คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เวนคืน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 555 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6920/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บางส่วน: สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่เหลือใช้การไม่ได้ต้องใช้สิทธิภายในกรอบกฎหมาย
โจทก์เป็นเจ้าของสถานฝึกซ้อมไดร์กอล์ฟและอาคารแจ้งวัฒนะกอล์ฟไดร์วิ่งเร้น ซึ่งเป็นอาคารตึก 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง เสาโครงเหล็กจำนวน 52 ต้น และสนามกอล์ฟพื้นที่ 21,513 ตารางเมตร ต่อมาสนามไดร์กอล์ฟของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนผ่ากลางสนามหญ้า โดยมีการรื้อถอนเสาโครงเหล็กบางส่วน โจทก์จึงเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ถูกเวนคืน เมื่อการเวนคืนดังกล่าวมีผลทำให้เสาโครงเหล็กตาข่ายและสนามหญ้าที่เหลือใช้การไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการเวนคืนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นแต่เพียงบางส่วน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 19 และโจทก์ฟ้องขอเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากตัวทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเป็นกรณีตามมาตรา 19 มิใช่กรณีตามมาตรา 21 วรรคท้าย ซึ่งหมายถึงค่าเสียหายโดยตรงที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ดังนั้นหากโจทก์เห็นว่าสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลืออยู่ใช้การไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์และโจทก์ประสงค์จะให้เวนคืน โจทก์จะต้องร้องขอต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนให้เวนคืนส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์นั้นด้วย ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมเวนคืนตามคำร้องของโจทก์ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ฯ ภายใน 60 วัน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 19 เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนทรัพย์สินส่วนนี้ที่เหลือจากการเวนคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6336/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การกำหนดค่าทดแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยแยกค่าทดแทนเจ้าของและผู้เช่า
ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จ. ได้ให้ผู้อื่นเช่าที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนโดยจดทะเบียนการเช่าไว้มีกำหนด 30 ปี ดังนั้น คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างในสภาพที่มีภาระการเช่าให้แก่ จ. และกำหนดเงินค่าทดแทนในการเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากกัน แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้างให้แก่ จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์จำนวน 19,668,979.98 บาท เพียงผู้เดียว ย่อมเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของตามมาตรา 18 (2) และผู้เช่าเฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง โดยเหตุที่ต้องออกจากอาคารและที่ดินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับตามมาตรา 18 (3) แยกต่างหากจากกัน เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย แม้โจทก์จำเลยจะได้ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกันแล้วตามมาตรา 10 ก็ตาม แต่เมื่อเป็นผลมาจากการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวได้ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 มาตรา 247 อย่างไรก็ตามการที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เพื่อให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ใหม่ตามขั้นตอนของกฎหมายไม่อยู่ในวิสัยจะดำเนินการได้ เพราะอายุการใช้พระราชกฤษฎีกาได้สิ้นสุดลงแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงควรให้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้คู่ความนำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนของอาคารพิพาทตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินจากการซื้อขายโมฆะ และการเวนคืนที่ดิน ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาเพื่อประโยชน์โจทก์
แม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีคำขอมาท้ายคำฟ้องด้วยว่า ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคำขอที่ศาลอาจพิพากษาให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการใช้สิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทซึ่งถูกเวนคืนจากทางราชการ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดซึ่งเท่ากับให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไขให้ถูกต้องนั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค่าทดแทนเวนคืน: กำหนดวันจ่ายตามสัญญาและผลของการเพิ่มค่าทดแทนโดยรัฐมนตรีและศาล
ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.ฯ กับโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ กันเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2536 อันเป็นกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน คือ ภายในวันที่ 29 เมษายน 2537 ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง วันดังกล่าวนี้เป็นวันสุดท้ายที่ฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯและศาลวินิจฉัยให้เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าว
ส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงนั้น หากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับให้แก่โจทก์ด้วยแล้ว ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ ผู้ดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.ฯ กับโจทก์ก็น่าจะทำสัญญาเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนส่วนนี้ในวันเดียวกันกับที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ (ที่ดินที่ถูกเวนคืน) และต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้ภายในวันที่ 29 เมษายน 2537 เช่นกัน แม้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ แต่เมื่อรัฐมนตรีฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์และศาลได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์แล้ว กรณีพอถือได้ว่ารัฐมนตรีและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราที่โจทก์ขอด้วยในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย คือวันที่ 29 เมษายน 2537 เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินเวนคืน การหักราคาที่ดินส่วนที่เหลือ และอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน... ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 ... มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี... ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว" เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินตามมาตรา 9 วรรคสี่ ให้แก่โจทก์เสร็จแล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่จำต้องรอหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน และตามบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่งดังกล่าวมิได้ห้ามผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนก่อนได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนแต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ไปยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันที่โจทก์จะได้รับแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนก็ตาม แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ และจำเลยที่ 1 ยังได้รับและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกด้วยโดยไม่ได้โต้แย้งเลยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบประการใด ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้และถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มได้ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง
ส่วนเงินค่าทดแทนความเสียหายของต้นไม้และที่ดินกับสวนส้ม โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายดังกล่าวตามขั้นตอนในมาตรา 25 วรรคหนึ่งก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องขอเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งได้ ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหานี้ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นแก้ฎีกาของโจทก์ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2771/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยค่าทดแทนที่ดินเวนคืน กรณีจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการเวนคืนจนโจทก์ฟ้อง
โจทก์ขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน แต่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้อง หลังจากนั้นฝ่ายจำเลยมาตกลงซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้จัดซื้อต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายมาอนุโลมใช้บังคับเพื่อคำนวณหาวันที่โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยได้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีก็ชอบที่จะให้ฝ่ายจำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินเวนคืน: โจทก์มีสิทธิฟ้องผู้เช่า แม้ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นถนนสาธารณะ หากกรุงเทพมหานครยังไม่ได้รื้อถอน
เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา เป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. เมื่อปี 2475 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นห้องเลขที่ 185 บางส่วน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้ว ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร แต่กรุงเทพมหานครก็มิได้ให้ผู้ถูกเวนคืนดำเนินการรื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ในส่วนที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ถูกเวนคืนและส่งมอบการครอบครองที่ดินแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา จาก น. ผู้รับมรดกของ จ. โจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนและกรรมสิทธิ์ในตึกแถวสองชั้นรวม 11 คูหา กับตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่จำเลยทั้งสองเช่าจาก น. ด้วย การที่กรุงเทพมหานครยังมิได้ดำเนินการฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองให้รื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่ปลูกสร้างบนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนซึ่งล้ำไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้วอันเป็นถนนสาธารณะ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับโอนสิทธิการเช่าจาก น. ผู้ให้เช่าเดิมและได้บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้ว ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินหลังเวนคืนและการเช่า กรณีที่ดินส่วนหนึ่งถูกเวนคืนแต่ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อถอน
เดิมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา เป็นกรรมสิทธิของ จ. เมื่อปี 2475 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นห้องเลขที่ 185 บางส่วน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้วซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร แต่กรุงเทพมหานครก็มิได้ให้ผู้ถูกเวนคืนดำเนินการรื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ในส่วนที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ถูกเวนคืน และส่งมอบการครอบครองที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา จาก น. ผู้รับมรดกของ จ. โจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนและกรรมสิทธิ์ในตึกแถวสองชั้นรวม 11 คูหา กับตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่จำเลยทั้งสองเช่าจาก น. ด้วย การที่กรุงเทพมหานครยังมิได้ดำเนินการฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองให้รื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่ปลูกสร้างบนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนซึ่งล้ำไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้วอันเป็นถนนสาธารณะ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับโอนสิทธิการเช่าจาก น. ผู้ให้เช่าเดิมและได้บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้ว ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: สัญญาซื้อขายผูกพันให้รื้อถอนทั้งหมด แม้เวนคืนแค่บางส่วน
จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 3 งาน 52 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 2 ชั้น 1 หลัง ที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเนื้อที่ 102 ตารางวา และสิ่งปลูกสร้าง 1 ใน 3 อยู่ในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน จำเลยขอให้โจทก์เวนคืนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือ อ้างว่าใช้การไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 19 วรรคหนึ่ง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะต้องเวนคืนฯ โดยจำเลยยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าทดแทนสำหรับการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง ซึ่งสัญญากำหนดให้จำเลยต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา ต่อมาจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแต่หาได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือไม่ อ้างว่ารัฐไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน ดังนี้ หากแปลความกฎหมายดังกล่าวตามที่จำเลยอ้าง ย่อมจะไม่เป็นธรรมแก่สังคมและเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินหลีกเลี่ยงบทบังคับแห่งกฎหมาย ทั้งที่ตนเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม เมื่อจำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปตามกำหนด จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญาและถือว่าได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: เจ้าของที่ดินมีหน้าที่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือหลังรับค่าทดแทนครบถ้วน
จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 3 งาน 52 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 2 ชั้น 1 หลัง ที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเนื้อที่ 102 ตารางวา และสิ่งปลูกสร้าง 1 ใน 3 อยู่ในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน จำเลยขอให้โจทก์เวนคืนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือ อ้างว่าใช้การไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะต้องเวนคืนฯ โดยจำเลยยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าทดแทนสำหรับการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง ซึ่งสัญญากำหนดให้จำเลยต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา ต่อมาจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแต่หาได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือไม่ อ้างว่ารัฐไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน ดังนี้ หากแปลความกฎหมายดังกล่าวตามที่จำเลยอ้าง ย่อมจะไม่เป็นธรรมแก่สังคม และเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินหลีกเลี่ยงบทบังคับแห่งกฎหมาย ทั้งที่ตนเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม เมื่อจำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปตามกำหนด จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญาและถือว่าได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปได้
of 56