คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สาธารณชน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 67 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จนทำให้สาธารณชนสับสน
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIBELIUM""ไซบีเลี่ยม""สตูเจอร่อน""SIBELIUM"กับรูปม้าบนอักษร"J"และ"STUGERON"กับรูปม้าบนอักษร"J"โดยโจทก์ใช้กับสินค้ายารักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นที่แพร่หลายจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า"STUBELIUM"หลังโจทก์หลายปีโดยใช้กับสินค้ายาขยายหลอดเลือดและใช้ตัวยา"FLUNARIZINE"ตัวเดียวกับยาของโจทก์เครื่องหมายการค้าคำว่า"STUBELIUM"ของจำเลยเป็นการผสมของพยางค์"STU+BELIUM"คำดังกล่าวเป็นอักษรโรมัน9ตัวอักษร3ตัวแรกตรงกับอักษร3ตัวแรกของคำว่า"STUGERON"และอักษร6ตัวหลังตรงกับอักษร6ตัวหลังของคำว่า"SIBELIUM"ซึ่งล้วนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำดังกล่าวเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะไม่ใช่คำที่ใช้สามัญอักษรโรมันมี26ตัวหากจำเลยคิดประดิษฐ์เองโดยไม่ได้เห็นคำทั้งสองที่โจทก์ประดิษฐ์ใช้มาก่อนโอกาสที่จะตรงกันถึง9ตัวเรียงกันเช่นนั้นย่อมเป็นไปได้ยากการที่โจทก์นำสืบถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า"STUGERON"เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของจำเลยในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จะให้เหมือนหรือคล้ายกันเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIBELIUM"แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIUGERON"มาในฟ้องโจทก์ก็มีสิทธินำสืบและเป็นการนำสืบในประเด็นหาใช่นอกประเด็นไม่ กรณีพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนไม่ใช่วินิจฉัยแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองจะต้องเหมือนกันทุกอย่างแต่ต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นว่าเป็นลักษณะทำนองเดียวกันและเมื่อเทียบเคียงแล้วมีลักษณะแตกต่างกันบ้างจะชี้ขาดว่าไม่เหมือนกันไม่ได้ต้องเอามาเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะในเวลาใช้อยู่ตามปกติและความสุจริตประกอบกับประเภทสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ากับสภาพแห่งท้องตลาดการที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่แพร่หลายของโจทก์2เครื่องหมายมาตัดตอนหัวท้ายนำมาเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยและใช้กับสินค้ายารักษาโรคชนิดเดียวกันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ลงทุนโฆษณาตามวิสัยทางการค้าเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตการที่จำเลยลอกเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาติดต่อเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยย่อมทำให้สาธารณชนสับสนอาจเข้าใจได้ว่าเป็นของโจทก์ได้ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า"STUBELIUM"ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIBELIUM"ของโจทก์ถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2197/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: ความแตกต่างของภาพรวมสำคัญกว่าองค์ประกอบย่อยที่คล้ายคลึงกัน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้ปิดกับกระป๋องนม มีลักษณะประกอบกัน 3 ประการ คือแม่หมีอุ้มลูก อักษรโรมันคำว่า "BEAR BRAND" และอักษรไทยคำว่า "ตราหมี" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีลักษณะประกอบกัน 5 ประการ คือลูกหมี ขวดนม ถ้วย อักษรโรมันคำว่า "SIMILAC"และอักษรไทยคำว่า "ซิมิแลค" เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายที่มีลักษณะเดียวกันมีเพียงรูปหมี ลำพังแต่รูปหมีทั่ว ๆ ไป โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสงวนไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของตนแต่ผู้เดียว สำหรับรูปหมีของจำเลยที่ 1 เป็นรูปตุ๊กตาหมีตัวเดียว รูปขวดนมสูงใหญ่ และรูปถ้วยใหญ่ประกอบกับชื่อสินค้าเป็นอักษรโรมัน และอักษรไทยตัวใหญ่ แสดงว่าไม่ได้เน้นที่รูปตุ๊กตาหมีเป็นสาระสำคัญซึ่งแตกต่างกับรูปหมีของโจทก์เป็นรูปแม่หมีอุ้มลูกหมีประกอบกับชื่อสินค้าทั้งอักษร-โรมันและอักษรไทย เรียกตราหมี ส่วนที่เรียกทางการค้าซึ่งของโจทก์เรียกขานว่าตราหมีของจำเลยที่ 1 เรียกขานว่าซิมิแลค เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1จึงมีลักษณะไม่เหมือนหรือคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันจะทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2196/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนทำให้สาธารณชนสับสน และสิทธิในเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยในส่วนรูปวัวกระทิงมีลักษณะการประดิษฐ์เหมือนกัน กล่าวคือ เป็นภาพลายเส้นรูปวัวกระทิงหันตัวทางด้านข้าง ด้านหลังอยู่ลึกเข้าไป หันหน้ามาทางหน้า ยืนตัวตรง ยกขาซ้ายหน้าหางยาวผิดปกติโดยยกขึ้นเป็นอักษรรูปตัว "S" คงต่างกันเฉพาะเครื่องหมาย-การค้าของจำเลยเป็นรูปวัวกระทิงประดิษฐ์อยู่ในภายในรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าและมีอักษรไทยว่า "ตราวัวกระทิง" อยู่ใต้รูปวัวกระทิงเท่านั้น ส่วนเครื่องหมาย-การค้าของโจทก์ไม่มีรูปสามเหลี่ยมและอักษรไทยดังกล่าว หากพิจารณาเฉพาะแต่ส่วนประกอบก็จะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแตกต่างกันแต่เมื่อพิจารณารวมทั้งหมดจะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยคล้ายคลึงกันมากเพราะเป็นรูปวัวกระทิงประดิษฐ์มีส่วนต่าง ๆ ดังกล่าวเหมือนกันซึ่งสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายเป็นรูปวัวกระทิงอย่างเดียวกันดังนี้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดในเครื่องหมายการค้าได้
จำเลยจงใจใช้เครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงภายในรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าให้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยจำเลยเห็นว่าสินค้าของโจทก์ที่มีเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงประดิษฐ์เป็นที่นิยมแพร่หลาย เพื่อให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงประดิษฐ์มาก่อนจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงประดิษฐ์ดีกว่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2538 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนและการลวงขายสินค้าทำให้สาธารณชนสับสน
การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมาย-การค้าพิพาทที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 22 รถจักรยานสองล้อดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกและชนิดเดียวกัน และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะการลวง-ขายสินค้าของจำเลยทั้งสองให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์นั้น เป็นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41 (1)และมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ฟ้องเช่นนั้นได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์เพียงว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์ทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้ารถจักรยานสองล้อ รถจักรยานสามล้อ และอุปกรณ์รถจักรยานดังกล่าว โดยโจทก์ทั้งสองประกอบการค้าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้านั้นแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของหรือเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ที่ 2 ในเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมาย-การค้าพิพาทหรือเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ที่ 1จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474มาตรา 41 (1) และมาตรา 29 (2)
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 เป็นรูปจระเข้หันหน้าไปทางด้านขวาอยู่ภายในวงกลมกับมีอักษรโรมันคำว่า "THE CROCODILE"และ "TRADE MARK" อยู่ในรูปคล้ายห่วงติดกับวงกลมเหนือและใต้รูปจระเข้ตามลำดับ กับมีรูปอาร์ม 6 เหลี่ยม อยู่ใต้วงกลมโดยมีอักษรโรมันคำว่า"THE CROCODILE ENGLAND LTD" โดยมีหยดน้ำ 3 หยด ใต้ตัวอักษรโรมันดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปอาร์มนั้น ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นรูปจระเข้หันหน้าไปทางด้านซ้าย กับมีรูปดาว 5 ดวง อยู่ใต้รูปจระเข้ภายในวงกลม 2 ชั้น ระหว่างวงกลม 2 ชั้น ซี่งมีลักษณะเป็นวงแหวนนั้น มีอักษรโรมันคำว่า "THE CROCODILE" และ "FIVE STAR" อยู่เหนือรูปจระเข้และใต้รูปดาว 5 ดวง นั้น ตามลำดับ กับมีจุดอยู่ในวงแหวนตรงกึ่งกลางด้านซ้ายและด้านขวาด้านละ 1 จุด โดยมีรูปอาร์ม 6 เหลี่ยม อยู่ใต้วงกลมชั้นนอก ในรูปอาร์มดังกล่าวมีอักษรโรมันคำว่า "TRADE MARK" อยู่ใต้อักษรโรมันคำว่า"FIVE STAR" ซึ่งอยู่ในวงแหวนดังกล่าว และมีหยดน้ำ 3 หยด อยู่ด้านล่างซึ่งเครื่องหมายการค้าทั้งสองรูปมีลักษณะคล้ายกันมาก