คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าของที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 335 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาทเป็นหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของ เมื่อเขตที่ดินตาม น.ส.3ก.ทับซ้อนกัน
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง โจทก์และจำเลยต่างนำชี้ทับกันยังไม่แน่ชัดว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์หรือจำเลยดังนั้น การวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงจำต้องวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อเป็นเครื่องแสดงหรือบ่งชี้ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเพราะผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใดนั้นก็ย่อมมีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นได้ การที่ศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยแล้ว พิพากษาคดีไปตามที่พิจารณาได้ความ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6572/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการได้รับค่าทดแทนการเวนคืน: เจ้าของที่ดิน vs ผู้เช่า/ผู้ครอบครอง - การถมดินและค่าขาดประโยชน์
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งได้ให้ ค. เช่าที่ดินดังกล่าวใช้เป็นสถานที่แสดง ผลิต จำหน่าย ซ่อมบำรุง และตบแต่งรถยนต์ โดยจดทะเบียนการเช่ากันก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ 1 เดือนเศษ อายุการเช่ามีกำหนด 10 ปี เริ่มตั้งแต่หลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประมาณ 2 เดือน โดยข้อ 8 ของสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวระบุว่า "บรรดาสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าสร้างลงไปในที่ดินตามสัญญานี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า แต่เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าผู้เช่าจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เช่าออกไปทั้งหมดหรือบางส่วนตามความประสงค์ของผู้ให้เช่าและปรับระดับของพื้นดินให้เรียบร้อยภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญานี้เว้นแต่ผู้ให้เช่ามีความประสงค์จะให้ผู้เช่าที่ดินต่อไปหรือผู้ให้เช่ามีความประสงค์ให้สิ่งปลูกสร้างนั้นมีสภาพตามที่เป็นอยู่ก่อนสิ้นสุดสัญญา?" ค. ผู้เช่าเป็นผู้ถมดินในที่ดินดังกล่าวและเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายในการถมดิน ดังนั้นก่อนสัญญาเช่าที่ดินจะสิ้นสุดลง ดินที่ถมดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ ค. อยู่ตามข้อ 8 ของสัญญาเช่าที่ดินและฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนค่าถมดินนี้ โดยถือว่าเป็นเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนได้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (5) ค. ได้รับมอบสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ในวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดินซึ่งเป็นวันก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ และหลังจากวันใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกาฯ ก็ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินที่ถมนั้นอยู่ และมีสิทธิที่จะได้ใช้ประโยชน์จากการถมดินนั้น ย่อมเป็นผู้ได้รับผลกระทบและต้องเสียหายในส่วนนี้โดยตรงอันเนื่องจากการดำเนินการเวนคืนของฝ่ายจำเลย จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนส่วนนี้ตามมาตรา 18 (5) โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายในส่วนนี้โดยตรงจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงิน ค่าทดแทนค่าถมดินในที่ดินของโจทก์
พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย มุ่งหมายให้จ่ายเงินค่าทดแทน ความเสียหายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนเท่านั้น มิได้ประสงค์จะให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายในอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เมื่อโจทก์มิได้อยู่อาศัยและไม่ได้ประกอบการค้าขายในที่ดินที่ต้องเวนคืนเนื่องจากให้ ค. เช่าไปประกอบธุรกิจการค้าเป็นสถานที่แสดงรถยนต์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าขาดประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าที่ดินที่ถูกเวนคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเวนคืน: เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่มีสิทธิ, ผู้ครอบครองต้องมีการอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์แล้ว
เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นการชดเชยความเสียหายอันเนื่องมาจากการบังคับเอาที่ดินมาจากเจ้าของที่ดินและเป็นการชดเชยความเสียหาย อันเนื่องมากจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนราคาลดลงตามลำดับผู้ที่ถูกบังคับเอาที่ดินไป และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงคือเจ้าของที่ดิน โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ซึ่งอ้างว่าได้ชำระเงินที่จะซื้อจะขายที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ที่ 1 ไปก่อนบางส่วน และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนแล้วนั้นยังไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเจ้าของร่วมในที่ดินที่ถูกเวนคืน และไม่ได้โต้แย้งสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินในที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นและเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง
ผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตาม พรบว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย นั้น ต้องเป็นผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่ขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับที่ดินที่ถูกเวนคืนยังเป็นที่ดินว่างเปล่า โจทก์ที่ 2 ยังมิได้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่ดินที่เวนคืน จึงไม่ใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากที่ดินทั้งสี่แปลงที่ถูกเวนคืนที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 21 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการใช้ทางภาระจำยอมและการจัดการโดยเจ้าของที่ดิน การเรียกเก็บค่าจอดรถและการใช้ประโยชน์เกินสมควร
โจทก์ทั้งยี่สิบห้าเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรขาย ภายในศูนย์การค้ามีถนนรวม 6 สาย ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้น และเป็นภาระจำยอมเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างป้อมยามและเหล็กกั้นทางเข้าออกทั้งหมด รถของบุคคลภายนอกที่จะผ่านเข้าออกจะต้องรับบัตรจาก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และจะต้องเสียเงินค่าจอดรถตามระยะเวลาที่จอด แม้ประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไป แต่ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 จะหารายได้จากสาธารณูปโภคดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามิได้ เพียงแต่ต้องไม่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ส่วนโจทก์ทั้งยี่สิบห้าผู้ใช้ภาระจำยอมก็ต้องใช้เท่าที่จำเป็นตามสมควร มิใช่ใช้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด
เสียงส่วนใหญ่ของการประชุมผู้อยู่อาศัยในศูนย์การค้าเมโทรตกลงให้จำเลยที่ 1 จัดการจราจรในศูนย์การค้า เมโทร หลังจากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างป้อมยามและเหล็กกั้นทางเข้าออก โดยมีพนักงานเก็บค่าจอดรถแล้ว จำเลยที่ 1 จัดสติกเกอร์ให้แก่ผู้อยู่อาศัยในศูนย์การค้าเมโทรสำหรับติดรถยนต์และรถจักรยานยนต์สติกเกอร์ดังกล่าวสามารถใช้เข้าออกได้ทุกทางตลอดเวลาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียเงินค่าจอดรถนับได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้ใช้ภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินทุกแปลงภายในศูนย์การค้าเมโทรเท่าที่จำเป็นตามสมควรแล้ว แต่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ไม่เรียกเก็บเงินค่าจอดรถสำหรับรถทุกคันของโจทก์ทั้งยี่สิบห้าแม้จะมีรถจำนวนมากเท่าใดก็ตาม ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมเกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบห้า และไม่ทำให้การใช้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
การที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้านำแผงเหล็กปิดกั้นบนถนนหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งยี่สิบห้า หรือบางรายจอดรถจักรยานยนต์หรือวางวัสดุบนทางเท้า เป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ โจทก์ทั้งยี่สิบห้าไม่มีอำนาจกระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 และมาตรา 1389

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9526/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลูกสร้างบนที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต และสิทธิหน้าที่ของเจ้าของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310
ป.พ.พ. มาตรา 1310 เป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของที่ดินและผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตว่าจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร คำว่า "สุจริต" ตามมาตรา 1310 มีความหมายว่า ผู้ปลูกสร้างได้ปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินโดยไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของผู้ใด แต่เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองและเชื่อว่าตนมีสิทธิปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้นได้โดยชอบ
จำเลยที่ 1 ได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ส. และได้ขออนุญาต ส.ปลูกบ้าน จึงไม่ทำให้บ้านตกเป็นส่วนควบของที่ดิน จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 เข้าอยู่อาศัยในบ้านกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทโดยสุจริตและบังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ส. รับเอาบ้านแล้วใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้จำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง มิได้ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของที่ดินและผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินได้กระทำไปโดยสุจริตเท่านั้น ส่วนกรณีเจ้าของที่ดินแม้ประมาทเลินเล่อไม่ห้ามปรามขัดขวางมิให้ผู้ปลูกสร้างโรงเรือนปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดิน ก็ไม่มีผลที่ผู้ปลูกสร้างจะอ้างเอาประโยชน์ตามบทบัญญัติมาตรา 1310 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ได้
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ได้ให้การโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้ฎีกาจึงถือว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8888/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดิน: การครอบครองก่อนการซื้อขายไม่ถือเป็นการรบกวนการครอบครองของเจ้าของรายใหม่
ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จะต้องได้ความว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของ หรือมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ในขณะที่กล่าวหาว่าจำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข
