตุสมควร การไม่ได้รับเงินหรือการขาดความยินยอมไม่ทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ
ข้อเท็จจริงที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การว่าจำเลยยังไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้ดังกล่าวกับสัญญาจำนอง ทำขึ้นโดยปราศจากความยินยอมของภริยาจำเลยมิใช่ข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง
การไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้คงมีผลตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 650 ว่าสัญญาดังกล่าวไม่สมบูรณ์ และการทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คงมีผลตามมาตรา 1480 ว่า นิติกรรมสัญญาดังกล่าวไม่สมบูรณ์ อันอาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้เท่านั้น แต่หาได้ตกเป็นโมฆะจนถึงกับโจทก์ผู้ให้กู้ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ ส่วนเรื่องการบอกเลิกสัญญาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะไปดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับจำเลย การขอแก้ไขคำให้การในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจำเลยจะมีสิทธิขอแก้ไขคำให้การหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยืนยันลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน: ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยซ้ำหากศาลชั้นต้น-อุทธรณ์วินิจฉัยครบถ้วน
ปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธและไม่แน่ชัดรับฟังไม่ได้ว่า จ. ลงชื่อในสัญญากู้นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9ได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จ. ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าเป็นลายมือชื่อของ จ. จึงฟังได้ว่า จ. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและลงชื่อในช่องผู้กู้ ดังนั้นปัญหาตามฎีกาของจำเลย จึงเป็นปัญหาอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องรวมหนี้จากสัญญากู้เบิกเกินบัญชี แม้ภาระชำระหนี้ต่างกัน โจทก์ฟ้องรวมจำเลยได้
จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดเพียงบัญชีเดียว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกมีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี 2,000,000 บาท ฉบับที่สองมีวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 7,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สอง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าฝากและออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 2 ฉบับ จากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวซึ่งมีบัญชีเดียวตลอดมาโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกหรือฉบับที่สอง แต่ในที่สุดเป็นหนี้จำนวน 12,361,110.64 บาท ดังนี้เมื่อหนี้จำนวน12,361,110.64 บาท ตามฟ้อง จำเลยใช้เบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันซึ่งเป็นบัญชีเดินสะพัดบัญชีเดียวกัน จึงไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฉบับแรกเท่าใดและตามฉบับที่สองเท่าใด จึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมีภาระในการชำระหนี้ไม่เท่ากัน โจทก์ก็สามารถรวมฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มาในคดีเดียวกันได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนใดชำระหนี้เท่าใด หรือใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนกันอย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ชอบที่ศาลจะรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7945/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาเงินกู้: การคิดดอกเบี้ยหลังเลิกสัญญา, ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมและผู้ค้ำประกัน
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็น ซึ่งจำเลยทั้งสี่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้จึงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจนและไม่ต้องห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งโจทก์เป็นสถาบันการเงินได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีที่พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ และตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดแล้ว ก็ต้องผูกพันตามนั้น
แม้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่ากำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ และสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญา หรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันระบุว่าจำเลยที่ 1 ใช้เช็คถอนเงินสดครั้งสุดท้ายวันที่ 6 มีนาคม 2535 จำนวน850,000 บาท แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย คงมีแต่หักทอนบัญชีคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระในแต่ละเดือน โดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31มีนาคม 2535 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สูงกว่าวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีมาก ทั้งตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันก็ระบุว่า ห้ามผ่านเช็ค ซึ่งแสดงว่าโจทก์ระงับการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่าย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือน สัญญาจึงเลิกกันในวันที่ 31 มีนาคม 2535

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7720/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สัญญากู้เป็นหลักฐาน แม้ยังมิได้ปิดอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญา แต่ภายหลังได้ปิดและขีดฆ่าถูกต้องแล้ว ศาลรับฟังได้
ป. รัษฎากร มาตรา 118 หาได้บังคับให้ปิดหรือขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ แม้ในขณะที่โจทก์อ้างส่งสัญญากู้เอกสารหมาย จ. 1 ต่อศาลจะยังมิได้ปิดอากรแสตมป์ แต่ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โจทก์ได้ขออนุญาตศาลปิดอากรแสตมป์ในตราสารนั้นเองเป็นเงิน 285 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่ต้องปิดตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 5 ท้าย ป. รัษฎากร พร้อมทั้งขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว จึงต้องถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ครบถ้วนตามกฎหมาย ศาลย่อมรับฟังหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ. 1 เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ไม่จำต้องเสียเงินเพิ่มก่อนดังจำเลยอ้าง เพราะตามมาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114" ฉะนั้น การที่จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรโดยชำระเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 116 จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงินที่ไม่สมบูรณ์และผลกระทบต่อการบังคับชำระหนี้
โจทก์กลัวว่าจำเลยจะไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารจึงให้จำเลยทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ยึดถือไว้โดยไม่มีเจตนาที่จะกู้ยืมเงินกันจริง สัญญากู้ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 154 จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแก่โจทก์
เมื่อจำเลยอ้างถึงสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาสัญญาจำนอง สำเนาสัญญาค้ำประกัน และสำเนาสัญญากู้เงินถามค้านพยานโจทก์ โจทก์ก็มิได้คัดค้านสำเนาเอกสารนั้น ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของจำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 93 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงินที่ทำขึ้นเพื่อประกันหนี้เดิม ย่อมตกเป็นโมฆะ หากไม่มีเจตนาที่จะกู้ยืมเงินกันจริง
โจทก์กลัวว่าจำเลยจะไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารจึงให้จำเลยทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ยึดถือไว้โดยไม่มีเจตนาที่จะกู้ยืมเงินกันจริง สัญญากู้ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแก่โจทก์
เมื่อจำเลยอ้างถึงสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาสัญญาจำนอง สำเนาสัญญาค้ำประกัน และสำเนาสัญญากู้เงินถามค้านพยานโจทก์ โจทก์ก็มิได้คัดค้านสำเนาเอกสารนั้น ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(1)
of 40