พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1314/2513
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจสอบสวนคดีเช็ค: เหตุผลสมควรเชื่อว่าความผิดเกิดในพื้นที่
จำเลยถูกกล่าวหาในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้บริษัทผู้เสียหายในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังแต่เมื่อบริษัทผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักโดยอ้างว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้บริษัทผู้เสียหายในท้องที่อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักเชื่อเช่นนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักย่อมมีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสองและเมื่อสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2508
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชี การกำหนดเขตอำนาจสอบสวนกรณีความผิดต่อเนื่อง
จำเลยออกเช็คเป็นการชำระหนี้ค่าปลาป่นที่ซื้อจากผู้เสียหาย ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยจำเลยไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย จำเลยออกเช็คนั้นที่โรงงานปลาป่นของผู้เสียหาย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา เพราะซื้อขายกันที่นั้น แต่ผู้เสียหายต้องไปเบิกเงินที่ธนาคารที่อำเภอหาดใหญ่ ความผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องกันพนักงานสอบสวนอำเภอเมืองสงขลามีอำนาจสอบสวน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3118/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจสอบสวนคดีอาญาที่มีการกระทำความผิดหลายท้องที่ และอำนาจฟ้องของโจทก์
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยเหตุเกิดที่ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และแขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจ ไม่ใช่กรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยอย่างเดียว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ คดีนี้ตามฟ้องจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553 และนำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะเพิ่งยกขึ้นฎีกา ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18055/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจสอบสวน ความผิดต่อเนื่อง และการลงโทษกรรมเดียวหลายบทในความผิดฐานลักทรัพย์ ปลอมแปลงเอกสาร
ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นที่บริษัทผู้เสียหายซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมามีการนำเช็คที่ถูกลักไปเข้าบัญชีของ ป. ที่ธนาคาร ก. สาขาสมุทรปราการ ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เพื่อเรียกเก็บเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัทผู้เสียหายที่ธนาคาร ก. สาขาปู่เจ้าสมิงพราย ตั้งอยู่ที่ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป รวมทั้งเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) (4) ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้เป็นผู้รับคำร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้จึงมีอำนาจสอบสวนและโอนการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนต่อไป เมื่อจับจำเลยได้ตามหมายจับ การสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7662/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจสอบสวนและการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นการแก้ไขโทษเล็กน้อย
ที่จำเลยฎีกาว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจึงมิใช่พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนการสอบสวนจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าสถานที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย