คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หลอกลวง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 493 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลอกลวงแหล่งกำเนิดสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้า และความรับผิดของผู้จัดการห้างหุ้นส่วนในการละเลยป้ายน้ำมัน
โจทก์ร่วมทำสัญญากับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน โดยให้จำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อน้ำมันจากโจทก์ร่วมมาจำหน่ายเท่านั้น จำเลยผิดสัญญาโดยไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาจำหน่าย โจทก์ร่วมบอกเลิกสัญญาให้จำเลยส่งคืนสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ร่วม รวมทั้งเพิกถอนความยินยอมให้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม แต่จำเลยก็ยังคงประกอบการค้าต่อไปโดยซื้อน้ำมันจากที่อื่นมาจำหน่าย และยังคงติดป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอยู่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน โดยมิได้แสดงเครื่องหมายให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานีบริการน้ำมันนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ร่วม แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะขายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม จึงเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดแห่งของอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 271
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเฉพาะในส่วนที่จำเลยได้ขายน้ำมันให้แก่ ส. และ อ. ซึ่งเป็นผู้ไปทำการล่อซื้อน้ำมันดังกล่าว โดยที่ ส. และ อ. มิได้หลงเชื่ออยู่แล้วว่าน้ำมันที่จำเลยนำออกจำหน่ายนั้นเป็นน้ำมันของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล อันเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 80
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2474 มาตรา 49 เป็นความผิดที่บัญญัติลงโทษแก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งละเลยไม่ปิดป้ายเครื่องหมายไว้ ณ ที่ที่เห็นได้ง่ายตามมาตรา 9 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่สำหรับการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้จำเลยจะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามมาตรา 9 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2474 มาตรา 9 , 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1916/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาจัดหางานสำคัญกว่าการหลอกลวง หากไม่มีเจตนาจัดหางานจริง แม้มีการรับเงินก็ไม่ผิด พ.ร.บ. จัดหางาน
การจะเป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528
ตามคำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นคนหางานไปทำงานรับจ้างทำถนนที่ไต้หวัน โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานรับจ้างทำถนนในไต้หวัน และสามารถจัดให้ผู้เสียหายทำงานรับจ้างทำถนนในไต้หวันได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย และจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดหางานรับจ้างทำถนนในไต้หวันโดยถูกต้องตามกฎหมายและในอัตราค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยฟัง ป. ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยอีกต่อไป และขอถอนคำร้องทุกข์ โดยโจทก์รับว่าเป็นผู้เสียหายจริง ถือได้ว่าผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปแล้วย่อมทำให้คำขอในส่วนคดีแพ่งที่ให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ อีกทั้งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย จึงต้องยกคำขอในส่วนคดีแพ่งของโจทก์เสียด้วยปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาจัดหางานสำคัญกว่า หากไม่มี ถือเป็นการหลอกลวง ไม่ใช่ความผิดฐานจัดหางาน
การจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ การที่คำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยบอกกล่าวและให้ถ้อยคำรับรองแก่ผู้เสียหายทั้งสองว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งคนหางานจะต้องเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่เคยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้ดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงประชาชน-กู้ยืมเงินเกินอัตราดอกเบี้ย: พฤติการณ์หลอกลวง-สร้างความเชื่อถือเพื่อขอกู้เงินจำนวนมาก
จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืมในลักษณะที่จะให้ผลประโยชน์มากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้ หากแต่การจ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายในครั้งแรก ๆ เป็นเพียงอุบายทุจริตตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายให้หลงเชื่อและส่งมอบเงินให้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และการที่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายโดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน และร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นผู้อื่น: การหลอกลวงโดยใช้เอกสารเท็จและข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ
การที่จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ระบุชื่อ ส. และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยคือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1942-1943/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดจัดหางานเถื่อนหลอกลวงผู้เสียหายจำนวนมาก ศาลยืนโทษจำคุกและชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี โดยความผิดที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกระทำนั้น เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายจำนวนมากถึง 64 คน เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ต้องการหางานทำเพื่อหาเงินมาใช้เลี้ยงชีพ นับเป็นภัยต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยิ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และลงโทษปรับจำเลยที่ 4 โดยไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 นั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานหลอกลวงจัดหางานต่างประเทศ ไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกง และไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายได้
แม้บทบัญญัติมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ซึ่งระบุให้ผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงนั้น จะมีถ้อยคำว่า "หลอกลวงผู้อื่น" ก็ตาม แต่ก็มิใช่ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ก็มิได้ให้พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันหลอกลวงจัดหางาน: จำเลยเพียงโอ้อวดความสามารถบุตรเขย ไม่ร่วมวางแผนหลอกลวง
จำเลยที่ 1 เป็นคนชนบท มีอาชีพทำนา ถ้ามีบุตรหลานหรือญาติพี่น้องเป็นคนมีฐานะ มีความรู้ความสามารถหรือมีหน้าที่การงานดีย่อมจะทำให้จำเลยที่ 1 พลอยมีหน้ามีตา ส. เป็นคนกรุงเทพมหานครเพิ่งจะแต่งงานเป็นบุตรเขยจำเลยที่ 1 ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ เมื่อ ส. มาเยี่ยมและอ้างว่าสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ จำเลยที่ 1ย่อมจะชื่นชมยินดีและอยากโอ้อวดให้บุคคลอื่นทราบ การที่จำเลยที่ 1พูดเรื่องไปทำงานในต่างประเทศให้ผู้เสียหายทั้งห้าและบุคคลทั่ว ๆ ไปว่าผู้ใดอยากไปทำงานต่างประเทศให้ไปพบ ส. ที่บ้านจำเลยที่ 1ก็เป็นถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ต้องการจะโอ้อวดให้ผู้อื่นรู้ว่า ส. มีความรู้ความสามารถส่งคนไปทำงานในต่างประเทศได้เท่านั้นส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรไปบอกให้ผู้เสียหายทั้งห้านำเงินไปชำระแก่ ส. และพูดขึ้นว่าเงินแค่นี้ ส. ไม่โกง ถ้าโกงก็คงโกงมากกว่านี้นั้น ก็ได้ความว่านอกจากจำเลยทั้งสองแล้ว ส. ไม่รู้จักใครจึงติดต่อประสานกับผู้เสียหายทั้งห้า นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งจะไปทำงานเช่นเดียวกับผู้เสียหายทั้งห้าก็ถูก ส. หลอกเอาเงินเช่นกัน โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งห้าตลอดจนไม่ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการติดต่อและประเทศที่จะส่งคนหางานไปทำงาน การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้ ส. ใช้บ้านของตนเป็นสถานที่ติดต่อพูดคุยกับผู้เสียหายทั้งห้าซึ่งเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1ร่วมกับ ส. หลอกลวงผู้เสียหายทั้งห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8723/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน: การร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายโดยอ้างเป็นสมาชิกสหกรณ์และมีโควต้าเมล็ดพันธุ์
พฤติการณ์ที่จำเลยพา ว. ไปช่วยจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และจำเลยไปจำหน่ายเองแต่เพียงลำพัง เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับเป็นเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ถือได้ว่าเป็นการร่วมมือกับ ว. ในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่แล้ว แม้จะไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ร่วมกับว. หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาดและมีโควต้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จำหน่ายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาทุจริตของจำเลยอย่างชัดแจ้งในการที่จะหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสอง และการหลอกลวงดังว่านั้นจำเลยกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งสิบสอง จึงเป็นตัวการร่วมกับ ว. กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดอำนาจศาล: การอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ศาลหลอกลวงผู้เสียหาย และการออกข้อกำหนดห้ามเข้าพื้นที่ศาล
ผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเองว่าเป็นอัยการและหลอกลวงผู้กล่าวหาในบริเวณศาลชั้นต้น ทั้งมีการรับเงินกันที่โรงอาหารซึ่งอยู่ภายในบริเวณศาลชั้นต้น แม้เหตุจะมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาลแต่ก็เกิดในบริเวณศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้โดยหาจำต้องดำเนินการทางพนักงานสอบสวนไม่
การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วด้วย แต่การออกข้อกำหนดแก่ผู้ถูกกล่าวหา ห้ามผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาในบริเวณศาลชั้นต้นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ปรากฏว่ากระทำเพื่อให้กระบวนพิจารณาเรื่องใดดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว กรณีจึงไม่ต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 30 ในอันที่ศาลจะพึงออกข้อกำหนดแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้
of 50