คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิโต้แย้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4434/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย และสิทธิในการโต้แย้งคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านขอนำพยานหลักฐานมาให้ผู้คัดค้านสอบสวนประกอบคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ได้ยื่นไว้เป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นการตรวจคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งผู้คัดค้านมีอำนาจสอบสวนคดีเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ต่อศาลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้งดการสอบสวนพยานหลักฐานของผู้ร้องและมีคำสั่งยกคำร้องที่ผู้ร้องขออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาให้ผู้คัดค้านสอบสวนใหม่ จึงเป็นการกระทำในขั้นตอนของการสอบสวนตรวจคำขอรับชำระหนี้เท่านั้น และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าผู้คัดค้านจะทำความเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ซึ่งแม้หากต่อมาปรากฏว่าผู้คัดค้านจะทำความเห็นควรอนุญาตหรือให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเสียด้วยเหตุใดก็ตาม ลำพังความเห็นของผู้คัดค้านก็หามีผลบังคับแต่อย่างใดไม่เพราะศาลอาจวินิจฉัยยกหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ คำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งกลับคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านในชั้นนี้เป็นคดีนี้ได้ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาข้อจำกัดสิทธิโต้แย้งข้อเท็จจริงในคดีอาญาและการขอให้ลดโทษนอกเหนือคำพิพากษา
ข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก25ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคสอง ฎีกาว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจและจำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานมิได้ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการ รับฟังพยานหลักฐานและ ดุลพินิจการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยแก้ฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดโดยบันดาลโทสะมิได้มีเจตนาทำร้ายโจทก์ร่วมจำเลยสำนึกผิดแล้วขอให้ลดโทษจำเลยอีก5ปีเป็นการขอให้ศาลฎีกาพิพากษานอกเหนือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องทำโดยยื่นคำฟ้องฎีกาจะขอมาในคำแก้ฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของเจ้าของที่ดินต่างด้าวที่ถูกจำหน่ายโดยไม่ชอบ ผู้มีสิทธิฟ้องร้องได้
แม้ การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวโดยฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา86วรรคหนึ่งจะเป็น โมฆะ แต่มาตรา94ก็ให้ คนต่างด้าว จำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายในเวลาที่ อธิบดีกรมที่ดินกำหนดมิฉะนั้นก็ให้ อธิบดี กรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้จำเลยที่1ซึ่งลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวจึงไม่มีอำนาจจำหน่ายโดยพลการการที่จำเลยที่1ขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่2โดยพลการถือว่าเป็นการ โต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมี อำนาจฟ้องให้เพิกถอนการโอนขายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3186/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณี ผู้มีฐานะบริวารย่อมไม่มีสิทธิโต้แย้ง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทออกจากที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์ แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมรื้อถอนบ้านพิพาทออกจากที่ดินของโจทก์ ศาลพิพากษาตามยอมและ ส. บุตรของจำเลยยอมรับว่าเป็นเจ้าของบ้านพิพาท จำเลยเป็นผู้ดูแลบ้านพิพาทแทน ส. และยอมปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังนี้ ส. อยู่ในฐานะวงศ์ญาติและบริวารของจำเลย ผู้ร้องอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทในฐานะผู้อาศัยสิทธิของ ส. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้ร้องย่อมอยู่ในฐานะบริวารของจำเลยเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและหมายบังคับคดีในคดีนี้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาถึงเหตุที่เพิ่งยกประเด็นเรื่องโจทก์ให้ผู้ร้องเช่าที่ดินต่อจากจำเลย และ ส.ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยดูแลบ้านพิพาทและฟ้องคดีแทนขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์นั้น เป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5534/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดต้องแจ้งรายละเอียดและราคาขั้นต่ำให้เจ้าหนี้จำนองทราบ เพื่อให้เจ้าหนี้มีสิทธิโต้แย้งและรักษาผลประโยชน์
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทราบเพื่อโจทก์จะได้เตรียมตัวเข้าสู้ราคาหรือรักษาผลประโยชน์ส่วนได้เสียของโจทก์ในการบังคับคดี การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ผู้แทนโจทก์เซ็นทราบวันนัดไว้ล่วงหน้า ผู้แทนโจทก์ย่อมทราบเฉพาะวันนัดขายทอดตลาดเท่านั้น แต่ไม่ทราบรายละเอียดการโฆษณาบอกขายที่ดินพิพาทตลอดถึงข้อสัญญาและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการขายทอดตลาดซึ่งมีอยู่ในประกาศขายทอดตลาด และในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีควรตั้งราคาขั้นต่ำเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยจำนองไว้พร้อมค่าอุปกรณ์ถ้าจะขายราคาต่ำกว่านั้น โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำนองจะต้องไม่คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นสั่งขายและเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายในราคาซึ่งต่ำกว่าราคาจำนองทั้งที่ผู้แทนโจทก์คัดค้าน แม้ว่าการขายครั้งนี้จะเป็นการขายครั้งที่ 6 และขายได้ราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์ก็ตาม ก็หาเป็นราคาพอสมควรไม่ เพราะราคายังต่ำกว่าจำนวนเงินจำนองพร้อมค่าอุปกรณ์และต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมาก ส่อให้เห็นวี่แววอันไม่สุจริต เป็นการขายไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913/2531 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหนังสือแจ้งประเมินภาษี การยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ และการย้ายภูมิลำเนา มีผลต่อสิทธิในการโต้แย้งการประเมินภาษี
โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบเรื่องการย้ายภูมิลำเนาของโจทก์เพื่อให้จำเลยจัดส่งหนังสือแจ้งความแก่โจทก์ตามภูมิลำเนาใหม่ ตรงกันข้ามในการยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษี โจทก์ระบุภูมิลำเนาเดิม แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ใช้ภูมิลำเนาเดิมเป็นภูมิลำเนาของโจทก์อีกแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในการติดต่อกับจำเลยดังนี้การที่จำเลยส่งหนังสือแจ้งการประเมินแก่โจทก์ ณ ภูมิลำเนาเดิมจึงเป็นการส่งโดยชอบแล้ว
การส่งหนังสือแจ้งความและหมายเรียกตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 36 วรรคแรก หมายความว่าหากมีการส่งโดยทางจดหมายไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ถือว่าเป็นการส่งที่ชอบแล้ว ส่วนผู้รับหนังสือไว้แทนกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องมีอายุเกินยี่สิบปี ซึ่งเป็นกรณีบังคับใช้เฉพาะในกรณีให้คนนำไปส่งเท่านั้น ดังนี้เมื่อได้ความว่าบุรุษไปรษณีย์นำส่งหนังสือแจ้งรายการประเมินให้แก่เด็กหญิงส.อายุ 14 ปีเศษซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ การส่งหนังสือดังกล่าวจึงชอบแล้ว
การยื่นคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินมาตรา 26 นั้น จะต้องยื่นภายในเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ หมายความถึงวันที่โจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งรายการประเมินนั่นเอง มิใช่ให้นับแต่วันที่โจทก์ทราบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ภาษีเพิ่มเติมเกินกำหนด: สิทธิโต้แย้งสิ้นสุด, ฟ้องเรียกเก็บได้
จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีเพิ่มเติมตามฟ้องแล้วยื่นอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าต่ออธิบดีกรมศุลกากรเกินกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคท้ายและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร หรือหากจะถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นต่ออธิบดีกรมศุลกากรเป็นอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าด้วยในฐานะที่กรมศุลกากรเป็นเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีการค้าเพื่อกรมสรรพากร การยื่นอุทธรณ์ภาษีการค้าของจำเลยก็เกินกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เช่นกัน อุทธรณ์การประเมินของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้วินิจฉัยไม่ได้จึงไม่มีข้อวินิจฉัยหรือผลการพิจารณาอุทธรณ์ที่จะแจ้งให้จำเลยทราบ และเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์เรียกเก็บโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านว่าการประเมินภาษีเพิ่มเติมของโจทก์ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3701/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 และ 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร และสิทธิในการโต้แย้งการประเมิน
หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ ประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 และ 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินทั้งนี้โดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ครบถ้วนและมิได้ให้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกซึ่งออกตามมาตรา 19 โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งเป็นคดีต่อศาล เพราะการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นอันยุติไปแล้ว คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องโดยชัดแจ้งว่า โจทก์หาได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 แต่อย่างใดไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 และ 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรย่อมเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ได้ ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ยุติโดยโจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ ชอบที่จะฟังพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความก่อนพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275/2524 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการโต้แย้งการบังคับคดี: ผู้มีส่วนได้เสียต้องเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 และกระบวนการขออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนั้น นอกจากคู่ความในคดี แล้วจะต้องเป็นบุคคลที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 กำหนดไว้ผู้ร้องเป็นแต่เพียงผู้โต้แย้งสิทธิกับ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีนี้ว่า ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อ ในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นตัวแทนของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมิใช่ บุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 บัญญัติไว้ ย่อมมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการบังคับคดี ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องโต้แย้งเกี่ยวกับการบังคับคดีว่า โจทก์จะขอถอนการยึดทรัพย์ภายหลังที่มีการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นไปแล้วได้หรือไม่
ศาลชั้นต้นงดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามวันนัดที่นัดไว้แล้วผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องฟังก่อน เมื่อศาลชั้นต้นอ่านให้ผู้ร้องฟังแล้ว สิทธิในการฎีกาของผู้ร้องจึงจะเริ่มนับหรือถ้าศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมอ่าน ผู้ร้องจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ การที่ผู้ร้องใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาโดยมิได้ยื่นคำร้อง ต่อศาลชั้นต้นเสียก่อนเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์: คำสั่งไม่เป็นที่สุด โจทก์มีสิทธิโต้แย้ง
คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เรื่อง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งวินิจฉัยชี้ขาดตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41(6) ประกอบด้วย มาตรา 125 นั้น ไม่มีบทบัญญัติให้เป็นที่สุด เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งไม่ถูกต้องอย่างไร และเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ หาจำต้องเป็นเรื่องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ปฏิบัติหน้าที่ผิดกฎหมายไม่
of 5