พบผลลัพธ์ทั้งหมด 22 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2531
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินก่อนล้มละลาย กรณีมีเจตนาช่วยเหลือลูกหนี้ยักย้ายทรัพย์สิน
ก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 2 โดยผู้คัดค้านที่2 ได้วางมัดจำไว้และผู้คัดค้านที่ 1 ผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 จึงฟ้องต่อศาลชั้นต้น และในที่สุดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านที่ 2ดังนี้ แม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนก็มิได้เป็นเครื่องยืนยันว่ากระทำโดยสุจริต เพราะพฤติการณ์ที่มีการดำเนินคดีโดยรีบร้อนและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยเร่งด่วน ย่อมแสดงถึงความไม่สุจริตเจตนาช่วยเหลือจำเลยในการยักย้ายทรัพย์สิน พยานหลักฐานของผู้คัดค้านยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการโอนที่พิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 114,116.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการโอนที่ดินที่เป็นสินสมรส เนื่องจากผู้ซื้อรู้ถึงข้อพิพาทและสถานะเจ้าของร่วม
เมื่อที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ซึ่งสมรสกันมาตั้งแต่พ.ศ.2475โดยยังมิได้หย่าร้างกันดังนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของร่วมกันในโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามป.พ.พ.มาตรา1475 จำเลยที่3เป็นบุตรของจำเลยที่1เคยทราบว่ามารดาและพี่ชายเคยถูกโจทก์ฟ้องขอเพิกถอนการโอนที่ดินบางแปลงมาแล้วแสดงว่าจำเลยที่3ทราบดีว่าโจทก์ก็ยังเป็นภริยาจำเลยที่1อยู่นอกจากนี้ในวันโอนที่ดินแปลงพิพาทก็ได้ทราบจากพนักงานที่ดินแล้วว่าโจทก์เคยอายัดที่ดินแปลงนี้ไว้แต่หมดอายุแล้วแต่จำเลยที่3ก็ยังฝืนรับซื้อที่ดินจากจำเลยที่1จึงส่อถึงเจตนาอันไม่สุจริตฉะนั้นเมื่อที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จำเลยที่1จะขายที่ดินแปลงนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือโจทก์ให้สัตยาบันเสียก่อนการขายนั้นจึงจะสมบูรณ์การที่จำเลยที่1ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่3โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และจำเลยที่3กระทำการโดยไม่สุจริตดังนี้โจทก์จึงมีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงนี้ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3391/2527
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหมิ่นประมาทโดยเจตนาไม่สุจริต และการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 15 วันและปรับ1,000 บาท โทษจำคุกรอไว้ 1 ปี จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ปัญหาว่าจำเลยทำคำร้องโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยขาด เจตนากระทำผิดหรือไม่ และจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง หรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2524
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน้าที่การนำสืบของโจทก์ในคดีที่กล่าวอ้างถึงเจตนาไม่สุจริตของจำเลย โจทก์ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงสนับสนุนคำกล่าวอ้าง
โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริต ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์มียศเป็นว่าที่ร้อยตำรวจตรีโดยมิชอบ โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้สมฟ้องว่าจำเลยออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยมิชอบอย่างไร แต่โจทก์หาได้นำสืบประการใดไม่ โจทก์จึงไม่มีทางชนะคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2503 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีเจตนาไม่สุจริตและอาศัยความนิยมของเครื่องหมายผู้อื่นเพื่อแสวงหาประโยชน์
โจทก์ได้ใช้คำว่า แฟ๊บ (FAB) เป็นเครื่องหมายการค้า สำหรับผงซักฟอกมาช้านานและแพร่หลาย จำเลยจงใจใช้เครื่องหมายการค้า FAB สำหรับผงซักฟอกมาช้านานและแพร่หลาย จำเลยจงใจใช้เครื่องหมายการค้า FAB ให้เหมือนกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สำหรับสินค้าแปรงสีฟันของจำเลย โดยจำเลยเห็นว่า สินค้าของโจทก์ที่มีเครื่องหมายนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลาย เพื่อให้ผู้ซื้อหลงว่าสินค้าที่มีเครื่องหมายนี้เป็นสินค้าของเจ้าของสินค้ารายเดียวกัน สินค้าของจำเลยจะได้ขายได้ดีตามที่ผู้คนนิยมเชื่อถือสินค้าที่มีเครื่องหมายนี้มาแล้ว เมื่อโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายแฟ๊บ (FAB) สำหรับสินค้าจำพวกแปรงสีฟัน ปรากฏว่าจำเลย ได้ขอจดทะเบียนคำว่าแฟ๊บ (FAG) สำหรับสินค้าจำพวกแปรงสีฟันไว้ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิง เอารูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาเพื่อใช้กับสินค้าของจำเลยโดยเจตนาไม่สุจริต เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนี้ดีกว่า จำเลย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2502)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2502)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2497
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายเรือนที่มีผู้เช่าเดิมอยู่แล้ว โดยมีเจตนาให้ผู้เช่าได้รับความเดือดร้อน ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า
เจ้าของที่ดินและเรือนขายเฉพาะเรือนในที่ดินนั้นแก่ผู้อื่นไปแล้วให้ผู้ซื้อทำสัญญาเช่าที่ดินที่ปลูกเรือนนั้นแต่ปรากฏว่า ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทราบดีว่า มีผู้เช่าเรือนนั้นอยู่อาศัยมาแต่เดิม ซึ่งได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ และเมื่อซื้อมาแล้ว ผู้ซื้อก็จัดการร้องต่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าให้ผู้เช่าออกจากเรือนพิพาทเพื่อเข้าอยู่เอง เมื่อคณะกรรมการไม่อนุญาต เจ้าของที่ดินก็ฟ้องขับไล่ให้ผู้ซื้อรื้อถอนเรือนนั้นไปดังนี้ เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการซื้อขายเพื่อให้ผู้เช่าไม่ได้ใช้หรือรับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าอยู่จึงถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและขัดกับ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ เจ้าของที่ดินจึงไม่มีสิทธิจะมาขอให้ศาลบังคับขับไล่ผู้เช่าออกไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 434-435/2472
