คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาทรัสต์รีซีท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญาทรัสต์รีซีท & อายุความเช็ค: ศาลตัดสินตามข้อตกลง/กฎหมายเช็ค แม้มีบัญชีกระแสรายวัน
ลูกหนี้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารเจ้าหนี้ ซื้อของจากต่างประเทศ ผู้ขายส่งของเข้ามายังธนาคารเจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระราคาจึงทำสัญญาทรัสตร์รีซีทรับของไปขายก่อน จะนำเงินมาชำระภายหลังลูกหนี้สลักหลังเช็คที่ลูกหนี้เป็นผู้ทรงขายลดแก่ธนาคารเจ้าหนี้ ดังนี้ หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยไว้จึงเรียกได้ร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีตั้งแต่วันผิดนัด ไม่มีประเพณีหรือบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ฯให้เรียกได้มากกว่านั้นธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินตามเช็คเมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินไม่ได้เป็นการฟ้องตามเช็คอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1002 แม้ลูกหนี้มีบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารก็ไม่ใช่บัญชีเดินสะพัดที่จะใช้อายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาทรัสต์รีซีท: อัตราดอกเบี้ย, การชำระหนี้, และการบังคับคดี
ตามสัญญาค้ำประกันหน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า "วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท" นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า "เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินต่อธนาคาร ม. ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท" ข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม" จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น หากธนาคาร ม. ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินวงเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน
ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ม. และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกันรวม 28 ฉบับ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย โดยการชำระหนี้ซึ่งหากชำระโดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินทุกรายได้หมดสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 2 ก็ดี หรือการบังคับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอาจากจำเลยที่ 2 ก็ดี จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีฉบับใด รวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์เพียงใดบ้างนั้นย่อมต้องบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้วแต่กรณี
จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่ธนาคาร ม. เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานตามวงเงินจำนองดังกล่าว ย่อมมีผลให้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นประกันการชำระหนี้ในต้นเงินตามจำนวนหนี้ประธานเป็นเงิน 25,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 25,00,000 บาท อีกต่างหาก โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้รวมถึงดอกเบี้ยด้วย
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้เรียกเก็บจากลูกค้าไว้ 4 อัตรา ส่วนในการเรียกดอกเบี้ยนั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนี้ ในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคาร ม. และโจทก์จะเรียกได้สูงสุดเพียงใดนั้น จะต้องแยกเป็นอัตราสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ กับอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวหากมีข้อสัญญาให้ธนาคาร ม. เรียกได้ก็จะเป็นข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายในการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามควรไว้ล่วงหน้า อันจะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383
ธนาคาร ม. มีเจตนาทำสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับกับจำเลยที่ 1 เพื่อคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อสัญญาการคิดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ด้วย และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
of 2