คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สุจริต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,168 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5641/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองโดยสุจริตคุ้มครองสิทธิ แม้มีการครอบครองปรปักษ์ก่อนการจดจำนอง
โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันกับโจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแก่ที่ดินพิพาทได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้มอบอำนาจและการคุ้มครองสิทธิผู้รับจำนองสุจริต
สาเหตุที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความให้ ท. น้องสาวของโจทก์นำไปใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ แต่ ท. มิได้นำไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในใบมอบอำนาจของโจทก์ว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 รับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความ จึงต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จะให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องรับความเสียหายจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์เองย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ 3 ผู้สุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนการจำนองดังกล่าวและแม้ที่ดินจะต้องถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์ นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 2 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้ทรัพย์สินระหว่างสมรส: การใช้สิทธิโดยสุจริต
โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งยื่นคำขอเปิดระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่สมรส โดยโจทก์ตกลงยกเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ในบัญชีดังกล่าวจำนวน 7,500,000 บาท ให้แก่จำเลย จึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ให้สิทธิสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกล้างสัญญาได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินต่อจำเลย ซึ่งเป็นการกระทำในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม เหตุแห่งการบอกล้างนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมได้ ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเช็คโดยสุจริตและการรับผิดของผู้สั่งจ่ายเช็คแม้ไม่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ทรง
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ช. เพื่อเป็นหลักประกัน ช. และโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียกเก็บเงินนั้น เป็นคำให้การที่ไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คบคิดกับ ช. ฉ้อฉลจำเลยอย่างไร จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามมาตรา 916 ที่จะนำสืบ เมื่อเช็คพิพาทเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ ช. ผู้ทรงย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ทั้งเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้ผู้ถือ เบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ผู้ทรงรับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่งจำเลยไม่ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและการเพิกถอนคำขอจดทะเบียน
แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า DAI แต่โจทก์ก็ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลย จำเลยเคยติดต่อค้าขายกับโจทก์จึงทราบดีว่า คำว่า DAI เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยกลับลอกเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนำไปขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยเอง การที่จำเลยมายื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DAi ของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า DAi ดีกว่าจำเลย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนดังกล่าวไม่ได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 46 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า DAi กับห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองและการคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต
การที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์มิใช่ผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7886-7887/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย – การเข้าครอบครองที่ดินโดยสุจริต – การประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ – ยกฟ้อง
การที่ราษฎรเข้าอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดินที่เกิดเหตุเป็นเพราะทางราชการและหน่วยงานของรัฐเป็น ฝ่ายจัดพื้นที่ให้เพื่อบรรเทาผลร้ายจากการสร้างเขื่อนบางลาง เป็นเหตุให้ราษฎรในพื้นที่เดิมประสบภัยน้ำท่วมจน ไม่อาจอยู่อาศัยในถิ่นที่อยู่เดิมได้ การเข้าอยู่ในที่ดินบริเวณพื้นที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 นาย น. นาย ถ. และนาง พ. จึงเป็นการได้รับสิทธิตามที่ทางราชการและหน่วยงานของรัฐดังกล่าวจัดสรรที่ดินให้ อันเป็นการเชื่อโดยสุจริตในสิทธิที่แต่ละคนได้รับการจัดสรรที่ดิน และได้อยู่อาศัยกันตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้ในปี 2539 ซึ่งถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าอยู่โดยมีเจตนาฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ทางหลวงฯ ดังนี้ แม้การเข้าอยู่จะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ทางหลวงฯ เพราะมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แต่เมื่อมิได้เป็นการกระทำโดยเจตนาฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาแต่ต้น ก็หามีความผิดอันจะต้องรับโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. ทางหลวงฯ ไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิจากนาย น. และนาย ถ. กับจำเลยที่ 2 รับโอนสิทธิจากนาง พ. และได้เข้าทำการยึดถือก่อสร้าง อาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัยในที่เกิดเหตุ แม้เจ้าหน้าที่ของแขวงการทางยะลาได้ห้ามปราม แต่จำเลยทั้งสอง ไม่เชื่อฟัง ก็เป็นเรื่องที่ทางราชการกรมทางหลวงจะต้องดำเนินคดีในทางแพ่งแก่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนออกไปเท่านั้น จะนำเหตุที่จำเลยทั้งสองซึ่งเข้าใจโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิมาแต่ต้นจึงไม่เชื่อฟังมาเป็นความผิดทางอาญาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเชื่อโดยสุจริตจากข้อมูลผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลเป็นเหตุขยายเวลาอุทธรณ์ได้ แม้ยื่นเกินกำหนด
ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 ซึ่งตามกฎหมายถือว่าทนายจำเลยได้ทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว แต่ทนายจำเลยมิได้รอฟังคำสั่ง และได้มาขอทราบคำสั่ง ซึ่งตามทางปฏิบัติของศาลชั้นต้นการแจ้งคำสั่งให้คู่ความที่มาขอทราบคำสั่งทำโดยวิธีเปิดดูข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ และปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศาลลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ผิดเป็นว่าอนุญาตถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 และเจ้าหน้าที่ศาลอีกคนหนึ่งแจ้งข้อมูลที่ผิดดังกล่าว โดยเขียนข้อความว่าอนุญาตถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 ในใบมอบฉันทะด้วย เช่นนี้แม้ทนายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด 2 วัน ก็น่าเชื่อว่าทนายจำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 และเนื่องจากวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 เป็นวันหยุดราชการ ทนายจำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3037/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, โมฆะ, ดอกเบี้ยตามกฎหมาย, การชำระหนี้, ความเชื่อโดยสุจริต
สัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ (ปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) และหนังสือยินยอมให้ทำประกันอัคคีภัยระบุว่า จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้คืนเบี้ยประกันอัคคีภัยแก่โจทก์เต็มจำนวนพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ที่กำหนดให้พึงเรียกเก็บได้ (ในปัจจุบันอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดอันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 (2) แม้ขณะนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราร้อยละ 14 ต่อปี มิได้คิดอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ก็ตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมให้ทำประกันอัคคีภัยดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้และหนังสือยินยอมได้ แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้และเบี้ยประกันอัคคีภัยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ จึงย่อมจำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ประกอบอาชีพค้าขาย โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยที่ 1 นำเงินชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แก่โจทก์แล้วโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์ อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้นำเงินไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเองนั้น ย่อมมีเหตุที่จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องสุจริตเปิดเผย และแจ้งให้เจ้าของทราบ หากครอบครองโดยเข้าใจผิดหรือยอมรับกรรมสิทธิ์ผู้อื่น ย่อมไม่เกิดกรรมสิทธิ์
การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของกรมชลประทานและรับว่าหากกรมชลประทานจะเอาคืน จำเลยก็จะคืนให้เช่นนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเท่านั้น มิได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ อีกทั้งที่ดินที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นที่ดินซึ่งบุคคลอื่นมีกรรมสิทธิ์อยู่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 7107 ซึ่งทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัท ท. ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับเมื่อทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน แต่จำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังบริษัท ท. ว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมาบริษัท ท. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จำเลยกลับมีหนังสือขอซื้อที่ดินไปยังบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. พฤติการณ์ของจำเลยจึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลย จึงมีลักษณะเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของผู้อื่น ซึ่งตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง แม้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย
of 117