โดยมีจุดเด่นเป็นรูปจระเข้อยู่ภายในวงกลมและมีรูปอาร์ม 6 เหลี่ยม ใต้วงกลมนั้น มีตัวอักษรโรมันคำว่า "THE CROCODILE" อยู่ในวงกลมด้านบน และมีตัวอักษรโรมันกับหยดน้ำ 3 หยด อยู่ในรูปอาร์มนั้น ซึ่งแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2และของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง อาทิเช่น เครื่องหมาย-การค้าของโจทก์ที่ 2 มีวงกลมชั้นเดียว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1มีวงกลม 2 ชั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีอักษรโรมันคำว่า"TRADE MARK" อยู่ด้านล่างของวงกลม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1มีอักษรโรมันคำว่า "FIVE STAR" อยู่ด้านล่างของวงกลม โดยมีรูปดาว 5 ดวงอยู่ใต้รูปจระเข้ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีอักษรโรมันคำว่า"THE CROCODILE ENGLAND LTD" อยู่ในรูปอาร์ม 6 เหลี่ยม ส่วนเครื่องหมาย-การค้าของจำเลยที่ 1 มีอักษรโรมันคำว่า "TRADE MARK" อยู่ในรูปอาร์ม6 เหลี่ยม ก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย หากไม่พิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็ยากที่ประชาชนทั่วไปจะแยกแยะข้อแตกต่างเช่นนั้นได้ ประชาชนผู้ซื้อย่อมเรียกขานสินค้าของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 เหมือนกันว่า รถจักรยานตราจระเข้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ที่ 2 ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลยที่ 1โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 และมีสิทธิขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้นั้นได้ตามมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท
เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราจระเข้ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน และเครื่องหมายการค้าตราจระเข้ที่จำเลยที่ 1ได้รับการจดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่ 1 และโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ลวง-ขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคสองอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อพิพาท การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมาย-การค้าของจำเลยที่ 1 กับสินค้ารถจักรยานสองล้อซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิด เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบและมีเจตนาเพื่อลวงขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 ย่อมได้รับความเสียหายทำให้โจทก์ที่ 2 จำหน่ายสินค้ารถจักรยานสองล้อของโจทก์ที่ 2 ได้น้อยลงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 แล้ว ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6510/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นจนทำให้สาธารณชนสับสนถือเป็นการละเมิด
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวเลข "1" ประดิษฐ์ตัวหนาทึบอยู่ในพื้นสีขาว เขียวและเขียวเข้มลักษณะเป็นแฉกเหนือตัวเลข 1 เป็นภาษาจีน ถัดลงมาเป็นภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า "ทั้ง ซังฮะ" และมีคำว่า "น้ำปลาผสม" ส่วนด้านใต้ตัวเลข 1 ระบุแหล่งผู้ผลิตคือ ผลิตโดยบริษัทไพโรจน์(ทั่งซังฮะ) จำกัด ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวเลข "1" ประดิษฐ์เป็นลายไทย เหนือตัวเลข 1เป็นภาษาไทยอ่านว่า "น้ำปลาผสมตราเลขหนึ่ง" ถัดลงมาเป็นภาษาจีน ภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า "ตั้ง ซังฮะ" และมีคำว่า"แบ่งบรรจุโดยร้านมิตรไพโรจน์"ลักษณะเด่น ของเครื่องหมายการค้าทั้งสองอยู่ที่ตัวเลข "1" ซึ่งอยู่ในพื้นสีขาวเขียวอ่อน และเขียวเข้มซึ่งเป็นแฉก เหมือนกัน อยู่ในฉลากขนาดเดียวกัน ด้านบนของตัวเลข 1 คำว่า "ตั้ง ซังฮะ" กับ"ทั้ง ซังฮะ" มีจำนวน 3 คำเท่ากัน และมีคำซ้ำกันถึง 2 คำคือ "ซัง"กับ"ฮะ" ส่วนคำที่ไม่ซ้ำกันคือคำว่า "ทั้ง" กับ"ตั้ง" ก็อ่านออกเสียงใกล้เคียงกัน ส่วนแหล่งผู้ผลิตซึ่งอยู่ด้านล่างของตัวเลข "1" มีคำว่า "ไพโรจน์" อย่างเดียวกันการจัดวางรูปเครื่องหมายการค้าเลข "1" ตลอดจนส่วนประกอบอื่น ๆคล้ายคลึงกัน และใช้กับสินค้าน้ำปลาอย่างเดียวกันเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ใช้มาก่อนและจดทะเบียนไว้จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6441/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน ถือเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีจุดเด่นอยู่ที่คำว่า Angelfaceซึ่งอ่านได้เป็น 3 พยางค์ เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า AllaPuff ซึ่งอ่านได้เป็น 3 พยางค์เช่นกันส่วนคำว่า POND'S ของโจทก์กับคำว่า DUBARRY ของจำเลยเป็นตัวอักษรขนาดเล็กกว่าคำทั้งสองดังกล่าวและไม่เป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง อักษรโรมัน A ตัวแรกในคำว่าAlla ของจำเลยมีลักษณะการเขียนเหมือนกับอักษรโรมันA ตัวแรกของคำว่า Angel ของโจทก์ และอักษรโรมันตัว P ในคำว่าPuff ของจำเลยก็คล้ายอักษรโรมันตัว F ในคำว่า Face ของโจทก์ลักษณะการเขียนของตัวอักษรคำว่า AllaPuff และคำว่า AngelFaceก็คล้ายคลึงโดยลากเส้นตรงของตัวอักษร P และ F ยาวลงมาด้านล่างเหมือนกันและตัวอักษรมีขนาดเท่ากัน การวางตำแหน่งคำว่า DUBARRY เหนือคำว่า AllaPuff ก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกับคำว่า POND's ซึ่งอยู่เหนือคำว่า AngelFaceนอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยยังใช้กับสินค้าชนิดเดียวกัน ตลับแป้งของจำเลยมีขนาดเท่ากับตลับแป้งของโจทก์รูปร่าง ลักษณะของตัวตลับแป้ง และฝาก็เหมือนกัน สีของตลับแป้งของจำเลยก็มีสีแดงเช่นเดียวกับตลับแป้งของโจทก์ ตัวอักษรโรมันที่ตลับแป้งก็ใช้สีทองเช่นเดียวกัน ผู้บริโภคหากมิได้สังเกตย่อมเกิดความสับสนและซื้อสินค้าผิดจากความประสงค์ได้ ดังนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า: กรณีเครื่องหมายการค้าคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนสับสน
โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena โดยโจทก์จะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์จะเคยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCarrena กับสินค้าของตนมาก่อนจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena พร้อมลวดลายประดิษฐ์ของจำเลยได้
เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Canon Mattress ในลักษณะที่มีลวดลายประดิษฐ์ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCannon-mattess พร้อมลวดลายประดิษฐ์และรูปเด็กนอนตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าอักษรโรมันคำว่าCanon-mattess เหมือนกับอักษรโรมันคำว่า Canon Mattress ของโจทก์แทบทุกตัวอักษร มีส่วนแตกต่างกันเฉพาะคำว่า mattess ของจำเลยกับคำว่าMattress ของโจทก์ เพราะของโจทก์มีอักษรโรมันตัว r อยู่ระหว่างตัว t กับตัว e ส่วนของจำเลยนั้นไม่มีตัว r อยู่เลยและตัวอักษร M ของโจทก์เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ส่วนตัวอักษร m ของจำเลยเป็นตัวพิมพ์เล็กเท่านั้น ส่วนประกอบอื่น ๆ เช่นลวดลายประดิษฐ์ก็คล้ายคลึงกัน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปเด็กนอนอยู่เหนือคำว่า Canon-mattess และมีคำอ่านว่า คานอนแมทเทส แต่จุดเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็คืออักษรโรมันคำว่า Canon-mattessซึ่งคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ฉะนั้น หากไม่นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมาวางเปรียบเทียบกันดูทุกตัวอักษรแล้ว ประชาชนผู้ซื้อสินค้าก็ยากที่แยกแยะได้ว่าเครื่องหมายการค้ากับสินค้าใดเป็นของโจทก์และเครื่องหมายการค้ากับสินค้าใดเป็นของจำเลย ฉะนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่าCanon-mattess ของจำเลยจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและในเครื่องหมาย-การค้าจดทะเบียนของจำเลยดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิฟ้องให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474มาตรา 41 (1) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4585/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าเหมือน/คล้ายกันจนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด: สิทธิในเครื่องหมายการค้าลำดับก่อนมีน้ำหนักกว่า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรญี่ปุ่นและอักษรจีนอ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่นได้สองแบบว่า "อายิโนะโมะโต๊ะ" หรือ "อายิโนะมิโซะ"อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "บีจือซู" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรจีน อักษรไทย และอักษรโรมันว่า"บีซู" ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรจีนเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนกับอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า "ปี" กับ "อายิ" และมีคำแปลเหมือนกันว่า "รส" และอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือคำว่า "ซู" กับ คำว่า "โมะโต๊ะ"และมีคำแปลเหมือนกันว่า "ส่วนสำคัญ" เครื่องหมายการค้าของจำเลยต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่มีอักษรตัวกลางแต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรตัวกลางเป็นภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า "โนะ"เท่านั้น จำเลยใช้อักษรภาษาจีนคำว่า "บีซู" เน้นเป็นจุดเด่นในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นก็เน้นจุดเด่นคำว่า "อายิ" กับคำว่า"โมะโต๊ะ" ตัวอักษรญี่ปุนคำว่า "โนะ" มีขนาดเล็กมากมิได้เน้นความเด่นชัดของเครื่องหมายการค้าโจทก์ จึงเป็นอักษรที่ไม่มีความหมายสำคัญแก่บุคคลทั่วไปที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น และแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีอักษรไทยและอักษรโรมันอยู่ด้วยแต่ก็เน้นความเด่นอยู่ที่อักษรจีนเพราะจัดวางไว้ตรงกลาง ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อย การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายกันหรือไม่ ต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นตัวอักษรเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัด การที่จำเลยนำเครื่อง-หมายการค้าของจำเลยมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ได้
การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาก่อนจำเลยทั้งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยและต่างประเทศหลายประเทศก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงประชาชน: การโฆษณาต่อกลุ่มบุคคลที่รู้จัก ไม่ถือเป็นการฉ้อโกงต่อสาธารณชน
จำเลยทั้งสองเป็นครู รู้จักหรือเป็นที่รู้จักของบุคคลในหมู่บ้านหรือท้องถิ่นเดียวกันเป็นอย่างดี นับถือศาสนาคริสต์ ด้วยกันปฏิบัติศาสนกิจที่โบสถ์เดียวกันดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองโฆษณาต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งรู้จักจำเลยเป็นอย่างดี หาใช่โฆษณาต่อบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าเป็นบุคคลใดไม่ การโฆษณาของจำเลยทั้งสองยังไม่เป็นการโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การลอกเลียนที่ทำให้สาธารณชนสับสน และสิทธิของผู้มีเครื่องหมายการค้าที่ใช้ก่อน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า"DIMETAPP" กับของจำเลยคำว่า"MEDITAPP" ต่างก็เป็นคำของภาษาต่างประเทศพิมพ์ด้วยอักษรโรมันลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่อย่างเดียวกัน สำเนียงอ่านออกเสียงคล้ายกันตัวอักษรมีจำนวนเท่ากัน ถ้าไม่สังเกตจะเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์และของจำเลยเป็นอย่างเดียวกัน เพราะอักษรทุกตัวเหมือนกันเพียงแต่สลับคำพยางค์หน้า 2 คำ เท่านั้น และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 3 เช่นเดียวกับของโจทก์แม้จะระบุรายการสินค้าว่า ยาแก้หวัด แต่ในข้อบ่งใช้ที่ยา ของจำเลยก็ระบุว่าเป็นยาบรรเทาอาการแพ้ เช่น แพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล แก้หืด เป็นต้น เช่นเดียวกับยาของโจทก์ ทั้งยาของโจทก์ จำเลยต่างก็เป็นยาเม็ดและยาน้ำด้วยกัน แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ นำไปจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจนถึงนับได้ว่า เป็นการลวงสาธารณชน ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 16 คำว่า "TAPP" แม้จะฟังว่าอักษร "TA" ย่อมาจากคำว่า"TABLET" และอักษร "PP" เป็นชื่อย่อของสารเคมี 2 ชนิดแต่เมื่อนำอักษรดังกล่าวมารวมกันเป็นคำว่า "TAPP" จึงจัดว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 หาใช่ชื่อสามัญหรือสิ่งใดที่ใช้กันสามัญในการค้าขายซึ่งต้องห้ามถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่ง แห่งเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันไม่ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่นำไปจดทะเบียนจะไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์และโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีตามสิทธิของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเพราะโจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของโจทก์ผลิตออกจำหน่ายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของจำเลยเป็นเวลาหลายปี โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยลอกเลียนนำไปจดทะเบียนดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 41(1)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474.
of 7