จำเลยเป็นลูกจ้างของ ส. ต่อเนื่องมาถึง ค. มีหน้าที่ดูแลที่ดินพิพาทจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมานับแต่ ส. ยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่ง ส. ถึงแก่กรรม และ ค. ผู้จัดการมรดกของ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่ พ. แล้ว พ. โอนขายที่ดินต่อให้แก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนโจทก์ร่วมมาซื้อที่ดินพิพาทเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือครอบครองและรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ทางภารจำยอมโดยอายุความและการยินยอมใช้ทางของเจ้าของที่ดิน
เมื่อนับตั้งแต่ปีที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจนถึงปี 2533ซึ่งจำเลยปิดทางพิพาทแล้วยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความในส่วนนี้
เดิมที่ดินของโจทก์เป็นของ อ. อยู่คนละฝั่งคลองกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อมาจาก ส. บุตรของ ย. อ. ขออนุญาต ย. ทำสะพานข้ามคลองเดินผ่านที่ดินพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะทำให้ทุกคนสามารถเดินข้ามสะพานผ่านที่ดินของ ย. การใช้ทางดังกล่าวของโจทก์จึงมิได้ใช้โดยปรปักษ์ ไม่เป็นทางภารจำยอม แม้โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะไม่มีชื่อ ย. ถือกรรมสิทธิ์ แต่ก็ระบุว่า ย. เป็นบิดาของ ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อ ย. อนุญาตให้ใช้ทางเดินทุกคนก็ใช้ทางเดินได้โดยไม่มีเหตุขัดข้อง จึงต้องถือว่าเป็นการที่บิดาของเจ้าของที่ดินอนุญาตแทนโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดการบังคับคดี: สิทธิในการบังคับคดีไม่กระทบจากคดีอื่น และข้อเสนอต่อเจ้าของที่ดินไม่ผูกมัด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากสถานที่เช่าคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย การที่จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์และจำเลยต่างถูกบริษัท ต. เจ้าของที่พิพาทฟ้องขับไล่ออกจากที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลย การบังคับคดีนี้ย่อมไร้ผล จึงเป็นเรื่องขอให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของศาลที่จะสั่งตามสมควรแก่รูปคดี
จำเลยได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในเชิงคดีที่จะประวิงการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้เนิ่นช้าตลอดมา โดยเฉพาะในคดีที่บริษัท ต. ฟ้องขับไล่โจทก์ เป็นเรื่องระหว่างบริษัท ต. กับโจทก์ ไม่กระทบสิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ ส่วนการที่จำเลยได้ยื่นข้อเสนอขอทำสัญญาเช่าที่พิพาท และเสนอผลประโยชน์แก่บริษัท ต. เป็นข้ออ้างของจำเลยเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ต. ได้ตกลงยินยอมด้วย และแม้ข้อเสนอหรือข้อตกลงกับบริษัท ต. หากจะพึงมี ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จำเลยไม่อาจยกขึ้นใช้ยันโจทก์ในชั้นนี้ได้ ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่องดการบังคับคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลูกสร้างบนที่ดินขายฝาก สิทธิเจ้าของที่ดินและผลกระทบจากความยินยอม
ก่อนทำสัญญาขายฝาก โจทก์ได้ไปตรวจสอบที่ดินพิพาท พบสิ่งปลูกสร้างเป็นโครงเสา มีการมุงหลังคาแล้วบางส่วน ต่อมาได้มีการทำสัญญาขายฝากโดยตกลงชัดเจนว่าขายฝากเฉพาะที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยได้ตกลงด้วย โดยแจ้งแก่โจทก์ว่าจะสามารถไถ่คืนภายในกำหนด หากล่วงเลยเวลาจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปเอง เมื่อครบกำหนดไถ่โจทก์ได้ไปตรวจดูที่ดินพิพาทพบว่า มีการสร้างบ้านทาวน์เฮาส์เกือบเสร็จสมบูรณ์จำนวน 2 หลัง ส่วนอีก 3 หลัง ยังสร้างไม่เสร็จ เป็นโครงมีหลังคามีการก่อสร้างผนังบางส่วน ดังนี้ การที่จำเลยได้ทำการปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาท ทั้งก่อนและหลังทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท โดยโจทก์รับรู้และยินยอมให้ปลูกสร้าง แม้โจทก์ตกลงทำสัญญาขายฝากแก่จำเลยเฉพาะที่ดินพิพาทโดยระบุไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากว่า สิ่งปลูกสร้างไม่มี จำเลยซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จเพราะเชื่อตามสัญญาขายฝากว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินพิพาทคืนได้ภายในเวลาที่กำหนดในสัญญา ซึ่งตามกฎหมายให้ถือเป็นอันว่ากรรมสิทธิ์ไม่เคยตกไปแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และมาตรา 492 การปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทของจำเลย จึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ซื้อ กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง อันได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้เป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สร้าง แต่ถ้าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินสามารถแสดงได้ว่ามิได้มีความประมาทเลินเล่อจะบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้ ตามมาตรา 1310 วรรคสอง ก็ตาม แต่การที่โจทก์กลับปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างอาคารต่อไปในที่ดินของโจทก์ ทั้งที่ได้ทำสัญญาขายฝากแล้วโดยโจทก์มิได้ห้ามปราม หรือขอให้จำเลยยุติการก่อสร้าง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป ตามมาตรา 1310 วรรคสอง ดังกล่าว และไม่อาจเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้เพราะจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2647/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมต้องเกิดจากการใช้สิทธิอย่างเปิดเผยและต่อเนื่องในนามเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่การใช้ของผู้อยู่อาศัย