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีล้มละลายด้วยเจตนาไม่สุจริต และการตีความสัญญา
การวินิจฉัยฟ้องของโจทก์โดยไม่สืบพะยานว่าจะมีมูลหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ฎีกาได้ อาญา ม.158 ใช้สำหรับฟ้องคดีอาญา ไม่ใช่คดีแพ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19395/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักกลบลบหนี้ด้วยตั๋วแลกเงินที่ซื้อมาในราคาต่ำโดยมีเจตนาไม่สุจริต ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5
จำเลยมิใช่ผู้รับโอนตั๋วแลกเงินมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองตั๋วแลกเงินโดยตรง แต่รับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงซึ่งรับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงคนเดิมที่โจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปแล้วโดยขณะจำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมานั้น จำเลยซึ่งเป็นธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมทราบว่า โจทก์ได้ประสบปัญหาด้านการเงินและถูกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นที่เห็นได้โดยสุจริตว่าตั๋วแลกเงินที่จำเลยรับสลักหลังโอนมาในขณะนั้น มีมูลค่าลดน้อยลงไปกว่าราคาที่ผู้ทรงคนเดิมรับสลักหลังโอนมาเป็นจำนวนมาก หรือนัยหนึ่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวน่าจะไม่มีมูลค่าเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการซื้อขายเพื่อสลักหลังโอนกันตามปกติแล้ว ทั้งกรณีที่ผู้ทรงประสงค์จะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ก็ชอบที่จะต้องนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจักได้ชำระบัญชีหรือดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์มาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของโจทก์ ให้ได้รับส่วนแบ่งโดยทัดเทียมกันอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนแห่งหนี้ พฤติการณ์การรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมาดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลย มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 จำเลยจึงไม่อาจนำมูลหนี้ ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ มาหักกลบหนี้กับหนี้การซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10554/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้อน: คดีถึงที่สุดแล้ว การยื่นขอแก้ไขคำให้การ/ฟ้องแย้งภายหลังไม่ทำให้คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณา
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและ ณ. ร่วมกันรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ หลังจากศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและพิพากษายกฟ้องโจทก์ คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีส่วนที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงถึงที่สุด แม้จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนซึ่งจำเลยทั้งสองยังฎีกาต่อมาก็ตาม แต่ขณะจำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งในคดีเดิม ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีไว้ก่อนโดยดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อมาและมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด คดีในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งจึงเป็นคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์ ทั้งศาลฎีกาในคดีเดิมมีคำสั่งไม่รับคดีของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาเพราะเห็นว่าเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ผลของคำสั่งศาลฎีกาย่อมไม่กระทบต่อคำพิพากษาในคดีเดิมที่ถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งอันเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองทราบอยู่ก่อนแล้ว และยื่นภายหลังกำหนดเวลาตามกฎหมายเพื่อให้คดีเดิมอยู่ระหว่างพิจารณา พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมีเจตนาที่ไม่สุจริต จึงไม่ถือว่าคดีตามฟ้องเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาอันเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแสดงเจตนาไม่สุจริตของกรรมการเกินอำนาจกระทบสิทธิลูกหนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอน
การที่จำเลยทำหนังสือเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยใช้หัวกระดาษระบุชื่อโจทก์และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของโจทก์ ทั้งใต้ลายมือชื่อของจำเลยระบุว่าจำเลยเป็นกรรมการโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้บุคคลภายนอกทั่วไปเข้าใจไปได้ว่า จำเลยเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในนามของโจทก์ซึ่งขัดกับข้อบังคับอำนาจของกรรมการโจทก์ เป็นการแสดงเจตนาไม่สุจริตทำให้เข้าใจว่าจำเลยเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวในนามของโจทก์ ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจทำการดังกล่าวได้เพราะขัดกับข้อบังคับอำนาจกรรมการกระทำการแทนโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงและได้เสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อบรรษัท บ.ไปก่อนจำเลยแล้ว และทำให้การพิจารณาของบรรษัท บ. ซึ่งกำลังดำเนินการเกิดความล่าช้าเพราะต้องพิจารณาทั้งแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของโจทก์และของจำเลย เป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นผู้อื่นและบริษัทโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ให้เพิกถอนหนังสือที่จำเลยยื่นแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้