++ เรื่อง ภาระจำยอม ++
++ ทดสอบทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++ +++++++++++++++++++++++++ ++
++
++ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3596 และ 4855 ตำบลบางอ้ออำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ติดต่อกัน และทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 3596 ติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3597 ของจำเลยซึ่งในที่ดินของจำเลยด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ จำเลยได้สร้างทางกว้าง 5 เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดินประมาณ 50 เมตร ไปเชื่อมต่อกับซอยโรจน์นิมิตรเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะ บุคคลที่อยู่อาศัยในที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ได้ใช้ทางในเขตที่ดินของจำเลยเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2535 จำเลยและบริวารได้ตัดต้นไม้ที่อยู่ชิดแนวเขตระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยแล้วสร้างรั้วคอนกรีตเป็นกำแพงตลอดแนวเขตที่ดินของจำเลยปิดกั้นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์และบุคคลที่อยู่ในที่ดินของโจทก์ไม่สามารถใช้ทางของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางกว้าง 5 เมตร ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 3597 ตำบลบางอ้ออำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่โฉนดที่ดินเลขที่ 3596 และ 4855 ของโจทก์หรือไม่ โจทก์เบิกความว่าโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3596 และ 4855 ทั้งสองแปลงมาจากบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2523 โดยซื้อในนามของบริษัทโลเจย์เอนเทอไพรซ จำกัด ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการอยู่ แล้วต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2534 จึงได้โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นชื่อของโจทก์ ขณะซื้อมีทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ถนนในที่ดินของจำเลยอยู่แล้ว และขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมานั้น ในที่ดินของโจทก์มีผู้พักอาศัยอยู่ประมาณ 40 คน โจทก์ไม่เคยเข้าไปพักอาศัยในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่ซื้อมาเลย แต่โจทก์จะเข้าไปดูที่ดินของโจทก์ปีละหลายครั้งเห็นได้ว่าตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3596 และ 4855 มาตั้งแต่ในนามของบริษัทโลเจย์เอนเทอไพรซ จำกัด โจทก์หรือบริษัทดังกล่าวไม่เคยเข้าไปพักอาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์เลย โจทก์มีนางชูศรีช้างต่อ มาเบิกความเป็นพยานว่า นางชูศรีพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 205/ขซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์มาตั้งแต่นางชูศรีเกิดเป็นเวลา 48 ปี แล้วและได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกมาประมาณ 10 ปี แล้ว ในที่ดินของโจทก์มีบ้านปลูกอยู่ 5 หลัง แต่ได้รื้อไปแล้ว 1 หลัง และนางชูศรีไม่ทราบว่าบิดามารดานางชูศรีเข้ามาอยู่ในที่ดินของโจทก์นี้ได้อย่างไรเห็นว่า นางชูศรีหรือบุคคลที่พักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ได้พักอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์มาก่อนที่โจทก์จะเข้ามาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ปรากฏว่านางชูศรีหรือบุคคลอื่นที่พักอาศัยในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวได้อยู่อาศัยโดยได้รับมอบหมายจากเจ้าของที่ดินเดิมอย่างไรหรือไม่โจทก์เองก็เบิกความรับว่าบุคคลผู้ที่พักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์นั้นมิได้เป็นผู้เช่าบ้าน และมิใช่ญาติพี่น้องของโจทก์ ทุกคนอยู่มาก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินดังกล่าว เพียงแต่โจทก์ยินยอมให้พักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ต่อไปเท่านั้น แสดงว่านางชูศรีหรือบุคคลที่พักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ไม่ใช่บริวารของโจทก์หรือของเจ้าของที่ดินคนก่อน การใช้ทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยเป็นการใช้ของบุคคลผู้พักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์เพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3596 และ 4855 แต่อย่างใด การที่บุคคลเหล่านี้ใช้ทางในที่ดินของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่การใช้แทนหรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินเดิมหรือของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงโดยมีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งภาระจำยอม แม้บุคคลดังกล่าวจะได้ใช้ทางนั้นมาเกินกว่า 10 ปี แล้วก็ไม่ทำให้ทางกว้าง 5 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3597 ของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3596 และ 4855 ของโจทก์พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า ทางกว้าง5 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3597 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางซื่อกรุงเทพมหานคร ของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่3596 และ 4855 ของโจทก์ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อที่ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์มาเกิน 10 ปี แล้วหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาทแทนจำเลย.
of 34